คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จัดประชุมครั้งที่ 4/2564 ในวันที่ 17 มี.ค. เวลา 14.00 น.
นอกจากวาระพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับนายพลตำรวจยศ พล.ต.ต.ขึ้นไป จำนวน 3 กลุ่มแล้ว ยังมีอีกวาระที่น่าสนใจ คือ การเปิดตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ.9) เทียบเท่า ผู้ช่วย ผบ.ตร. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะตัวที่ได้ขออนุมัติ ก.ตร. รองรับการกลับเข้ามาของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงนามในคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
บีบีซีไทย ย้อนลำดับเหตุการณ์ แต่งตั้ง โยกย้าย นายตำรวจที่ก้าวขึ้นตำแหน่งนายพลอย่างรวดเร็วที่สุดคนหนึ่งของประเทศ
จาก ตรวจคนเข้าเมือง ไป สำนักนายกฯ
5 เม.ย. 2562 พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขณะนั้น ลงนามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สตช. แทน
4 วัน ต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 2/2562 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มเติม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
สาระสำคัญคือให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อยู่ในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2558 โดยให้ขาดตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม ใน สตช. เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทนักบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง)
สื่อไทยหลายแห่งเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นการ "เด้งฟ้าผ่า" นายพลหนุ่ม ผู้ก้าวหน้ารวดเร็วในเส้นทางตำรวจ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่านายตำรวจเจ้าของฉายา "โจ๊ก หวานเจี๊ยบ" ผู้นี้ อาจได้ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ตร. เข้าสักวัน
มาถึง ม.ค. ปี 2563 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ขอลาอุปสมบท เพื่อทดแทนบุญคุณ บิดา มารดา ที่วัดไทยในพุทธคยา ประเทศอินเดีย ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่งที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ในเดือน ก.พ. ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ทำในเรื่องการให้ข้อเสนอแนะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน
อีก 7 เดือนต่อมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ยังได้มอบหมายให้ทนายความส่วนตัว นำเอกสารคำร้องเข้ายื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ต่อศาลปกครอง กรณีออกคำสั่งย้ายโอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่กี่วันต่อมา ศาลได้ตัดสินไม่รับคำฟ้อง และตีตกไป
รุ่งโรจน์และร่วงโรย
ชื่อของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ เป็นที่คุ้นหูมากที่สุดจากการจัดการในกรณี น.ส. ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน หญิงซาอุดีอาระเบียวัย 18 ปี ถูกกักตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ ม.ค. 2562 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกรณีสาวชาวอังกฤษที่อ้างถูกขืนใจบนเกาะเต่า เมื่อ ส.ค. 2561 กรณีเรือฟินิกซ์ล่มที่ภูเก็ต เมื่อเดือน ก.ค. 2561 ปฏิบัติการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ และปฏิบัติปราบเงินกู้นอกระบบและคืนโฉนดทั่วประเทศ เป็นต้น
หลังข่าวการย้าย เพจเฟซบุ๊กของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งเป็นช่องทางรับเรื่องราวร้องทุกข์ เสนอภารกิจส่วนตัวของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ รวมทั้งภารกิจของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ถูกปิดลง รวมทั้ง อินสตาแกรม ที่ชื่อว่า surachatehakpharn และทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อบัญชีว่า @hakparn อีกด้วย
ดาวรุ่งพุ่งเร็ว
บทความในเว็บไซต์ The People ซึ่งสัมภาษณ์และเขียนถึงผู้คนในหลากหลายวงการ ระบุว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ใช้เวลาเพียง 20 กว่าปีในการเลื่อนจากยศ ร.ต.ต. สู่ พล.ต.ท ด้วยวัยเพียง 48 ปี
เว็บไซต์ข่าวมติชนบอกว่า "นับได้ไม่กี่คน" หากพูดถึงนายพลอายุน้อยในประวัติศาสตร์ สตช. เส้นทางของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ อาจเทียบได้กับ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ อดีต ผบ.ตร. ซึ่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดด้วยอายุเพียง 56 ปี หรือ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือ "บิ๊กแป๊ะ" ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ซึ่งติดยศ พล.ต.ต. ตั้งแต่อายุ 40 กว่า ๆ
เว็บไซต์ข่าวมติชน รายงานว่า พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ เริ่มต้นรับราชการตำรวจในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จ.เชียงใหม่
ในตำแหน่งผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เขาเป็นผู้ริเริ่มนำเครือข่าย องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ อินเตอร์โพล (Interpol) กระทรวงต่างประเทศ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เข้าร่วมมือกันเพื่อปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ โดยมีผลงานจับกุมเครือข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติที่หลอกลวงเด็กและผู้หญิงไปค้าประเวณีในหลายประเทศ
ตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ในเวลาต่อมาได้แก่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นบ้านเกิด ก่อนจะได้เลื่อนขั้นสูงขึ้นเป็นรองผู้บังคับการจังหวัดสงขลา เป็นผู้บังคับบัญชาศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธร จ. สงขลา ส่วนหน้า ดูแล 4 อำเภอ มีภัยก่อความไม่สงบชายแดนใต้ ซึ่งมติชนระบุว่า บทบาทนี้ส่งผลให้เขาได้รับสิทธินับอายุราชการแบบทวีคุณสำหรับใช้รับอาวุโสในการแต่งตั้งเฉกเช่นตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนใต้
เว็บไซต์ The People ระบุว่า ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มมีคนสังเกตเห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง พ.ต.อ. สุรเชษฐ์ (ยศขณะนั้น) และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาล คสช. ซึ่ง พล.อ. ประวิตร กลับสู่เส้นทางการเมือง เขาก็ได้ขึ้นรับตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าประสานนายกรัฐมนตรี มีความใกล้ชิดพล.อ.ประวิตร เป็นอย่างยิ่ง
จากนั้น เขาก็ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ ๆ อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ต่อมาเป็น ผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏฺิบัติการพิเศษ หรือ 191, รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และ ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ก่อนจะถูกสั่งโยกไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวานนี้
หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลายฝ่ายจะคาดเดากันว่า การถูกสั่งเด้งฟ้าผ่าอาจมีนัยยะทางการเมือง
นอกจากความใกล้ชิดกับ พล.อ. ประวิตร แล้ว เว็บไซต์ข่าวมติชนรายงานว่า พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ เคยเปิดเผยกับสื่อหลายสำนักว่า บิดาของเขาซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นประทวน เคยทำงานใกล้ชิดกับ พล.ต.ท. เสมอ ดามาพงศ์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งเป็นบิดาของ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร. และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่ "เด็ก" บ้านดามาพงศ์ อย่างที่ใครร่ำลือ
ด้วยอายุราชการอีก 10 ปี เส้นทางเติบโตในอาชีพตำรวจของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ จะยุติที่ตำแหน่งใด
"บิ๊กโจ๊ก": ย้อนเส้นทางเติบใหญ่และทางสะดุดของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล - บีบีซีไทย
Read More
No comments:
Post a Comment