Rechercher dans ce blog

Monday, April 5, 2021

วรเจตน์-นิธิ มองสภาวะเสรีภาพทางวิชาการเสื่อมถอย กับการใช้อำนาจดิบที่เพิ่มขึ้น - บีบีซีไทย

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นั่งอยู่หน้าจอที่มีภาพนิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

2 ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ และกฎหมายมหาชน เห็นตรงกันว่ารัฐไทยกำลังใช้อำนาจกดทับเพื่อสกัดกั้นการผลิตองค์ความรู้ใหม่ ๆ หลังชุดความรู้และความจริงแบบดั้งเดิมถูกท้าทายอย่างหนัก เป็นการ "สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว" ซึ่งทำให้เสรีภาพทางวิชาการยิ่งถดถอย

ในระหว่างร่วมงานเสวนา "เสรีภาพทางวิชาการในสภาวะเสื่อมถอย" ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ชี้ว่า เสรีภาพทางวิชาการเกี่ยวข้องกับความรู้และระบบความรู้ของสังคมนั้น ๆ โดยที่ความรู้ก็สัมพันธ์อยู่กับอำนาจของกลุ่มคนในสังคม ความรู้ชนิดหนึ่งให้อำนาจแก่คนกลุ่มหนึ่ง มีผลประโยชน์ เกียรติยศ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ จึงมีกลไกอื่น ๆ ที่ช่วยผดุงให้ความรู้ดำรงอยู่ได้ หรือที่เรียกกันว่า "ความรู้คืออำนาจ"

จากการเฝ้าสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สังคมการเมืองไทย นักวิชาการวัย 80 ปีพบว่า ความรู้ที่ผดุงโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ "กำลังพังลง"

"ไม่ต้องชูสามนิ้ว ก็เห็นชัด ๆ อะไรที่เคยเชื่อว่าเป็นความจริง ถูกตั้งคำถาม และให้คำตอบใหม่ที่มีเหตุมีผลมากกว่าความรู้เดิมเคยให้ไว้ทั้งสิ้น และไปกระทบต่ออำนาจ ผลประโยชน์ เกียรติยศอื่น ๆ ที่ปรากฏในสังคมไทยอย่างยิ่ง" ศ.ดร. นิธิกล่าว

ผลที่ตามมาจากการพังทลายของความรู้แบบดั้งเดิม ทำให้ไม่เหลือผู้ทำหน้าที่ควบคุมระบบความรู้ที่มีอยู่ในสังคมไทยได้ ซึ่งปัญญาชนสาธารณะรายนี้ระบุว่า สมัยหนึ่งเราเชื่อกันว่าอธิการบดีจะสามารถควบคุมให้การเผยแพร่ความรู้ชนิดหนึ่ง สามารถส่งผ่านให้คนรุ่นหลังในมหาวิทยาลัยได้ แต่ไม่ใช่กับสมัยนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงโรงเรียนมัธยมที่มันพังลงหมดแล้ว เพราะนักเรียนสามารถแสวงหาความรู้จากทางอื่นที่ไม่ใช่โรงเรียนอย่างเดียวได้ ความรู้ที่เป็นอยู่ในสังคมไทยจึงไม่มีทางควบคุมผดุงไว้ได้ ต้องอาศัยอำนาจรัฐ

"นี่เป็นเป็นเหตุผลให้ รมว. การอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ต้องออกมาคุกคามอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะไม่มีทางเลือกอื่น.. ทางรอดทางเดียวของเขาจึงอยู่ที่การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้เสรีภาพทางวิชาการเสื่อมถอย" ศ.ดร. นิธิกล่าว

เสรีภาพในการชุมนุมกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ยังเล่าย้อนความหลังเมื่อครั้งที่ "ความทันสมัย" เข้ามาถึงเมืองไทยในศตวรรษที่ 19 โดยชนชั้นนำไทยฉลาดในการกลืนกระแสจากภายนอกที่เป็นสากล แล้วเปลี่ยนระบบความรู้ได้ตามสมควร หนึ่งในระบบความรู้ที่ชนชั้นนำไทยสร้างขึ้นและผดุงระบบไว้ได้ดีที่สุดคือความรู้เกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" หรือพูดสั้น ๆ ว่า "ความเป็นไทยกับความเป็นวัง" เป็นอันเดียวกัน ทว่าเมื่อลองคิดเทียบกับปัจจุบัน ระบบความรู้แบบเก่าผลิตคนเก่ง ๆ ขึ้นมาบ้างไหม คำตอบคือศูนย์

"ความเสื่อมถอยของเสรีภาพทางวิชาการ เสื่อมถอยพร้อมการพังสลายของระบบความรู้ที่จะรองรับอำนาจและผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ดังนั้นคุณจะเห็นชะตากรรมของชนชั้นนำที่ต้องอาศัยแต่อำนาจดิบ ๆ ผ่านกฎหมาย ผ่านปืน ผ่านตำรวจควบคุมฝูงชน ในการผดุงรักษาอำนาจผลประโยชน์ของพวกคุณไว้ เพราะไม่มีระบบความรู้รองรับมันเพียงพอ" ศ.ดร. นิธิกล่าว

คนฟังในห้องประชุม บนจอเป็นภาพ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

นักวิชาการรายนี้ย้ำด้วยว่า เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้ลอยอยู่โดด ๆ แต่สัมพันธ์กับเสรีภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น การห้ามอ่านหนังสือจึงเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับเสรีภาพในการชุมนุมที่กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอย่างยิ่ง เพราะการชุมนุมคือการพยายามบอกความรู้ แต่แทนที่จะมีเชิงอรรถ ก็บอกผ่านการชุมนุม ดังนั้นภายใต้ระบอบที่กดขี่ทุกอย่าง การเรียกร้องแต่เสรีภาพทางวิชาการเพียงอย่างเดียว จึงไม่เพียงพอ

รากเหง้า-ปัญหา "เสรีภาพทางวิชาการ" ที่คุ้มครองโดย รธน.

ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. เล่าวิวัฒนาการของการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย 4 ฉบับ เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ 2517 ก่อนหายไปพักใหญ่ แล้วกลับมาปรากฏอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2560 โดยในปี 2517 มีการอภิปรายถกเถียงกันในชั้นจัดทำรัฐธรรมนูญว่าควรมีการกำหนดขอบเขตเสรีภาพทางวิชาการหรือไม่

  • ฝ่าย ศ.ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ เห็นว่าไม่ต้องเขียนข้อจำกัดเอาไว้ เพราะถูกจำกัดอยู่แล้วโดยตัวสภาพของเสรีภาพ เช่น จะเอามนุษย์มาทดลองไม่ได้ เพราะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  • ฝ่ายนักกฎหมายที่ ศ.ดร. วรเจตน์ไม่ประสงค์เอ่ยนาม เห็นว่าต้องจำกัดโดยเอา "หน้าที่พลเมือง" มาล้อมเอาไว้ เพราะเกิดความหวาดหวั่น เนื่องจากตอนนั้นในมหาวิทยาลัย เวลาใครสอนเรื่องระบบการเมืองการปกครองจะมีการพูดถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในอีก 2 ปีต่อมา

สุดท้ายนักกฎหมายเป็นฝ่ายชนะโหวต และเป็นที่มาของข้อความว่า "เสรีภาพทางวิชาการต้องไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมือง" ในรัฐธรรมนูญ 2517

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการเช่นกัน แต่การใช้เสรีภาพต้อง "ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" และ "ต้องไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น"

ศ.ดร. วรเจตน์จึงมองว่า รัฐไทยไม่ถึงขนาดเต็มใจให้มี และคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการนัก และยังเกิดปัญหากระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการทั้งจากการใช้อำนาจของรัฐเอง และประชาชนที่ไม่เข้าใจวิธีการทำงานทางวิชาการ จึงรับไม่ได้กับการนำเสนอบางอย่าง เพราะรู้สึกเป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น ทำให้เราจมอยู่กับข้อเสนอเดิม ๆ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

"กฎหมายเขียนไว้ว่าบุคคลมีเสรีภาพทางวิชาการ แต่อาจถูกตีหัว ถูกเผาหุ่น อาจถูกเรียกดำเนินคดีได้" อาจารย์กลุ่ม "นิติราษฎร์" ผู้มีประสบการณ์ถูกชายที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ดักชกที่ลานจอดรถคณะนิติศาสตร์ มธ. หลังออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112 เมื่อปี 2555 ระบุ

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. วรเจตน์ยอมรับว่า "บางเรื่องมีเพดานในการพูด" โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ หากไปสืบค้นหลักฐานในอดีต ตีความ แล้วเสนอออกมากระทบกับความเชื่อเดิม ส่วนสาขาวิชานิติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวพันกับอำนาจทางกฎหมาย หากไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ แล้วเกิดไปวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาเข้า ก็จะเจอ "กฎหมายตระกูลหมิ่น" ตั้งแต่หมิ่นกษัตริย์ หมิ่นศาล ยันหมิ่นบุคคลธรรมดา เหล่านี้คือปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพทางวิชาการได้เต็มที่ เพราะมีกรอบกฎหมายและกรอบวัฒนธรรมกำกับอยู่ ด้วยเหตุนี้ "การสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวจึงเป็นการกระทบเสรีภาพทางวิชาการแบบหนึ่ง"

บรรยากาศแห่งความกลัว จากกรณีวิทยานิพนธ์ ณัฐพล ใจจริง

ตัวอย่างการ "สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว" ในแวดวงวิชาการที่ถูกหยิบยกมาอภิปรายอย่างกว้างขวางในงานเสวนาวันนี้ หนีไม่พ้น กรณีอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงนามใน "คำสั่งลับ" แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของ ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง หลัง ศ.ดร. ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจพบความผิดพลาดในรายการอ้างอิง

ตามด้วยกรณี ม.ร.ว. ปรียนันทนา รังสิต หลานสาวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านบาทจาก ผศ.ดร. ณัฐพล ผู้เขียนวิทยานิพนธ์, รศ.ดร. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูล

หนังสือ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ล่าสุดในวันที่ 7 มิ.ย. ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ห้ามไม่ให้เผยแพร่หนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" และ "ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีฯ" ซึ่งปรับปรุงและดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์ของ ผศ.ดร. ณัฐพล ในระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้ ศ.ดร. วรเจตน์ตั้งคำถามต่อการลากเอาอาจารย์ที่ปรึกษาไปเป็นผู้ต้องหาร่วมในคดี รวมถึงการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้ฟ้อง เนื่องจากจุฬาฯ สั่งปกปิดวิทยานิพนธ์ไปแล้ว และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้นำวิทยานิพนธ์มาตีมาพิมพ์เป็นหนังสือ 2 เล่ม จึงอยากถามว่าแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาไปเกี่ยวอะไรด้วยกับการตีพิมพ์หนังสือ 2 เล่มนี้

"มันคือการสร้างความรู้สึกต่อนักวิชาการในมหาวิทยาลัยทั้งหลายหรือไม่ว่า ใครก็ตามที่จะรับเป็นที่ปรึกษางานเขียนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ต้องระวังตัวให้ดี คุณอย่าพลาด ถ้าพลาดจะเจอปัญหาเหล่านี้ ผมว่ามันมากกว่าการฟ้องคดีปกติ แต่เป็นการสร้างบรรยากาศขึ้นมา" ศ.ดร. วรเจตน์กล่าว

หลังทราบข่าวว่าอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาค้นเจอและชี้ให้เห็นถึงความคลาดเคลื่อน ศ. ด้านกฎหมายมหาชนต่างสถาบันบอกว่า "ต้องขอบคุณ" เพราะเป็นสิ่งที่นักวิชาการพึงกระทำ และส่วนตัวรู้สึก "ดีใจมาก" เนื่องจากลูกศิษย์คนหนึ่งได้อ้างอิงงานของ ผศ.ดร. ณัฐพล ในงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของคณะนิติศาสตร์ มธ. ด้วย

"ผมเป็นที่ปรึกษาเล่ม ตอนที่อ่าน ผมก็สะดุดนิดหน่อย แต่คิดว่าอาจารย์ณัฐพล น่าจะอ้างมาดีแล้ว จึงไม่ได้บอกให้เขาไปตรวจเช็กต้นฉบับ" ศ.ดร. วรเจตน์กล่าว

เขาเห็นว่ากรณีนี้ "ถือเป็นความบกพร่อง" ที่เกิดขึ้นได้จากการอ่านเอกสารหลักฐานจำนวนมาก แต่ไม่คิดว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายถึงขนาดจะเพิกถอนปริญญา หรือตั้งคณะกรรมการสอบในทางลับ เพราะมีอยู่ 1 จุดที่ ผศ.ดร. ณัฐพลยอมรับความผิดพลาดในรายการอ้างอิง กรณีระบุว่า "กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระยศในขณะนั้น) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้เสด็จเข้าไปนั่งเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี" ส่วนที่ผู้ทักท้วงอ้างว่ามีความผิดอีก 30 จุด น่าจะเป็นปัญหาการตีความบทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ ในรัฐประหาร 2490 ไม่ตรงกัน ไม่ใช่เรื่องความผิด และมองว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการตีความของ ผศ.ดร. ณัฐพล มีหน้าที่ต้องเขียนบทความมาหักล้างโต้แย้งในทางวิชาการ แต่ไม่ใช่การฟ้องคดี

อาจารย์วรเจตน์วิเคราะห์ว่า เหตุที่กรณี ผศ.ดร. ณัฐพล กลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย เป็นผลจากบริบทสังคมการเมืองในปัจจุบัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือทั้ง 2 เล่มเป็นหนังสือขายดีที่ได้รับความนิยมในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาว ซึ่งเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองแบบไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดสภาพการณ์แบบ "พยายามเบรก"

"มันไม่ใช่เรื่องเสรีภาพทางวิชาการแล้ว แต่คือจิ๊กซอว์อันหนึ่งของบริบททางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น.. การโจมตีงานวิทยานิพนธ์นี้แยกไม่ออกกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จริง ๆ ก็เกิดขึ้นหลายปีแล้ว แต่นี่เข้าสู่อีกระยะหนึ่งเมื่อคนหนุ่มสาวเข้ามา" ศ.ดร. วรเจตน์ให้ความเห็น

ผู้เสวนาบนเวที

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

"เหยื่ออันโอชะ" กับ "การปกป้องเสรีภาพทั้งปวง"

นักกฎหมายรายนี้ชี้ว่า คนที่มีความเห็น-จินตนาการการเมืองการปกครองแตกต่างไปจากที่ผู้คนใฝ่หา อาจไม่มีกำลังทางปัญญามากพอในการหาข้อโต้แย้งได้อย่างมีเหตุผล "เป็นธรรมดาที่เวลาสติปัญญาถดถอยลง การใช้อำนาจกดทับก็จะมากขึ้น" และ "ผมคิดว่าทั้งหลายทั้งปวงเป็นการวัดกันในแง่อำนาจและความเป็นจริง"

ศ.ดร. วรเจตน์ เป็นนักวิชาการที่ต้องวิ่งขึ้น-ลงศาลทหาร จากคดีขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เรียกไปรายงานตัวหลังรัฐประหารปี 2557 ซึ่งสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจหนนั้น ทำให้เขาคิดว่านักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าคงประสบปัญหา และเคยพูดกับเพื่อน ๆ วงในว่า "ไม่แน่ใจว่าจะได้ทำงานได้ตลอดรอดฝั่ง จนได้เกษียณอายุราชการไหม" ดังนั้นท่าทีของ รมว.การอุดมศึกษา" ที่ปรากฏ ณ ปัจจุบัน จึงเป็นทิศทางหลักของฝ่ายที่พยายามควบคุมในช่วงของการสร้างระบอบใหม่ขึ้นมา ท่ามกลางแรงกระเพื่อมและแรงต้าน

เขาจึงสรุปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ผศ.ดร. ณัฐพล เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในความหมายที่เป็นความมั่นคงและมีความอ่อนไหว

"เห็นใจอาจารย์ณัฐพล บังเอิญมีความผิดพลาด 1 จุดเกิดขึ้นในบริบทนี้พอดี จึงเหมือนเป็น "เหยื่ออันโอชะ" ของความรู้แบบใหม่ที่จะมาท้าทายความรู้แบบเดิมที่ดำรงอยู่" ศ. ด้านกฎหมายมหาชนบอก

แม้เป็นปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า แต่เขาก็กล้าเอ่ยปากเตือนเพื่อนร่วมวงการ "ฝ่ายประชาธิปไตยต้องระมัดระวังด้วย อะไรที่เราไม่ถูก มันก็คือไม่ถูกอ่ะ" พร้อมยืนยันว่า การปกป้องกรณีนี้ไม่ใช่การปกป้องข้อผิดพลาดของ ผศ.ดร. ณัฐพล เพราะเขาก็ยอมรับว่ามีความผิดอยู่หนึ่งจุด แต่คือการปกป้องบรรยากาศของเสรีภาพทั้งปวง

ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ตร. นอกเครื่องแบบถ่ายภาพผู้ร่วมฟังเสวนา

เวทีเสวนาจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ช่วงบ่ายวันนี้ (5 เม.ย.) ทว่าก่อนกิจกรรมจะเริ่มขึ้น ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มธ. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่คณะว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบมานั่งไล่ถ่ายหน้าของผู้ร่วมฟัง

"ทางเจ้าหน้าที่รัฐกลัวว่าเราจะไม่มีวัตถุดิบในการพูดเรื่องนี้อย่างหนักแน่นเพียงพอ เพราะฉะนั้นการคุกคามจึงเริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน" ผศ.ดร. ประจักษ์เล่าให้ผู้ร่วมเสวนาฟัง

"แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ชอบเอาขนมไปฟรี ฟังไม่จบ ถ่ายรูปแล้วก็หนีไปก่อน.. เราเป็นงานเสวนาเปิดเผย ภาพมาขอจากคณะได้ ส่วนไฟล์เสียง เอาได้จากศูนย์วิจัยดิเรกฯ ได้ และอย่าลืมกดติดตามด้วยจะได้เพิ่ม KPI ให้คณะ" เขากล่าวก่อนแนะนำวิทยากรผู้ร่วมเสวนา

Let's block ads! (Why?)


วรเจตน์-นิธิ มองสภาวะเสรีภาพทางวิชาการเสื่อมถอย กับการใช้อำนาจดิบที่เพิ่มขึ้น - บีบีซีไทย
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...