Rechercher dans ce blog

Friday, March 5, 2021

เปิด"โกดังพักหนี้" ทางรอดโรงแรมไทย จริงหรือ? - มติชน

จากวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก

จากการที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศไทยได้จากนโยบายการจำกัดการเดินทางของทั่วโลก

ทำให้ธุรกิจโรงแรมขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ขาดรายได้จากการเข้าพักแรมของนักท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมจึงได้สะท้อนแนวคิดเรื่องโกดังพักหนี้ หรือ Assets Warehousing มาได้ระยะหนึ่งแล้ว

แต่ไม่ได้มีความชัดเจนมากพอ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้หารือกับทาง ธปท.จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นในเวลาต่อมา

โกดังพักหนี้คือ การขายโรงแรม หรือโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในโรงแรมดังกล่าวให้สถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยลดภาระการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ ช่วยทำให้มีสภาพคล่องทางอ้อมเพิ่มขึ้น หรือลดภาระจากการแบกต้นทุนรายจ่ายของโรงแรมในแต่ละเดือนในจังหวะที่สถานการณ์ผู้เข้าพักลดลงมากดังเช่นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม มีการเปิดทางเลือกให้ผู้ประกอบการซื้อโรงแรมคืนได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจนเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงสิทธิในการให้ผู้ประกอบการรายเดิมเช่าเพื่อดำเนินธุรกิจและดูแลโรงแรมให้ยังคงอยู่ในสภาพดี

ทางศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai COMPASS ได้ออกรายงานว่าทำไมธุรกิจโรงแรมต้องได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการโกดังพักหนี้ไว้ ดังนี้

ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก การล็อกดาวน์ไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยส่งผลให้อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ของธุรกิจโรงแรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ในระดับต่ำที่ 28.6% น้อยกว่าอัตราการเข้าพัก ณ จุดคุ้มทุนของผู้ประกอบการที่ 40-45%

ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยส่วนใหญ่มีโอกาสอย่างมากที่จะประสบปัญหาขาดทุน สะท้อนจากผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ที่มีรายได้ลดลงถึง 48-70% เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีกำไรสุทธิที่ติดลบกันเกือบทุกบริษัท

หากผู้ประกอบการยังแข่งกันเปิดโรงแรมต่อไป (จำนวนห้องพักไม่ลดลง) คาดว่าด้วยแนวโน้มความต้องการการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ในปี 2564 ได้มีการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยที่ 7.6 ล้านคน และ 151.4 ล้านคน-ครั้ง ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าปี 2563 ที่ 39.8 ล้านคน และ 166 ล้านคน-ครั้ง ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของธุรกิจโรงแรมจะเท่ากับ 32.9% ต่ำกว่าจุดคุ้มทุน

ทำให้ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนไม่มากพอก็จะไม่สามารถชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สุดท้ายสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะอาคารโรงแรมจะถูกยึด ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพราะหากสามารถอดทนรออีก 2-3 ปี ให้วัคซีนถูกผลิตและกระจายอย่างทั่วถึง ภาคการท่องเที่ยวของไทยก็มีโอกาสจะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่อีกครั้ง

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์เช่นกัน โดยมีการตั้งข้อสังเกตในทางปฏิบัติและเรื่องความชัดเจน ผู้ประกอบการ

กลุ่มใดสนใจจะเข้าโครงการโกดังพักหนี้ โดยหากเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ศักยภาพและยังมีสายป่านทางการเงินที่ดีโดยอาจมาจากธุรกิจประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากโรงแรมและที่พักนั้น อาจเลือกคงสภาพความเป็นเจ้าของในธุรกิจและขอรับการปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงินมากกว่า

ในขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินคงประเมินลูกค้าที่เข้าโครงการจากความสามารถและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งแปรผันตามขนาดกิจการ พื้นที่ให้บริการ รวมถึงแนวทางการทำธุรกิจเฉพาะสำหรับโรงแรมแต่ละแห่ง เพื่อบ่งชี้ถึงโอกาสการกลับมาสร้างรายได้ในอนาคตของกิจการ

รวมถึงต้องพิจารณารายละเอียดอื่นๆ คือราคาขาย หรือราคาโอนกรรมสิทธิ์จะเป็นไปตามวงเงินสินเชื่อที่มีกับธนาคารพาณิชย์หรือไม่ และกิจการมีหลักประกันส่วนเกินหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด, ราคาซื้อคืน-ค่าประกันภัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะเช่าเพื่อดำเนินธุรกิจต่อ, การยกเว้นหรือผ่อนปรนภาระภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องจากการโอนหนี้ที่จะเกิดขึ้น ทั้งขาแรกและขาหลังที่ผู้ประกอบการซื้อคืนโรงแรม, ระยะเวลาโครงการนานเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิดและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวหรือไม่ ซึ่งอย่างน้อยควรนานกว่า 3-5 ปี มีการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้และตั้งสำรองหนี้/ทรัพย์สินรอการขายสำหรับสถาบันการเงินหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด เนื่องจากจะมีผลโดยตรงต่อต้นทุนโดยรวมและความสามารถของสถาบันการเงินในการรับซื้อโรงแรม และปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้หารือถึงมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ หลังจากสมาคมธนาคารไทยได้จัดทำข้อเสนอภายใต้แนวคิด ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง โดยจัดให้มีโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (โกดังพักหนี้) คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงมหาดไทย ได้มีการหารือเพื่อแก้ไขกฎระเบียบและประกาศที่เป็นอุปสรรค เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าโอน ค่าจดจำนอง หรือค่าใช้จ่ายด้านภาษีต่างๆ ที่ต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ในการโอนทรัพย์ไว้ที่ธนาคาร ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อไป

สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นลูกหนี้จะต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ก่อนเดือน ม.ค.2563 หรือก่อนโควิด-19 ระบาดในไทย และต้องได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จริง

โดยวิธีการคือ ลูกหนี้ที่นำทรัพย์ไปฝากไว้กับธนาคารจะสามารถเช่าทรัพย์เพื่อทำกิจการได้ตามระยะเวลาที่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่โควิดคลี่คลายจนเศรษฐกิจฟื้นใช้เวลา 3-5 ปี

โดยตามสัญญาจะต้องสามารถซื้อทรัพย์คืนได้ด้วย

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นเกี่ยวกับโกดังพักหนี้ว่า จากการหารือเบื้องต้นธุรกิจที่ร่วมจะต้องไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ก่อนเดือนมกราคม 2563 และต้องเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ อาทิ ท่องเที่ยว และไม่ถูกดิสรัปต์

สำหรับทรัพย์สินที่สามารถนำมาฝากกับธนาคารคล้ายกับการจดจำนอง หรือขายฝาก เบื้องต้นจะใช้ทรัพย์ปกติ หรือทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมก็ได้ จากนั้นธนาคาร หรือแบงก์ จะพิจารณาหยุดภาระดอกเบี้ยและคิดต้นทุนในรูปของค่าเช่าแทน

รวมทั้งอาจพิจารณาปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้ เพราะแบงก์ไม่ต้องตั้งสำรองหนี้ ขณะที่โครงการโกดังพักหนี้ของรัฐบาลหากเกิดปัญหาธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อได้จะมีภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือส่วนนี้ ทั้งนี้ คาดว่ารัฐจะให้เวลาเอกชนซื้อสินทรัพย์คืนภายใน 5 ปี เพื่อให้ธุรกิจมีเวลาฟื้นตัว

“อัตราดอกเบี้ยโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ภาคเอกชนอยากให้อยู่ระดับใกล้เคียงกับดอกเบี้ยของ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน คือ 2% ส่วนขั้นตอนรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอความชัดเจนจากรัฐอีกครั้ง คาดว่าจะเห็นรายละเอียดภายในเดือนนี้ แต่เชื่อว่าไม่เกิน 60 วันแน่นอน” นายสุพันธุ์กล่าว

นับจากนี้ต้องรอลุ้นกันว่า “โกดังพักหนี้” จะเป็นทางเลือก-ทางรอด ให้กับโรงแรมไทยได้เดินหน้าได้หรือไม่อย่างไร!?!

Let's block ads! (Why?)


เปิด"โกดังพักหนี้" ทางรอดโรงแรมไทย จริงหรือ? - มติชน
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...