7 มีนาคม 2564 | โดย พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ | คอลัมน์ บทความพิเศษ
90
เปิดร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. หนึ่งในความเคลื่อนไหวจากภาครัฐ ในการพยายามที่จะผลักดัน "งานวิจัย" ที่ในอดีตการลงทุนด้านนี้ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง แต่การลงทุนภาพรวมกลับสูงถึง 1.82 แสนล้านบาท
ตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 โดยปี 2561 ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวนทั้งสิ้น 182,357 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 17.5 แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 142,971 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 39,385 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณร้อยละ 78 และร้อยละ 22 ตามลำดับ
ที่ผ่านมา การลงทุนโดยภาครัฐยังไม่สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายประการ ล่าสุดในการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) มีการประชุมวาระสำคัญในการพิจารณาด่วน โดยคณะรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอไปแล้วนั้น
ที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 ได้ร่วมกันอภิปรายและลงมติรับร่าง จำนวน 525 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง สรุปที่ประชุมรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….
ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย ได้มีการประกาศใช้เป็นเวลานานแล้ว ในสหรัฐประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้มาเกือบ 40 ปีแล้ว (ปี 2523) ส่งผลให้การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น เกิดทรัพย์สินทางปัญญากว่า 13,600 ฉบับ มหาวิทยาลัยยื่นจดสิทธิบัตรประมาณ 3,000 ฉบับต่อปี
และที่สำคัญเกิดบริษัทตั้งใหม่ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย 5,000 บริษัท รวมถึงมีการจ้างงานจากเทคโนโลยีที่เกิดจากมหาวิทยาลัยมากกว่า 250,000 อัตรา ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้สหรัฐมีฐานความสามารถทางเทคโนโลยีในอันดับต้นๆ ของโลก
- สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
1.กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ยกเว้นกรณีการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ การวิจัยและนวัตกรรมซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้ทุนโดยใช้เงินรายได้ของตน การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวมหรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่น
จึงไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ และการวิจัยและนวัตกรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
2.กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการบริหารจัดการและการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ การจัดสรรรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม
3.กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้รับทุนหรือนักวิจัย ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะต้องใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมและบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม และรายงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ข้อมูลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยนโยบายและหน่วยงานให้ทุนเพื่อใช้ในการติดตาม ประเมินผล และนำกลับมากำหนดนโยบายและการให้ทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมต่อไปในอนาคต
4.กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้รับทุน หรือนักวิจัยซึ่งเป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และกำหนดหน้าที่ของผู้รับโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
5.กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามพฤติการณ์แห่งกรณี
6.กำหนดให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีในการออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใดๆ ที่เกิดจากทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้โดยหลักการแล้วเป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัย ให้ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ติดข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานให้ทุน
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้มีต้นแบบจากสหรัฐ และมีตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ ทำให้ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม จากก้าวแรกที่ปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าว
นอกจากภารกิจในการร่วมผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว สกสว.ยังต้องดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของการจัดทำกฎหมายลูกที่จำเป็นกว่า 10 ฉบับ รวมทั้งการผลักดันมาตรการอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อให้ภาคเอกชนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งของ สกสว. ในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปลดล็อกกฎหมาย เปิดทาง 'งานวิจัย' สร้างเงิน - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment