สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 3-4% โดยยังวิตกสถานการณ์โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ฉุดรั้งการส่งออกและการลงทุนไทย รวมไปถึงปัญหาเพื่อนบ้าน
วันที่ 5 เมษายน 2564 นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 3-4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2564
แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งเรื่องของค่าระวางเรือ ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ ที่จะกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกไทยในปีนี้ รวมไปถึงปัญหาของประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้จะเห็นว่าการส่งออกไทยไปในเมียนมาหดตัวสูงขึ้นประมาณ 29.7% ดังนั้น ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
โดยปัจจัยบวกที่กระทบ ได้แก่ 1) สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นทั่วโลก คือ การเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีมากขึ้น ส่งผลบวกต่อทิศทางการฟื้นตัวของระดับเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง โดยที่ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 500 ล้านโดสกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1.36 แสนโดส มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มกลาง-ล่าง จากการได้รับเงินช่วยเหลือ 1,400 เหรียญสหรัฐ/คน
อีกทั้งนโยบายปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นเท่าตัวจาก 7.5 เป็น 14 เหรียญสหรัฐ/ชั่วโมง จะส่งผลดีต่อความต้องการสินค้าจากทั่วโลกรวมถึงสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และ Work from Home เช่น ถุงมือยาง, หน้ากากอนามัย, ผลไม้แปรรูป, อาหารสำเร็จรูปและเครื่องปรุงอาหาร รวมถึงเครื่องดื่ม อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น 3) ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
4) ค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่า ในรอบ 4 เดือน จากอานิสงส์การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ซึ่งมีแรงหนุนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสถานะการขายสุทธิในตลาดพันธบัตรและตลาดทุน
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) ปัญหา International Logistics เช่น ปัญหาเรือ Ever Given บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์กว่า 20,000 TEUs ประสบอุบัติเหตุในคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งจากเอเชียไปยุโรป ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเรือบรรทุกสินค้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หลายร้อยลำไม่สามารถผ่านเส้นทางนี้ได้ และส่งผลทำให้การส่งมอบสินค้าล่าช้ากว่ากำหนดกระทบภาคการผลิต
รวมทั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในบริเวณท่าเรือ Said Port และ Suez Port รวมทั้ง Transshipment Port ที่สำคัญ รวมทั้งปัญหาการส่งมอบสินค้าล่าช้า และสายเรืออาจจะมีการปรับค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น (Spot Rate) รวมถึงค่า Surcharge ในบางรายการ
อาทิ Bunker Adjustment Factor (BAF), Low Sulphur Surcharge (LSS) เป็นต้น ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง ซึ่งมีแนวโน้มที่ค่าระวางเรืออาจทรงตัวในระดับสูงไปจนถึงปลายปี 2564 ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง
2) การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจกลับมาชะลอได้อีกครั้ง 3) ปัญหาชิปขาดแคลน
4) การขาดแคลนแรงงานกลุ่ม Unskilled labor เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าออกของแรงงาน ทั้งนี้ปัญหาอาจมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องด้วยกิจกรรมการผลิตและการส่งออกเริ่มฟื้นตัวจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ดี สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวเร่งแก้ไข คือ 1) เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกที่ชัดเจน เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมากขึ้น
อาทิ กำกับดูแลไม่ให้สายเรือและผู้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับเพิ่มค่าระวางและค่าบริการเสริม (Surcharge) 2) เร่งรัดการแก้ไขปัญหาความแออัดและการจราจรติดขัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากทำให้ผู้ประกอบการส่งออกมีต้นทุนและระยะเวลาในการปฏิบัติงานขนส่งเพิ่มขึ้นและทำให้การนำเข้าวัตถุดิบสู่กระบวนการผลิตมีความล่าช้า
3) ขอให้ ธปท. ใช้มาตรการหรือเครื่องมือทางการเงินเพื่อกำหนดทิศทาง รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไว้ที่ 32 บาท/เหรียญสหรัฐฯ 4) เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรีที่สำคัญ อาทิ CPTPP, RCEP, Thai-EU, Thai – UK, Thai-Turkey เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคือสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
และ 5) เนื่องจากแรงงานในระดับ Unskilled labor ขาดแคลนอยางหนักโดยเฉพาะในภาคการผลิต ขอรัฐบาลพิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมโดยเร็ว แต่อาจต้องมีมาตรการรับมือการแพร่ระบาดโควิดที่เข้มงวด ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรสนับสนุนต้นทุนค่าวัคซีน สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ต้องการนำเข้าเพิ่มเติม
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ยังวิตกโลจิสติกส์ระหว่างประเทศฉุดส่งออก-การลงทุน - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment