Rechercher dans ce blog

Sunday, April 4, 2021

'บัณฑิต เอื้ออาภรณ์' มองทางรอดมหา'ลัยไทย - มติชน

‘บัณฑิต เอื้ออาภรณ์’ มองทางรอดมหา’ลัยไทย

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติแต่งตั้ง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ดำรงตำแหน่งประธาน ทปอ.คนใหม่ แทน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่หมดวาระในวันที่ 31 ธันวาคม 2563

โดย ศ.ดร.บัณฑิต จะมีวาระดำรงตำแหน่งประธาน ทปอ. 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

คราวนี้ลองมาฟังนโยบาย หรือทิศทางการทำงานในฐานะประธาน ทปอ.จะเป็นไปในรูปแบบทางใด และมีแนวทางที่จะขับเคลื่อนอุดมศึกษาไทย ท่ามกลางสถานการณ์ และวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งภายในประเทศ และทั่วโลกอย่างไร

๐การทำงาน และบทบาทหลักของ ทปอ.?
“ทปอ.เป็นองค์กรที่อธิการบดีของแต่ละมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมาทำงานร่วมกัน ทปอ.เกิดขึ้นเพื่อทำให้การประสานงาน การทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ เป็นไปอย่างมีเอกภาพ และทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งบทบาทของ ทปอ.นั้น ไม่ใช่เป็นการสร้างหลักสูตร ไม่สอนนิสิตนักศึกษาโดยตรง ไม่มีอาจารย์ในสังกัดโดยตรง
ทปอ.ทำหน้าที่ประสาน เชื่อมโยง เป็นศูนย์กลางรวบรวมความคิดเห็นเรื่องของการพัฒนาการศึกษาใหม่ๆ และกระจายความรู้ให้แก่มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก อีกบทบาทหนึ่งของ ทปอ.คือการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะช่วยเหลือกันเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ บทบาทของ ทปอ.จะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.วิชาการ ทำอย่างไรจะทำให้คุณภาพการให้บริการด้านวิชาการ คุณภาพของการให้การศึกษากับนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.ให้ดีขึ้น 2.การสร้างวิจัย ทำนวัตกรรมให้กับสังคม และ 3.ดูแลระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส
โดย ทปอ.เป็นตัวกลางที่ช่วยมาบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ซึ่งระบบทีแคส เป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) และสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หน้าที่ของ ทปอ.คือช่วยรวบรวมคะแนน คัดเลือกตามระบบ และตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด และจะส่งข้อมูลกลับไปให้แต่ละมหาวิทยาลัยใช้ประกอบการคัดเลือกผู้สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
สิ่งเหล่านี้คือบทบาทหลักๆ ของ ทปอ.ดังนั้น หน้าที่ของผม และ ทปอ.คือประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่”

๐หนักใจหรือไม่ที่ต้องมารับหน้าที่นี้?
“ผมไม่หนักใจ และเข้าใจ ต้องยอมรับก่อนว่าระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในโลกนี้ ยังเป็นระบบการสอบอยู่ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย เพียงแต่จะมีวิธีการคิดคะแนนที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะใช้คะแนนสอบเป็นตัววัดบุคคลเข้าเรียนต่อ ซึ่งประเทศไทยก็ใช้ระบบแบบนี้ เรื่องการสอบของคนหมู่มาก และในบางครั้งอาจจะมีความติดขัดในบางจุดบ้าง”

๐เมื่อเร็วๆ นี้ มีดราม่า #เลื่อนสอบให้อนาคตของชาติ?
“ที่ผ่านมา การสอบมีปัญหาเรื่องความไม่พร้อมในการสอบ ซึ่งทุกการสอบ ไม่ว่าจะเป็นการสอบในห้องเรียน การสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีคนไม่พร้อมอยู่แล้ว แต่เมื่อทุกอย่างกำหนดไว้ล่วงหน้า และกฎกติการมีความแน่นอนชัดเจน เมื่อกระบวนการต่างๆ เดินหน้าตามกฎกติกาที่กำหนดกันไว้ ถ้าจะเปลี่ยน ก็จะกลายเป็นให้ประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม และคนอีกจำนวนมาก ก็อาจจะเสียประโยชน์ ดังนั้น การจะเลื่อนอะไร โดยที่มีเหตุไม่อันควร ก็อาจจะอธิบายกับสังคมยากการทำงานทุกครั้ง ก็มีคนไม่พอใจบ้าง ผมยอมรับในส่วนนี้ จึงไม่รู้สึกหนักใจ เพราะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องทำความเข้าใจ แต่อยากจะเรียนว่า การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ ทปอ.ที่รับผิดชอบเท่านั้น ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่รับผิดชอบด้วย ดังนั้น เวลาที่จะเลื่อนอะไร ไม่ได้กระทบแค่ ทปอ.เท่านั้น จะกระทบองค์กรอื่นๆ จำนวนมาก ซึ่งบางทีในบางหมวก เราอาจจะเข้าใจเฉพาะหมวกของเรา แต่ในหมวก หรือเงื่อนไขของคนอื่น อาจจะรู้ไม่ครบคลุมมากนัก ทปอ.จึงมีหน้าที่ชี้แจง ทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุด”

๐จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชาสัมพันธ์หรือไม่ เพราะถูกมองว่าไม่ชี้แจงเลย?
“ที่ผ่านมา ทปอ.ชี้แจง แต่อาจจะไม่ถูกใจคนจำนวนมาก การตัดสินใจต่างๆ เราต้องรักษาผลประโยชน์ของคนหมู่มาก ต้องยอมรับ และออกตัวว่า หลายเรื่องคงทำไม่ถูกใจหลายคนจริง ทปอ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ อ่านทุกความเห็น และใส่ใจในทุกข้อคิดเห็น ซึ่ง ทปอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมกันเยอะมาก หารือตลอดว่าหากเลื่อนการสอบจะมีผลอะไรบ้าง ผลที่หารือมีข้อสรุปว่าไม่สามารถเลื่อนสอบได้ เพราะยังอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ก็มีมาตรการในการจัดสอบ จึงตัดสินใจเดินหน้าต่อ”

๐มีข่าวว่าทีแคสประจำปีการศึกษา 2566 จะปรับใหญ่?
“รอบการสมัครจะเปลี่ยนไป เดิมระบบทีแคสจะมี 4 รอบ คือ รอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบ 2 โควต้า รอบ 3 แอดมิสชั่นส์ โดยรอบ 3 จะมีการคัดเลือก 2 รูปแบบ คือ แอดมิสชั่นส์ 1 (รับตรงร่วมกัน) และแอดมิสชั่นส์ 2 (รับกลางร่วมกัน) และรอบ 4 รับตรงอิสระ แต่ทีแคสปี 2565 จะเหลือ 4 รอบเช่นเดิม แต่ในรอบ 3 จะไม่มีรูปแบบแอดมิสชั่นส์ 2 แล้ว ให้เหลือแค่รูปแบบแอดมิสชั่นส์ 1 เท่านั้น
นอกจากนี้ การสอบจะมีระบบออนไลน์เข้ามาช่วยเยอะขึ้น เพื่อลดการใช้กระดาษ การขนข้อสอบ และการจัดสนามสอบ ซึ่งการสอบออนไลน์ถือเป็นความท้าทายในรูปแบบหนึ่ง คือจำนวนคอมพิวเตอร์ที่รองรับ ความพร้อมของเครื่อง ระบบอินเตอร์เน็ตจะติดขัดหรือไม่ ซึ่งทุกอย่างมีข้อดีข้อด้อย เพียงแต่ว่าเราจะปิดจุดด้อยได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ ทปอ.พิจารณา และคิดว่ามีความพร้อมที่จะสอบทางออนไลน์ ดังนั้น ต่อไปจะเห็นการสอบออนไลน์มากขึ้น
ส่วนการสอบต่างๆ จะปรับลดน้อยลด เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับนักเรียนมากนัก นอกจากนี้ อาจจะยกเลิกการนำผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ส่วนการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ยังคงมีอยู่ แต่อาจจะปรับข้อสอบบ้าง อย่างไรก็ตาม การสอบต่างๆ จะต้องตอบสนองความต้องการของหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยด้วย
ดังนั้น ทปอ.จึงมีหน้าที่เป็นคนกลาง ที่จะต้องตอบสนองต่อความต้องการของมหาวิทยาลัย และตอบสนองความต้องการของนักเรียนด้วย คือต้องลดความเครียดของนักเรียน และในขณะเดียวกัน ก็คัดเลือกนักเรียนได้ตามเงื่อนไขของแต่ละมหาวิทยาลัย ถ้าไม่ทำแบบนี้ เดี๋ยวมหาวิทยาลัยจะไปจัดสอบกันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหานักเรียนวิ่งรอกสอบ”

๐มองอนาคตมหาวิทยาลัยไทยอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างไร?
“เรารู้อยู่แล้วว่ามหาวิทยาลัยพบปัญหา เช่น จำนวนเด็กน้อยลง ผู้เรียนสามารถเรียนหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างประเทศผ่านทางออนไลน์ได้ เป็นต้น เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเป็นตัวกลางที่ทำให้รูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาเปลี่ยนแปลงไป ในสมัยก่อนผู้เรียน เรียนรู้ผ่านกระบวนการสอนของอาจารย์ แต่ในอนาคต การเรียนรู้ไม่จำเป็นที่ต้องมานั่งเรียนในชั้นเรียน และรออาจารย์เดินทางเข้ามาสอนแล้ว การเรียนรู้สามารถเรียนผ่านสื่อ ผ่านทางเลือกอื่นได้จำนวนมาก
ฉะนั้น มหาวิทยาลัยจะมีคู่แข่งมาขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ (Demand) น้อยลง แต่คู่แข่งกลับมากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะประสบปัญหามาขึ้นถ้าไม่ปรับตัว มหาวิทยาลัยจะอยู่รอดได้ ต้องมีคุณภาพ โดยต้องมีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ต้องมีความยืดหยุ่น ตอบสนองลูกค้า หรือผู้ที่อยากเรียนได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น การเรียนการสอนปัจจุบัน ผู้เรียนเกือบทั้งหมดเรียนตามที่ครูอาจารย์กำหนด คือจะต้องเรียนแบบนี้ เรียนชุดวิชาแบบนี้ แต่ในโลกอนาคต ชุดวิชาเหล่านี้อาจจะไม่ตอบสนองต่อโลกในอนาคต พูดง่ายๆ คือความรู้ล้าสมัยได้ ดังนั้น ต่อไปจะต้องเน้นเรื่องการสร้างทักษะ เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อที่จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยน์ได้โดยเร็ว สิ่งเหล่านี้เป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยในอนาคต”

๐มหาวิทยาลัยควรจะยืดหยุ่น และปรับตัวอย่างไร?
“ควรปรับตัว เช่น หลักสูตรเดิมที่สอนมา 40-50 ปี ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยน เพราะวันนี้การตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ในโลกนี้ ไม่ต้องการความรู้เพียงศาสตร์เดียวเข้ามาแก้ไขปัญหา ต้องมีความรู้ในหลายๆ ศาสตร์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ดังนั้น ศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ เป็นศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งความเชี่ยวชาญเฉพาะทางต่อไป จะสำคัญน้อยลง แต่การที่มีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ศาสตร์ จะมีความสำคัญมากขึ้น
ขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยจะปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อควบรวมความรู้ข้ามศาสตร์ให้น่าสนใจ และน่าชื่นชมได้อย่างไร สิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดได้ มีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.ตอบสนองความต้องการของสังคม โดยดูว่าหลักสูตรที่มีอยู่ตอบสนองความต้องการ ตอบปัญหา ตอบโจทย์ในสังคมหรือไม่ 2.มหาวิทยาลัยจะต้องผลิตที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และ 3.มหาวิทยาลัยต้องทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะบทบาทของมหาวิทยาลัยในวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่สอน ทำวิจัย แก้ปัญหาสังคม
บทบาทมหาวิทยาลัยใหม่ จะต้องบวกเพิ่มขึ้นจาก 3 ข้อที่ว่าไปอีก คือ 1.เป็นสถานที่ให้นิสิตนักศึกษา บุคคล คณาจารย์ทดลองความรู้ ความคิดใหม่ๆ 2.มหาวิทยาลัยต้องเชื่อมโยงกับภายนอกมากขึ้น จะอยู่บนหอคอยงาช้างไม่ได้ ต้องเชื่อมโยงกับภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม และ 3.มหาวิทยาลัยต้องเป็นคนสร้างนวัตกรรม เพราะไม่มีที่ไหนในโลกนี้ดีไปกว่ามหาวิทยาลัยที่จะเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา บุลคากรของตนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
อนาคตจะไม่มองถึงการผลิตคนสายวิทยาศาสตร์ สายสังคมศาสตร์แล้ว แต่จะมองถึงการผลิตคนที่มีความรู้ในหลายๆ ศาสตร์แทน ต้องผลิตคนที่มีความรู้ และรับใช้สังคมได้ วันนี้ไม่ได้แปลว่าจะต้องเรียนจบศาสตร์เดียวเท่านั้น จึงจะทำงานให้สังคมได้ เพราะสังคมต้องการคนที่จบหลายๆ ศาสตร์ ดังนั้น หลักสูตรที่มีการข้ามศาสตร์ หรือรวมหลายศาสตร์ จะมีความต้องการมากขึ้น”

๐การรีสกิล อัพสกิล ยังเป็นสิ่งสำคัญหรือไม่?
“ใช่ครับ มหาวิทยาลัยต้องดูแลนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ผู้ที่เรียนจบออกไปแล้ว และประชาชนที่ต้องการพัฒนาตนเอง เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยได้ อาจจะเรียนผ่านหลักสูตร เรียนผ่านรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นต้น ต่อไปในอนาคตการเรียนการสอนต้องยืดหยุ่นมาขึ้น และการยืดหยุ่นนี้ต้องไม่ตายตัว และตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก คือ เด็กอยากเรียนอะไร ต้องได้เรียนมากขึ้น”

๐ปัจจุบันมีนิสิตนักศึกษาชุมนุมทางการเมือง และถูกดำเนินคดีมากขึ้น ทปอ.มีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร?
“นิสิตนักศึกษาที่ไปประกอบกิจกรรม และอาจจะผิดกฎหมาย เมื่อเกิดปัญหาเนื่องจากความเห็นต่างบ้าง ทปอ.จะทำหน้าที่ประสาน เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นต้นสังกัดของนิสิตนักศึกษาเหล่านั้นได้รับทราบ โดยมหาวิทยาลัยที่นิสิตนักศึกษาสังกัดอยู่ จะเป็นผู้ดูแลโดยตรง โดยที่ ทปอ.จะมีหน้าที่เชื่อมโยง ประสานข้อมูลข่าวสารให้เท่านั้น”

๐งานที่รับผิดชอบค่อนข้างหนัก บริหารจัดการเวลาอย่างไร?
“ผมมีคนเก่งๆ ช่วยเยอะ ผมโชคดีในส่วนนี้ เมื่อมีคนเก่งๆ ที่เป็นบุคลากรในจุฬาฯ บุคลากรในสังกัด ทปอ.มาช่วยเยอะ ทำให้งานที่รับผิดชอบอยู่ไม่หนักมากนัก”

๐คติในการทำงาน?
“เราทำทุกอย่างในวันนี้ให้เต็มที่ และพยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งเราจะไม่มีความรู้สึกเสียดาย เสียใจในภายหลัง จะไม่คิดว่าเรายังทำไม่เต็มที่ ทำไมวันนั้นเราไม่ทำ ถ้าทำคงดีกว่านี้ ผมไม่มีความคิดพวกนี้ เพราะทำงานอย่างเต็มทุกอย่างแล้ว และได้เท่าไหร่ เราก็พอใจเท่านั้น”

๐งานอดิเรกยามว่าง?
“ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย คุยกับคนที่มีความคิดคล้ายกัน รสนิยมคล้ายกัน ก็เป็นการจรรโลงจิตใจ ส่วนเพลงก็ฟังได้เรื่อยๆ ตั้งแต่เพลงคลาสสิค เพลงป๊อป เพลงลูกทุ่ม เพลงต่างชาติ ผมชอบฟังหมด กีฬาก็เล่นทุกอย่าง ช่วงหลังๆ ถ้ามีเวลาเยอะ ก็เดินในหมู่บ้าน แต่หลังๆ จะไปออกกำลังกับผู้บริหารในมหาวิทยาลัยบ้าง ไปออกกำลังในโรงยิมมหาวิทยาลัย ผมเข้าคิวจองเหมือนนิสิต ไม่ได้ไปบอกว่าเนี่ย ครูมาแล้วจะยึดสนาม ไม่มี ไปทานอาหารแถวสามย่าน ก็เข้าคิว ไม่ไปลัดคิวใครทั้งสิ้น เพราะต้องการรู้ว่านิสิตที่รับบริการจากเราเป็นอย่างไร และจะได้นำมาปรับปรุงถูก”

Let's block ads! (Why?)


'บัณฑิต เอื้ออาภรณ์' มองทางรอดมหา'ลัยไทย - มติชน
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...