กองแช่งไม่ต้องลุ้นต่อ เสือจนตรอก ถอดใจหรือเปล่า
ข่าวแนะนำ
ที่เม้าท์กระหึ่มวงการเมืองว่า “บิ๊กตู่” ทำท่าเตรียมใช้ “ทางออกฉุกเฉิน” ยุบสภาหนีวิกฤติ แต่ ณ วันนี้ผู้นำก็ทำให้เห็นแล้วว่า ยืนยัน “อยู่ต่อ” เพื่อแก้ปัญหา “ไม่ได้โทษใคร ถ้ามันไม่ดี ผมก็ต้องรับผิดชอบ”
ในช่วงที่เห็นได้ว่า ต้องเร่งเครื่อง “ช็อตแก้ไข”
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาด ตรวจโรงพยาบาลสนาม รับฟังภาคธุรกิจเอกชน ปรับเปลี่ยนมาตรการ ไฟเขียวให้โรงพยาบาลเอกชน ภาคธุรกิจนำเข้าวัคซีนเจ้าอื่น เพิ่มเติม จากที่รัฐบาลจัดหาเดิม 60 กว่าล้านโดส เพิ่มถึง 100 ล้านโดสภายในปีนี้
ให้เข้าสูตรสัดส่วน “สร้างภูมิคุ้มกันหมู่”
เป็นจังหวะที่ “นายกฯ” ถึงคิวต้องลงหน้างาน เวนคืนอำนาจ ทั้งเรื่องวัคซีน “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข หน้าหงาย ไม่มีชื่ออยู่ในทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม
ถึงเวลาที่ “บิ๊กตู่” ต้องขันนอตกลไกคุมโควิด กระทั่งเบอร์โทร.สายด่วน ทั้ง 1168ของกรมการแพทย์ และ 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ที่ผู้นำทดสอบต่อสายเองจนแจ็กพอตแตก ไม่มีใครรับสาย ฉุนกึ้กสั่งเร่งแก้ไข
ทำเอา “หมอหนู” จุกเสียดไปมิใช่น้อย
โดยเฉพาะสายด่วน 1669 ที่ก่อนหน้านี้ถูกทั้งกระตุกกระตุ้น สพฉ. ให้จัดแผนเตรียมตัวรับสถานการณ์ แต่อาจเพราะอยู่ในช่วงสรรหาเลขาธิการ สพฉ. สุดท้ายได้ “หน้าเก่า” คัมแบ็ก “เปลี่ยนไม่ผ่าน” ท่ามกลางเสียงทักท้วง-แรงต้านครึกโครม “หมอหนู” ร้องเพลง “หนูไม่รู้ หนูหูไม่เบา” จ่อเปิดไฟเขียว
ถือเป็นอีกจุดที่ผู้นำต้องสแกนทางลึก
กระทั่งจุดสำคัญ ที่ทีมจัดหาวัคซีนเสนอ คือ “องค์การเภสัชกรรม” กับการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและกระจายต่อไปยังเอกชน วันนี้ “รัฐวิสาหกิจ” กระทรวงสาธารณสุขจะต้องไม่เป็น “รัฐอิสระ”
หน่วยงานและปมจัดหาวัคซีนที่ “บิ๊กตู่” ต้องเข้าไปเช็ก ในเดิมพัน “ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” “วัคซีน” เป็นตัวกำหนด
วัคซีนช้า-โควิดหนัก กลไกอื่นๆก็ขับเคลื่อนยาก
กระทั่งสถานการณ์ “อำนาจ” ที่ “บิ๊กตู่” เข้าสู่ “กับดักการเมือง” โควิดกระหน่ำจนแผน “ไปต่อ” ส่อ “ล่ม”
วงในคณะจัดทำพิมพ์เขียว “ต่ออำนาจ” 3 ป. ทหารเฒ่าเฟสต่อไป มุ่งที่ “วัคซีน”
ระดมทัพหมอใหญ่-ผู้เชี่ยวชาญมาเป็น “ตัวช่วย”
นอกจากทีมจัดหา นำโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค. ยังมีทีมที่ปรึกษาการฉีดวัคซีนโควิด คับคั่ง เช่น นพ.ปิยะสกล นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รวมทั้ง นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี อีกคุณหมอผู้มีบทบาทสำคัญ
ตีธงตั้งแต่เดือน มิ.ย. ลากยาวไปถึงสิ้นปี ดึงโฟกัสทุกสายตาไปที่คิวฉีดวัคซีน กระตุกแต้มชาวบ้าน
ตามไทม์ไลน์เดิมที่วางไว้ ในเงื่อนเวลา ลากอำนาจให้ผ่านถึงไตรมาส 3 สิ้น ก.ย. ต้น ต.ค. เป็นต้นไป วัคซีนมา โควิด-19 จาง อัดงบฯ เยียวยาดูแลประชาชนอีกรอบ
เทสต์แต้ม เช็กเรตติ้งรอบ 3 จากเลือกตั้ง อบจ. เทศบาล สู่สนามเลือกตั้ง อบต.
ส่วนคิวเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปลายปี ลาสต์เทสต์ “เช็กสภาพการณ์” ครั้งสุดท้าย ต้องรอลุ้นปรับเปลี่ยน
อาจปักหมุดเหตุฉุกเฉิน เร่งล้างกระดานเมื่อถึงจุดได้เปรียบ
คู่ขนานไปกับเวลานี้ การจัดทัพ แยกพรรค เปิดค่ายในยุทธการ “แตกแบงก์พัน” ตามเป้าหมายไม่พึ่งพรรคร่วม ให้หายใจติดขัดอย่างที่ผ่านมา
เป็นพิมพ์เขียว “3 ป. ทหารเฒ่า” คืนสู่อำนาจอีกรอบ
เพียงแต่รอบหน้าคัมแบ็กครบทีมหรือไม่ หรือเข้าสูตร “น้องไม่ไหว-ก็ให้พี่ๆ” ล้อยุค รสช.
ทั้งหมดทั้งปวง เส้นทางหรูที่วางไว้จะพังพาบหรือไม่ นอกจากอยู่ท่ีปัจจัยโควิดและวัคซีน
ยังรวมถึงสัจธรรมอำนาจที่ว่า
“เหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ”.
ทีมข่าวการเมือง
ทางหรูกับเหตุฉุกเฉิน - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment