Rechercher dans ce blog

Friday, March 12, 2021

แก้รัฐธรรมนูญ บนทาง 4 แพร่ง คว่ำ แก้ไข นับหนึ่งใหม่ ? - ประชาชาติธุรกิจ

Romeo GACAD / AFP

เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แตกเป็นหลายแพร่ง หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่อง “อำนาจ” การสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นของประชาชน

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

นำไปสู่ผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง ทั้งในฝ่ายการบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ

ในเวลานี้ นักกฏหมายฝ่ายอำมาตย์ ได้แสดงฤทธิ์เดช จบสิ้นในขั้นก่อน-หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว

ทั้งการสนธิกำลังระหว่างตัวแทนแกนกลางรัฐบาล นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และตัวกลางการทำเกมในฝ่ายวุฒิสมาชิก นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ชงวาระร้อนให้ศาลย้อนคืนความเห็นกลับมา ผูกพันทุกองค์กร

ไม่นับเครือข่ายฝ่ายอำมาตย์ ที่ฝังตัวติดแน่นอยู่ในวงรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย มาทุกฉบับ อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับที่บังคับใช้ปัจจุบัน ผนึกกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ฉบับที่แท้งไปก่อนหน้า ด้วยเหตุผลอมตะ “เขาอยากอยู่ยาว”

ร่วมด้วยนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ฉบับ หลังรัฐประหาร 2557

กูรูรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 คน ถูกศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นผู้ทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเสนอต่อศาลประกอบการวินิจฉัย ต่อกรณีปัญหา “แก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ โดย การเลือก ส.ส.ร.”

ทาง 4 แพร่งแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จึงขึ้นอยู่กับแรงเหวี่ยงสะท้อน ของนักการเมืองทั้งในฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา 250 คน

วาระ 1-2 โมฆะ คว่ำวาระ 3

นักการเมืองที่มีแนวโน้มว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสี่ยงที่จะถูกคว่ำในวาระ 3 ประกอบด้วย เหตุผลและน้ำหนัก ดังนี้

  1. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) : ตอบคำถามที่ว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นถือว่าโมฆะใช่หรือไม่ ว่า “ใช่ เพราะต้องไปถามประชาชนก่อน และถามประชาชนได้เพียงว่า ประสงค์จะให้แก้ทั้งฉบับหรือไม่ โดยไม่สามารถนำเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พ้นวาระสองไปถามพ่วงประชามติได้”
  2. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฏหมาย : “ความเสี่ยงมี เพราะมี ส.ว. และ ส.ส.บางส่วนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งหากเดินหน้าประชุมวาระ 3 อาจจะไม่มีคนมาประชุม หรือลงมติไม่เห็นด้วย อย่างน้อยที่สุด คือ งดออกเสียง ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป ซึ่งต้องไปเริ่มนับ 1 กันใหม่…ซึ่งถ้าสภาลงมติวาระ 3 ตกไป ดูจะจบลงด้วยดี อาจจะไม่ถูกใจบางคน แต่ไม่เกิดปัญหา แต่หากลงมติวาระ 3 แล้วผ่าน จะไปเดินต่อยาก และรับรองว่าจะมีคนเลี้ยวไปศาลรัฐธรรมนูญอีก”
  3. นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) : “การเตรียมเข้าสู่วาระ 3 ของรัฐสภาเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบและใช้ไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาล ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เลยขั้นตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยมาแล้วการที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้ทำประชามติถามประชาชน 2 ครั้ง เท่ากับว่า ก่อนที่รัฐสภาจะเริ่มกระบวนการในวาระแรก ต้องได้ไฟเขียวจากประชาชนก่อน 1 ครั้งและหลังจากรัฐสภาผ่านวาระ 3 อีก 1 ครั้ง”
  4. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) : “การลงมติวาระ 3 เสี่ยงจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถลงมติต่อไปได้ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ มีผู้ใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน รัฐสภาไม่นัดประชุมเพื่อลงมติวาระ 3 ก็ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น”

