GENDER EQUALITY: WE CAN ALL DO MORE…TOGETHER
ความเสมอภาคทางเพศ
ทำด้วยกัน…ทำได้มากกว่า
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม คุณสิรินยา “ซินดี้” บิชอพ นางแบบชั้นนำและทูตสันถวไมตรีประจำภูมิภาคเอเชียขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมงานสัมมนาเพื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมเพื่อโลกที่เท่าเทียมกันเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ โดยเน้นย้ำกับหญิงวัยรุ่นไทยที่เข้าร่วมสัมมนาว่า “ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งมากไปกว่านี้ โลกต่างหากที่ต้องมองความเข้มแข็งของผู้หญิงเสียใหม่”
คุณซินดี้กล่าวได้ถูกต้องว่า ผู้หญิงในประเทศไทยเข้มแข็ง มุ่งมั่น ขยันและตั้งใจทำงานในหน้าที่ พวกเธอประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยปัจจุบันผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งสูงๆ ในองค์กรมีอัตราส่วนมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและในระดับสากล ในประเทศไทยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งซีอีโอหรือกรรมการผู้จัดการถึงร้อยละ 24 ในขณะที่ในระดับสากลมีร้อยละ 20 และมีเพียงร้อยละ 13 ในเอเชียแปซิฟิก
ในปี 2558 ประเทศไทยบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศเพื่อเดินหน้านโยบายทางกฎหมายต่างๆ และเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศ-ก่อนหน้าที่จะมีการบัญญัติหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน”
แต่อย่างไรก็ดี ตัวชี้วัดเหล่านี้ไม่อาจซ่อนความจริงที่ว่าประเทศไทยและเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ผู้หญิงยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความยากจน การเลือกปฏิบัติและการถูกเอารัดเอาเปรียบ ไร้ซึ่งความมั่นคงและตกเป็นผู้เปราะบางในการทำงานนอกระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ชนบท ความเท่าเทียมทางเพศและการเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิงยังคงมีความท้าทายโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อย ชุมชนอพยพและในพื้นที่ความขัดแย้ง
จากดัชนีความไม่เท่าเทียมทางเพศของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 79 จากจำนวน 189 ประเทศ ในฐานะประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน ประเทศไทยอยู่ในจุดที่มีโอกาสที่ดีในการพัฒนาสถานะของสตรีและปรับปรุงกรอบกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ มีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเพศกับความยากจนมีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน รวมถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ เช่น การเข้าไม่ถึงพลังงาน น้ำ อาหาร และการคุ้มครองทางสังคมที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค
ผู้หญิงและเด็กหญิงหลายล้านคนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคเชิงโครงสร้างในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศทั่วโลก หากความไม่เท่าเทียมนี้ไม่ได้รับการแก้ไขก็จะทำให้ปัญหาฝังลึกยิ่งขึ้น ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดการกับประเด็นปัญหาเหล่านี้อย่างเปิดเผย
ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นนับเป็นวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุม Generation Equality Forum (GEF) ซึ่งเป็นการพบปะพูดคุยเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ ที่จะจัดขึ้นในกรุงเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2564 และในกรุงปารีสระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2564 เพื่อส่งเสริมและรณรงค์ให้เกิดเจตนารมณ์ที่ชัดเจน จริงจังและเป็นรูปธรรมในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ
ในประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย และ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก จับมือกับนักเคลื่อนไหวสตรีที่มีความโดดเด่นจัดกิจกรรมต่างๆ มากมายในระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 เพื่อประชาสัมพันธ์การประชุม GEF ให้เป็นที่รู้จักและเพื่อสร้างความตระหนักและลงมือดำเนินการเพื่อความเสมอภาคทางเพศ
การประชุม GEF ที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นโอกาสพิเศษในการผลักดันความพยายามในการดำเนินการตามปฏิญญาปักกิ่ง ค.ศ.1995 (1995 Beijing Declaration and Platform for Action) ซึ่งได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมโลกว่าด้วยสตรี (World Conference on Women) ครั้งที่ 4 เมื่อ 26 ปีที่แล้ว โดยการประชุมส่วนใหญ่จะจัดผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อรวบรวมพันธมิตรและสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ความเสมอภาคทางเพศร่วมกัน โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้สนับสนุนรายต่างๆ รวมถึงภาครัฐ ภาคประชาสังคม กลุ่มเคลื่อนไหวสตรี ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา จะร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน
จุดประสงค์หลักประการหนึ่งของการประชุม GEF คือการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิสตรีและองค์กรต่างๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเยาวชน โดย GEF ดำเนินงานในรูปแบบของการสร้างพันธมิตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ร่วมกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ในระดับโลกโดยมีเป้าหมายสำคัญหกประการเพื่อ : ขจัดความรุนแรงที่เกิดจากเหตุแห่งเพศ ส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การมีสิทธิในร่างกาย สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของตน การทำงานของกลุ่มสิทธิสตรีเพื่อลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิสตรีและความเป็นผู้นำ รวมถึงเพิ่มการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางเพศ ข้อมูลที่มีทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมานี้เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก
การประชุม GEF เป็นช่วงเวลาสำคัญในการรวมพลังจากทุกมุมโลกและอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากเป็นเวทีที่รวมตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรต่างๆ ภาคประชาสังคม และผู้มีอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากทั่วโลกไว้ด้วยกันเพื่อกำหนดและประกาศนโยบายและโครงการลงทุนต่างๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดการเร่งรัดผลักดันอย่างถาวรในเรื่องความเท่าเทียม ความเป็นผู้นำ และโอกาสสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก
เหล่าสตรีและผู้นำใน GEF ต่างร่วมกันทำงานเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของสถาบันทางการเมืองให้บูรณาการความต้องการของผู้หญิงและเด็กหญิงเข้าไปในการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ผู้หญิงและเด็กหญิงได้รับสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียม
ไม่ว่าใครก็สามารถมีส่วนร่วมในการประชุม GEF ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ทั้งจากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือจากกลุ่มเพื่อน รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ย่างก้าวเล็กๆ ทุกย่างก้าวสู่ความเท่าเทียมทางเพศล้วนมีความหมาย ด้วยความร่วมมือร่วมใจและความมุ่งมั่นทางการเมืองและสังคมที่เพียงพอ เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่กล้าหาญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่มีวันหวนกลับ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศอันจะเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป มาช่วยกันลงมือทำตั้งแต่วันนี้
มีส่วนร่วมในการหารือเวทีสาธารณะได้ทาง: https://ift.tt/3rsI6Xw
ติดตามการประชุม Generation Equality Forum ได้ทาง: https://ift.tt/3ddFO9l
ข้อมูลการประชุม GEF ในเม็กซิโก (มีนาคม): https://ift.tt/3ct31W2
ข้อมูลการประชุม GEF ในฝรั่งเศส (มิถุนายน): https://ift.tt/3rm0eSQ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมในประเทศไทยและสนใจมีส่วนร่วม ติดต่อ: montira.narkvichien@unwomen.org
ตีแยรี มาตู
เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
แบร์นาร์โด กอร์โดบา เตโย
เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย
โมฮัมหมัด นาซีรี
ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการส่งเสริม
ความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
GENDER EQUALITY: WE CAN ALL DO MORE...TOGETHER ความเสมอภาคทางเพศ ทำด้วยกัน...ทำได้มากกว่า - มติชน
Read More
No comments:
Post a Comment