9 มีนาคม 2564
113
เมื่อสิ่งที่ “อานนท์ นำภา” เคยเตือนไว้ว่า หากใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ มีแต่ทำให้ขบวนนับถอยหลังสู่ความพ่ายแพ้เท่านั้น
ถึงแม้ 4 แกนนำมวลชน แนวร่วม “กลุ่มราษฎร” อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข จากกลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” ยังถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน แต่เครือข่ายม็อบที่มีจุดยืนเรียกร้องในเรื่องเดียวกัน ก็ไม่หยุดเคลื่อนไหวชุมนุม
โดยเฉพาะท่าทีของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ปรับเปลี่ยนมาเป็น “กลุ่มรีเดม” REDEM เริ่มเคลื่อนไหวรอบใหม่มาตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. จนมาถึงกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจประชาชน” โดย “ไผ่ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เดินเท้าจากจ.นครราชสีมา สู่เป้าหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็น 2 กลุ่มแนวร่วมที่สลับขึ้นมาอยู่ “แถวหน้า” นัดชุมนุมในช่วงที่กลุ่มราษฎร “เว้นวรรค” เดินขบวนทางการเมือง
หากเจาะยุทธศาสตร์เคลื่อนไหวทั้ง 2 กลุ่ม เห็นได้ชัดว่า มีเพียง “รีเดม” เท่านั้นที่ไม่เปิดตัวแกนนำ แต่ใช้พื้นที่โลกออนไลน์ผ่านเทเลแกรม “TELEGRAM” เคลื่อนไหวนัดหมายชุมนุม ซึ่งทำมาแล้ว 2 ครั้งเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่กรมทหารราบที่ 1 และวันที่ 6 มี.ค.ที่หน้าศาลอาญา เพื่อเคลื่อนขบวน 3 ข้อเรียกร้องตั้งแต่ จำกัดอำนาจสถาบัน ขับไล่ทหารออกจากการเมือง และลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
ขณะเดียวการเคลื่อนไหวในเทเลแกรมมีการหารือถึงยุทธวิธี “ไร้แกนนำ” เป็นสิ่งที่รีเดมมั่นใจว่าจะเคลื่อนขบวนเป็นอิสระไม่ยึดโยงกับใคร เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมในจังหวะที่ฝ่ายรัฐเริ่มยกระดับควบคุมการชุมนุมเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้วิธีนี้จะเสี่ยงปัจจัยแทรกซ้อนใน “รูปขบวน” ที่มีผู้นำ แต่เชื่อว่าเป็นวิธีที่ฝ่ายความมั่นคงเอาผิดแกนนำได้ยากที่สุด
นอกจากนี้ จากแนวปฏิบัติที่รีเดมประกาศถึงมวลชนในกรณีสถานการณ์รุนแรงในวันที่ไม่มีแกนนำ ผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบความเสี่ยงด้วยตัวเองหากมีเหตุการณ์ปะทะกับฝ่ายรัฐเท่านั้น ภายในห้องสนทนาเทเลแกรมยังถกเถียงกันถึงยุทธวิธีชุมนุม รูปแบบการกดดันรัฐเพื่อขับเคลื่อน 3 ข้อเรียกร้องให้สำเร็จ
แต่เหตุการณ์การชุมนุมช่วงค่ำวันที่ 6 มี.ค. ในการชิงตัวกลุ่มการ์ดในรถควบคุมตัวผู้ต้องขังของสน.พหลโยธิน จนเป็นเหตุให้รถเสียหาย 2 คัน กำลังกลายเป็นสถานการณ์ที่ยกระดับไปอีกขั้น เมื่อไม่มีแกนนำควบคุมการเคลื่อนขบวน สถานการณ์ความรุนแรงจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ขณะที่ปีกการเคลื่อนไหวกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจประชาชน” จากการรวมกลุ่มราษฎรและ พีเพิล โก “PEOPLE GO” ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้น จ.นครราชสีมา สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่การเดินเท้าเพื่อสื่อสารถึง 3 ข้อเรียกร้อง(ปล่อยแกนนำ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกมาตรา 112) แต่ยังใช้โอกาสนี้แจกใบปลิว พูดคุย และจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารกับสังคมให้เห็นภาพปัญหาเชิงโครงสร้าง
ก่อนหน้านี้ประเด็น “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” เป็นหนึ่งใน “ธงนำ” ของกลุ่มราษฎรที่ใช้เคลื่อนไหวนัดชุมนุมช่วงกลางปี 2563 ก่อน “ทะลุเพดาน” ยกระดับข้อเรียกร้องกดดันให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 112” ภายหลังแกนนำหลายกลุ่มถูกหมายเรียกดำเนินคดี “ม.112” จึงเป็นที่มาของการปรับยุทธศาสตร์ข้อเรียกร้องชูประเด็นในเรื่องนี้ หลังจากที่ "กลุ่ม24 มิถุนาฯ” เคยจุดประเด็นเคลื่อนไหวรณรงค์มาแล้ว เมื่อปี 2550
นอกเหนือจากการพุ่งเป้าไปที่การรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ยังมีประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นชนวน “ระหว่างทาง” ที่พร้อมจะถูกปัดฝุ่นนำมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง จากสิ่งที่มวลชนเชื่อว่า สุดท้ายข้อเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญจะถึง “ทางตัน” ไม่ว่าจะมาจากกระบวนการใดของรัฐสภา ทำให้ทุกกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างนี้ จะเป็นอีกหนึ่งชนวนที่ม็อบพร้อมหยิบยกนำมาชูธงเคลื่อนไหวตลอดเส้นทางการแก้รัฐธรรมนูญ
ขณะนี้กำลังเป็นช่วง “วัดใจ” ฝ่ายม็อบ และฝ่ายรัฐ ว่าฝ่ายใดจะอดทนต่อแรงเสียดทานในการเผชิญหน้าตลอดเดือน มี.ค.ได้มากกว่ากัน เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐยืนยัน “ความชอบธรรม” ในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง ท่ามกลางอารมณ์มวลชนกลุ่มฮาร์ดคอร์แถวหน้าที่พร้อมแลกได้ทุกเมื่อ
“ทางสามแพร่ง” ของกลุ่มรีเดม ที่จะนำการชุมนุมแทนกลุ่มราษฎรนับจากนี้ กำลังเป็นเดิมพันในสิ่งที่ “อานนท์ นำภา” เคยเตือนไว้หรือไม่ว่า การต่อสู้ทางการเมือง หากใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ จะไม่นำชัยชนะมาได้ มีแต่จะทำให้ขบวนนับถอยหลังสู่ความพ่ายแพ้เท่านั้น.
'รีเดม' ปรับเกมม็อบไร้แกนนำ ทางสามแพร่งเสี่ยงรุนแรง - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment