Rechercher dans ce blog

Wednesday, March 17, 2021

ฟื้นตัวโควิด โอกาสละทิ้งความเหลื่อมล้ำทางเพศ - กรุงเทพธุรกิจ

ฟื้นตัวโควิด โอกาสละทิ้งความเหลื่อมล้ำทางเพศ ขณะที่ยูเอ็นเผยผู้หญิงว่างงานสูง รับภาระงานที่ไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มมากขึ้น เผชิญความรุนแรงและเอารัดเอาเปรียบในครอบครัว

ปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับทุกคนสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สำหรับผู้หญิงแล้วอาจหนักหนายิ่งกว่า แถมความเสมอภาคระหว่างเพศที่เคยคืบหน้ามาหลายปีก็ถดถอยลงไปด้วย ความจริงข้อนี้ถูกสะท้อนในเวทีสัมมนาออนไลน์ Women in leadership: Achieving an Equal Future in a COVID-19 World จัดโดยคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ยูเอ็นเอสแคป) และยูเอ็นวีเมน เมื่อวันสตรีสากล (8 มี.ค.) ที่ผ่านมา

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ลบเลือนความเสมอภาคทางเพศที่ก้าวหน้ามาหลายปี ผู้หญิงว่างงานสูง รับภาระงานที่ไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มมากขึ้น เผชิญความรุนแรงและเอารัดเอาเปรียบในครอบครัว เด็กผู้หญิงไม่ได้ไปโรงเรียน เรียกได้ว่าชีวิตของผู้หญิงพลิกผัน สิทธิที่เคยมีถูกทำลาย คนเป็นแม่โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญความเครียดและทุกข์ระทมอย่างเฉียบพลัน

เลขาธิการยูเอ็นกล่าวด้วยว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะต่อเนื่องไปจนถึงหลังยุคการระบาด แต่ผู้หญิงก็ยังทำงานเป็นแนวหน้ารับมือโควิด ทำหน้าที่สำคัญในการดูแลชีวิตผู้คน รับผิดชอบเศรษฐกิจ ชุมชน และครอบครัวเข้าด้วยกัน ข้อน่าสังเกตคือผู้นำหญิงช่วยลดอัตราการแพร่ระบาด ประเทศฟื้นตัวได้ตามแผน เนื่องจากเมื่อผู้หญิงเป็นผู้นำรัฐบาลจะมีการลงทุนดูแลสังคมมากขึ้น รุกต้านความยากจนมากขึ้น เมื่อผู้หญิงเข้าไปนั่งในสภา ประเทศจะเร่งออกนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อผู้หญิงนั่งโต๊ะเจรจาสันติภาพข้อตกลงจะยั่งยืนมากขึ้น

กูเตอร์เรสยกตัวอย่างยูเอ็น ที่ตำแหน่งผู้นำมีความเสมอภาคระหว่างหญิงชายครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น เพื่อสันติภาพ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสิทธิมนุษยชน

แอนิตา บาเทีย ผู้ช่วยเลขาธิการยูเอ็นและผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเอ็นวีเมน ยกหลักฐานประกอบการพิจารณาว่า ความเสมอภาคระหว่างเพศคืบหน้าไปหรือไม่ กล่าวคือ ทุกวันนี้มีผู้หญิงนั่งในสภาไม่ถึง 30% ประมุขทุกประเทศเป็นผู้หญิงไม่ถึง 10% เป็นหัวหน้ารัฐบาลไม่ถึง 10% ประเทศที่มีความเสมอภาคทางเพศมีไม่ถึง 15 ประเทศ “ทั้งๆ ที่นี่คือปี 2021 ไม่ใช่ปี 1721” และถ้าเอเชียแปซิฟิก ภูมิภาคหนึ่งที่มีพลวัตสูงสุดของโลกเป็นอนาคตของโลก ยังไม่มีความเสมอภาคทางเพศในชั่วอายุเรา แล้วจะหาได้จากที่ไหน

หลักฐานความเหลื่อมล้ำยังปรากฏอยู่ใน The Long Road to Equality รายงานความคืบหน้าของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ระบุว่า แม้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมืองจะเพิ่มขึ้นจาก 12.7% ในปี 2000 เป็น 19.9% ในปี 2020 แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 24.9% แม้ลดช่องว่างระหว่างเพศด้านการศึกษาในระดับมัธยมลงได้ กระนั้นการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงยังคงต่ำ อัตราความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงยังคงสูงทั่วภูมิภาค การแก้ไขปทัสถานทางสังคมที่เลือกปฏิบัติจะช่วยป้องกันได้โดยเฉพาะเมื่อผู้ชายและเด็กผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไข

สอดคล้องกับถ้อยแถลงของเลขาธิการยูเอ็น "ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ ด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ความเสมอภาคทางเพศเป็นคำถามสำคัญต่ออำนาจ และผู้ชายเป็นส่วนสำคัญของคำตอบ" ในโอกาสนี้เขาเรียกร้องให้นานาประเทศ บริษัท และสถาบันใช้มาตรการพิเศษและโควตา สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคของผู้หญิงให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมเสนอว่า เมื่อโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 การสนับสนุนและมาตรการกระตุ้นจะต้องพุ่งเป้าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเป็นพิเศษ เช่น กระทำผ่านการลงทุนในธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของและเศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy หมายถึง เศรษฐกิจที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการที่เน้นการดูแลร่างกาย อารมณ์ และความต้องการของผู้ใช้ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วย การแนะแนวอาชีพ) การฟื้นตัวจากโควิดถือเป็นโอกาสดีให้เราละทิ้งยุคสมัยแห่งการกีดกันเหลื่อมล้ำ

"ผู้หญิงสร้างการอุทิศตัวเพื่อผลบังเกิดแก่ทุกคน ขับเคลื่อนความก้าวหน้าสู้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจี) ถึงเวลาสร้างอนาคตที่เท่าเทียม นี่คืองานสำหรับทุกคนเพื่อประโยชน์ของทุกคน” เลขาธิการยูเอ็นกล่าวทิ้งท้าย

Let's block ads! (Why?)


ฟื้นตัวโควิด โอกาสละทิ้งความเหลื่อมล้ำทางเพศ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...