ข่าวแนะนำ
ปัจจุบัน ให้ใช้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ เท่านั้น
"แรพิด แอนติเจน เทสต์" (Rapid Antigen Test) ปัจจุบันขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว 24 ยี่ห้อ อนุญาตให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น เป็นการคัดกรองเบื้องต้นจากการตรวจองค์ประกอบไวรัส จากการแยงจมูก หรือลำคอ จากเดิมที่ใช้ RT-PCR ต้องใช้เวลานาน และวันที่ 12 ก.ค.นี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข จะพิจารณาให้ประชาชนสามารถซื้อไปตรวจเอง ซึ่งต้องกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน และในกรณีตรวจพบเชื้อ จะเข้าสู่กระบวนการอย่างใดต่อไป
เบื้องต้นทาง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุ การใช้แรพิด แอนติเจน เทสต์ ในช่วงแรกจะให้ใช้ในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียน และมีเตียงรองรับการตรวจ หากมีผลบวกจะตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา และจะพยายามทำชุดตรวจเองที่บ้าน โดยวางระบบมารองรับ
กำหนดกติกา ให้ประชาชน เข้าถึงการตรวจมากขึ้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ วางขายในประเทศไทยแล้ว แต่ต้องกำหนดกติกา ในการนำไปใช้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อมากขึ้น เป็นวิธีที่ง่ายกว่า และทราบผลเร็วในการคัดกรองผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในช่วงแพร่กระจายเชื้อ
“ปกติเมื่อเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกาย จะใช้เวลาในการตรวจพบเจอ แต่ชุดตรวจนี้เป็นการตรวจแอนติเจน หรือองค์ประกอบไวรัส ไม่ใช่การตรวจแอนติบอดีจากเลือด และคนตรวจผลเป็นลบ ไม่ใช่ไม่ติดเชื้อ แต่อาจติดเชื้อน้อย อาจต้องยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง”
สำหรับข้อดีทำให้สามารถตรวจเจอคนไข้ ผลเป็นบวกมากขึ้นและเร็วขึ้น ขณะที่ระบบบริการควรให้คนอาการหนัก หากป่วยไม่มากอาจต้องควบคู่กับการให้กักตัวที่บ้านอย่างมีคุณภาพ (Home Isolation) หรือในสถานที่มีระบบดูแลไม่ให้แพร่เชื้อ และป่วยหนักส่งรักษาต่อไป
ข้อดีใช้คัดกรองผู้ป่วย ในช่วงแพร่กระจายเชื้อได้
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในฐานะนักไวรัสวิทยา กล่าวว่า ประเด็นของ ”แรพิด แอนติเจน เทสต์” เป็นที่น่าสนใจ เพราะกำลังจะเป็นทางเลือกใหม่ มาช่วยตรวจหาเชื้อในร่างกายผู้ป่วย โดยใช้ตัวอย่างจากการสวอบ (Swab) จมูกหรือคอ ไม่ใช่ชุดที่ใช้เลือดจากปลายนิ้ว ในการตรวจภูมิ แต่ใช้ตรวจไวรัสในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแรกของการติด
“แรพิด แอนติเจน เทสต์ เป็นการตรวจโปรตีนของไวรัส ไม่จำเป็นต้องเอาตัวอย่างไปสกัดอาร์เอ็นเอ แบบการตรวจ RT-PCR, LAMP หรือ CRISPR/Cas13 จึงเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายกว่า และทราบผลเร็ว”
เมื่อวิธีการตรวจทำได้ง่าย และทราบผลเร็ว แต่ทำไมไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายก่อนหน้านี้ เพราะความสามารถของเทคโนโลยีในการตรวจพบเชื้อไม่สูงเท่า RT-PCR แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ไวรัสที่ตรวจเจอ จะสามารถแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ ได้หรือไม่ และสมมติถ้าตรวจได้ผลบวกด้วย RT-PCR แต่ไวรัสนั้นอยู่ในระดับต่ำมาก จนไม่สามารถแพร่กระจายไปหาคนอื่นๆ ได้ ก็น่าจะยอมรับได้ สามารถใช้คัดกรองผู้ป่วย กำลังอยู่ในช่วงแพร่กระจายเชื้อได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการแล้ว แต่ ”แรพิด แอนติเจน เทสต์” ต้องได้มาตรฐานเชื่อถือได้.
ผู้เขียน : ปูรณิมา
กราฟิก : Theerapong.C
"Rapid Antigen Test" ทางเลือก คัดกรองโควิด ช่วงแพร่กระจาย ใช้ง่าย รู้ผลเร็ว - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment