“พาณิชย์” หารือผู้แทนพิเศษด้านการค้าของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร หาแนวทางกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจหลังเบร็กซิต คาดเผยผลศึกษาประโยชน์และผลกระทบหากไทยทำ FTA เร็วๆ นี้
ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้พบหารือกับ นายมาร์ค การ์นิเย่ ผู้แทนพิเศษด้านการค้าของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรรับผิดชอบเมียนมา บรูไนฯ และไทย ผ่านการประชุมทางไกล (video conference)
โดยได้หารือแนวทางกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร เพื่อการเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น หลังจากที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) อย่างเป็นทางการ
การหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายแสดงความพอใจที่กระบวนการทบทวนนโยบายการค้าระหว่างกันแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เเละนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร (Joint Economic and Trade Committee : JETCO) ซึ่งจะมีการลงนามจัดตั้ง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร
ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและมีศักยภาพ อาทิ การเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม เทคโนโลยี และการให้บริการด้านการเงิน รวมทั้งเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันในอนาคต ซึ่งคู่ขนานไปกับกลไกของภาคเอกชน ได้แก่ สภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council : TUBLC)
นอกจากนี้ ยังได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของสหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้ทราบถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร และไทยได้แจ้งความสนใจต่อการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหราชอาณาจักร
ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนไทยให้การสนับสนุน เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญของไทย และไทยยังไม่มี FTA ด้วย โดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างศึกษาประโยชน์และผลกระทบ หากมีการจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต โดยคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ผลการศึกษาได้เร็ว ๆ นี้
ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรมีมูลค่า 4,875.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 3,087.20 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 1,788.49 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 1,298.70 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ
เช่น ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องดื่ม เป็นต้น
พาณิชย์คุยผู้แทนการค้ายูเค ปูทางด้านเศรษฐกิจหลังเบร็กซิต - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment