Rechercher dans ce blog

Tuesday, March 30, 2021

เอกชนกังวลรัฐฉีดวัคซีนล่าช้า ซ้ำเติมเศรษฐกิจ วอนเปิดทาง รพ.นำเข้า - ประชาชาติธุรกิจ

ภาพ : pixabay

ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจ FTI Poll ความเห็นต่อการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 และการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ชี้ส่วนใหญ่กังวลหากภาครัฐมีการฉีดวัคซีนล่าช้า กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จี้รัฐบาลเร่งรัดการจัดซื้ออนุญาตนำเข้าวัคซีน วอนเปิดให้โรงพยาบาลเอกชน สามารถนำเข้าวัคซีนได้

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 4 ในเดือนมีนาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “ความเห็นต่อการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 และการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว”

พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ยังมีความกังวลต่อการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีความล่าช้าและมีจำนวนไม่เพียงพอ และมองว่าหากภาครัฐมีการฉีดวัคซีนล่าช้าจะส่งผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงมีความเห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดซื้อและอนุญาตนำเข้าวัคซีนให้เพียงพอ รวมทั้ง การเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตจาก อย. มาให้บริการแก่ประชาชนได้

โดยภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมให้เอกชนสั่งซื้อวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. มาฉีดให้แก่แรงงาน เช่น การนำค่าวัคซีนไปหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า, การสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ให้แก่สถานประกอบการ เป็นต้น

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 191 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มีความกังวลต่อการบริหารจัดการปัญหาโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ ในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ยังล่าช้าและมีจำนวนไม่เพียงพอกับประชาชน คิดเป็นร้อยละ 79.6

รองลงมาเป็นเรื่องการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ร้อยละ 50.8 และการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ร้อยละ 45.5 ซึ่งจากความกังวลในเรื่องวัคซีน ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าหากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนเกิดความล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระดับ “มาก” คิดเป็นร้อยละ 76.4 รองลงมาระดับปานกลาง ร้อยละ 22.0 และระดับน้อยอยู่ที่ร้อยละ 1.6

เมื่อถามถึงความสำคัญของแผนการบริหารจัดการวัคซินโควิด-19 ของภาครัฐ ว่าควรเร่งดำเนินการในเรื่องใด

พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญเรื่องการเร่งรัดการจัดซื้อวัคซีนและอนุญาตนำเข้าวัคซีนมาใช้ในประเทศให้เพียงพอ คิดเป็นร้อยละ 77.0 รองลงมาเป็นเรื่องความร่วมมือกับภาคเอกชนในการบริหารและกระจายการฉีดวัคซีน ร้อยละ 68.6 และความชัดเจนของกลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาการฉีดวัคซีน ร้อยละ 57.6

และผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังมีความเห็นว่า การเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตจาก อย. มาให้บริการได้ จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยมีผลสำรวจคิดเป็นร้อยละ 81.2 รองลงมาเป็นการเปิดให้สถานประกอบการสามารถสั่งซื้อวัคซีนจากหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตจาก อย. เช่น องค์การเภสัชกรรม ร้อยละ 62.3 และการเร่งขึ้นทะเบียนวัคซีนให้มากชนิดขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริหารจัดการ ร้อยละ 61.8

สำหรับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้เอกชนมีการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. มาฉีดให้แก่แรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. เห็นว่า ควรออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าวัคซีนไปหักค่าใช้จ่าย 2 เท่า คิดเป็นร้อยละ 63.4 รองลงมาเป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งให้แก่สถานประกอบการ ร้อยละ 62.3 และการสนับสนุนทีมแพทย์ในการฉีดวัคซีน ณ สถานประกอบการ ร้อยละ 48.2

นอกจากนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกไปถึงเรื่องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งพบว่า ปัจจัยที่จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งปีแรก 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังคงให้ความสำคัญไปที่เรื่องจำนวนวัคซีนที่เพียงพอและความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศ (ไม่น้อยกว่า 50%) คิดเป็นร้อยละ 78.0

รองลงมาเป็นเรื่องกฎระเบียบในการเดินทางเข้าออกประเทศ อาทิ การนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้สำหรับการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมทั้งมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 72.8 ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและความมั่นใจของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว คิดเป็นร้อยละ 53.9

ส่วนมุมมองว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมใดควรได้รับการเร่งช่วยเหลือและส่งเสริมเร่งด่วน 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมการบิน คิดเป็นร้อยละ 58.6 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 55.0 และอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภค และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ร้อยละ 49.7

ซึ่งหากพิจารณาถึงมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แรงงานในสถานประกอบการเข้าถึงวัคซีนโควิด คิดเป็นร้อยละ 72.8 รองลงมายังคงต้องการมาตรการทางการเงิน เช่น การพักชำระหนี้, Asset Warehousing ฯลฯ ร้อยละ 68.6 และการลดหย่อนภาษี/ขยายระยะเวลานาน ผลขาดทุนสะสมมาใช้ คิดเป็น 61.3

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในยุค New normal

โดย 3 อันดับแรก พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการปรับ Business Model เพื่อสร้างความสมดุลในการดำเนินธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 75.4 รองลงมาเป็นเรื่องการพัฒนาสินค้าและบริการที่เน้นสุขอนามัยและความปลอดภัย ร้อยละ 62.8 และสุดท้ายเป็นเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ และรุกตลาดแบบดิจิทัล ร้อยละ 57.6

Let's block ads! (Why?)


เอกชนกังวลรัฐฉีดวัคซีนล่าช้า ซ้ำเติมเศรษฐกิจ วอนเปิดทาง รพ.นำเข้า - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...