เดินหน้าคู่ขนาน ฝ่าด่านอันตรายโหวตวาระ 3 ทำประชามติ

นักการเมืองฝ่ายค้าน และ ส.ส.บางพรรค เห็นว่าควรเดินหน้า ลงมติในวาระ 3 คู่ขนานกับการทำประชามติ เพื่อไม่ให้วาระ 1 และ 2 ถูกฉีกทิ้ง

  1. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พ.ท.) : “ความเห็นส่วนตัว ศาลไม่น่าที่จะบอกว่าไม่ถูก โดยเหตุโดยผลไม่มีช่องทางไปตัดสินว่าการกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้จะอ้างคำวินิจฉัยเดิมก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคิดว่าไปได้ โหวตต่อในวาระ 3”
  2. นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) : “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังรอโหวตวาระ 3 นั้น สอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เป็นการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 โดยให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยหลังจากมีมติในวาระ 3 ให้ทำประชามติสอบถามประชาชนว่า เห็นชอบหรือไม่กับการจัดทำใหม่ทั้งฉบับโดยใช้ส.ส.ร.”
  3. ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล : “ยืนยันว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเป็นอำนาจรัฐสภาชัดเจนไม่ควรต้องวินิจฉัยใด ๆ แต่ในเมื่อมีคำวินิจฉัยออกมา ไม่ได้กระทบต่อกระบวนการที่รัฐสภาทำอยู่ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 และ 2 ซึ่งจะลงมติวาระที่ 3 ในวันที่ 17 มีนาคม เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ยังไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการที่จะพิจารณาในวาระที่ 3 ก็ต้องดำเนินการไปตามปกติ สุดท้ายหากมีการผ่านวาระ 3 มีการประกาศใช้ก็ยังเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
  4. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) : “ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะมาตรา 256/13 ตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ห้ามไม่ให้แก้ไขที่ไปกระทบหมวด 1 หมวด 2 อย่างน้อย 24 มาตรา ซึ่งไม่กระทบพระราชอำนาจ ดังนั้น จุดชี้ขาดจึงอยู่ในการเดินหน้าวาระที่ 3 อันเป็น ด่านอันตราย

พัก-เลื่อน การโหวต วาระ 3

  1. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ว่าที่หัวหน้าไทยสร้างไทย : “เลื่อนการโหวต วาระ 3 ไว้ก่อน เพื่อรอการทำประชามติ สอบถามประชาชนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ทางออกเดียวที่จะนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองคือการคืนอำนาจให้ประชาชนได้เป็นผู้กำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันและกติกาทางการเมืองของประเทศนี้ใหม่ โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

“นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีควรเร่งดำเนินการปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฏรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติ ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552”

ความเห็นนี้ สอดคล้องบางส่วนกับของนายคำนูณ สิทธิสมาน สว. ที่ระบุว่า “สิ่งหนึ่งที่ต้องทำโดยเร็ว ในวันที่มีการเปิดสภา 17-18 มีนาคม นี้ มีภารกิจเร่งด่วนคือพิจารณาร่างกฎหมายประชามติในวาระที่ 2 เพื่อให้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว เพราะกฎหมายประชามติจะให้คำตอบในทุก ๆ เรื่องจากนี้ไป”

วิเคราะห์ทางเลือก-ทางเสนอ จาก 2 สภา และตัวแทนพรรคการเมือง รัฐบาล ที่เป็นระดับแกนนำทางความคิดแล้ว แรงปะทะที่แหลมคมคงจะเกิดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2564

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เปิดทางกว้างอย่างยิ่ง ที่จะให้ ส.ส.และแกนนำพรรครัฐบาล คว่ำกลไกการแก้รัฐธรรมนูญ ในวาระ 3

Let's block ads! (Why?)


แก้รัฐธรรมนูญ บนทาง 4 แพร่ง คว่ำ แก้ไข นับหนึ่งใหม่ ? - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...