พรีม่า เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นบริษัทผู้วิจัยและพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรมต่าง ๆ จำนวน 36 องค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการวิจัยที่จะนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและประชาชนคนไทยให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ พรีม่ายังมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงวงการเภสัชภัณฑ์ไทยกับนานาชาติ โดยการเข้าเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์นานาชาติ (IFPMA) อีกด้วย
นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559 – 2563) บริษัทสมาชิกของพรีม่าได้พัฒนาและนำเข้ายามากกว่า 300 ชนิด สร้างโอกาสการเข้าถึงยานวัตกรรม (Innovative Medicines) ให้แก่ผู้ป่วยในการต่อสู้กับโรคร้าย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเบาหวาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการประสานความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ วงการวิชาการ วงการสาธารณสุข และผู้ป่วย ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ที่มีความมั่นคงในระดับภูมิภาค และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่โลกอีกด้วย
เส้นทางการยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นความท้าทายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายมิติ และทำให้การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งความมั่นคงทางด้านสุขภาพก็กลายมาเป็นวาระสำคัญของโลก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหา ด้านสุขภาวะอาจไม่จำกัดแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมทั้งบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชน ก็ไม่สามารถแยกส่วนกันได้ หน่วยงานในระบบสุขภาพต่างมีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ หมายถึง การที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการกินอยู่ที่ดี มีสุขอนามัย มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี ไม่มีโรคระบาดร้ายแรง หรือหากมีก็สามารถที่จะควบคุมได้ โดยดัชนีที่สามารถชี้วัดความมั่นคงทางด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ ครอบคลุมถึงปัจจัย ดังต่อไปนี้ 1. ความสามารถในการป้องกันโรค 2. ความสามารถในการตรวจจับโรคและรายงานที่รวดเร็ว 3. การตอบโต้ที่รวดเร็ว 4. การมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง 5. การมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ มีแผนงบประมาณด้านการป้องกันควบคุมโรคและดำเนินงานตามแนวปฏิบัติสากล และ 6. การมีความเสี่ยงด้านต่างๆ และความเสี่ยงต่อภัยคุกคามด้านชีวภาพต่ำ
ในการสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น คุณ โทมัส คูเอนี ผู้อำนวยการสมาพันธ์ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์นานาชาติ (IFPMA) กล่าวว่า ในอนาคต เราควรให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อค้นพบองค์ความรู้ใหม่ (Discovery Research)
เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มสตาร์ตอัพ การค้นพบใหม่จะได้พัฒนาไปสู่นวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Healthcare) และการเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ อย่างโรคระบาด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนทางด้านสุขภาพ รวมถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ ชุดป้องกัน ไปจนถึงความร่วมมือกัน ดังเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัส โควิด-19
“ภูมิภาคเอเชียทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการแทรกแซงที่ไม่ใช่มาตรการทางเภสัชกรรม (NPIs: Non-Pharmaceutical Interventions) อาทิ มาตรการของภาครัฐเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น ส่วนการเสริมสร้างความมั่นคงในอนาคตเรื่องความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ (Health Literacy) เป็นสิ่งสำคัญ ตลอดจนการพัฒนาโมเดลเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมและความสามารถในการเข้าถึงนวัตกรรม เนื่องจากนวัตกรรมใหม่จะไม่ตอบโจทย์ หากไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ รวมถึงการกำหนดราคาที่ไม่เหมาะสม” โทมัส คูเอนี กล่าวเพิ่มเติม
นพ.ทวิราป ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการภายในประเทศ ต้องมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเน้นที่การสร้างนวัตกรรม เปลี่ยนจากเน้นการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วยให้เป็นการป้องกันด้วยการดูแลสุขภาพเป็นอันดับแรก
แนวโน้มการดูแลสุขภาพนั้น สอดคล้องกับมิติของสังคม และโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ด้วยจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีพื้นฐานความพร้อม มีศักยภาพในการเตรียมรับมือ และถือว่ามีความมั่นคงทางด้านสุขภาพที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังคงต้องเสริมสร้างให้ระบบนิเวศของทุกภาคส่วนมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นพร้อมกันด้วย
คริส แอล. ฮาร์เดสตี (Chris L. Hardesty) ผู้อำนวยการสถาบัน KPMG’s Healthcare & Life Science Practice จากประเทศสิงคโปร์ ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการบริหารความยั่งยืนทางการเงินในยุคสังคมผู้สูงวัย โดยมุ่งไปที่การปรับกรอบแนวคิดที่ว่า “ต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิดจากสุขภาพสำหรับทุกคน (Health for All) ไปเป็นสุขภาพที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่ง (Health for Wealth) และทำให้กระบวนการป้องกันเกิดขึ้นอย่างจริงจังแทนการตั้งรับ นอกจากนี้ ยังควรเน้นกรอบแนวคิดเรื่องการดูแลตนเอง ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้เกี่ยวกับสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น”
“ส่วนการบริหารทรัพยากรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวทางบริหารการเงินด้านสาธารณสุข ควรใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ เข้ามาช่วยในกระบวนการตัดสินใจนำมาตรการแบบผสมผสานมาปรับใช้ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (Lower respiratory tract infection: LRTI) มาก รวมถึงการแทรกซ้อนของโรคมะเร็งในลักษณะต่าง ๆ จึงอาจจัดสรรเงินทุนไปในส่วนเหล่านี้ แต่ระบบของประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการอุดหนุนแบบข้ามระบบ (Not Cross-subsidized) จึงอาจพิจารณาการออกแบบระบบให้เหมาะสม หรือมีโอกาสพัฒนาหลักประกันสุขภาพในด้านไหนได้บ้าง เป็นต้น”
ความร่วมมือนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพในระดับภูมิภาค
นอกจากความมั่นคงทางด้านสุขภาพในระดับประเทศแล้ว การสัมมนาในครั้งนี้ยังพูดคุยถึงประเด็นที่มองไปในอนาคตเพื่อมุ่งการขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางความมั่นคงทางด้านสุขภาพในระดับภูมิภาคด้วย โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ แพทย์หญิง ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ต่างเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในประเทศเกิดขึ้นได้จริงและสัมฤทธิ์ผล
“สถานการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศไทย วงการแพทย์แข็งแกร่ง มีเครื่องมืออุปกรณ์มากมาย มีการตรวจสอบสถานะแบบจริงจังว่า เรามีเตียงผู้ป่วย ห้องไอซียูพอที่จะรองรับผู้ป่วยหรือไม่ ทุกภาคส่วนล้วนร่วมมือกันว่าจะทำอะไรกันได้บ้างในฐานะทีมของประเทศไทย ผู้ที่เกี่ยวข้องปรับกระบวนการทำงานต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว” แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าวยกตัวอย่าง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ยังได้ยกตัวอย่างความร่วมมือของภาคเอกชน ในการก่อตั้งบริษัททำการวิจัยทางคลินิกในลักษณะศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) เพื่อยกระดับและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางด้านการรักษาโรคของประเทศไทย
ขณะที่ ดร.สุชาติ จองประเสริฐ ผู้อำนวยการกองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นการมีบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในฐานะพันธมิตรสู่ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ โดยยกตัวอย่างการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ได้เร่งเวลาในการปฏิบัติงานให้ทันต่อความจำเป็นของสถานการณ์ และสอดคล้องกับการทำงานของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน
“สำนัก อย. ได้อนุมัติวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 3 ชนิด โดยใช้ระยะเวลาจำนวน 29 วันสำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซเนกา ใช้เวลาจำนวน 28 วันสำหรับวัคซีนของชิโนแวค และใช้เวลาจำนวน 29 วันสำหรับวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดยปกติแล้วกระบวนการและขั้นตอนการจดทะเบียนยาหรือวัคซีนนั้น จะใช้เวลาในกระบวนการทำงานจำนวน 280 วัน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนั้นกลับใช้เวลาเฉลี่ยเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น นอกจากนี้ การจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้นั้น ประเทศไทยจะต้องเป็นผู้นำ โดยนำจุดแข็งทางการแพทย์มาใช้และทำงานให้ได้มากขึ้น ด้วยการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและการทำงานในรูปแบบพันธมิตรที่มีความหลากหลาย มีความร่วมมือกันตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและเน้นไปที่อนาคตหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว” ดร.สุชาติกล่าวทิ้งท้าย
พลเอก น.สพ.ดร.อีริก ดี. ลอมบาร์ดินี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐฯ) ซึ่งทำงานประสานกับสถาบันฯ ต่าง ๆ ทั่วโลก ได้แนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดกฎระเบียบหรือกระบวนการต่าง ๆ ให้น้อยลง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้วิถีการทำงานเปลี่ยนไป และในอนาคตการขจัดอุปสรรคต่างๆ จะช่วยให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
งานสัมมนาวิชาการครบรอบ 50 ปีของพรีม่า “50 Years of Health Innovation: Partnership for Regional Health Security” ได้จุดประกายให้มองไปถึงอนาคตของประเทศไทยในทศวรรษหน้าที่จะก้าวไปสู่ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ด้วยความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งแวดวงวิชาการ ซึ่ง พรีม่า พร้อมที่จะสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม และส่งเสริมความรอบรู้ทางด้านสุขภาพให้สมดังเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ต่อไป
พรีม่า เน้นย้ำ "เสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ เพื่อวางรากฐานสังคมและเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง" - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment