Rechercher dans ce blog

Sunday, April 25, 2021

ผ่าทางตันวิกฤติโควิดรัฐบาลประยุทธ์ : วัคซีนไม่ใช่คำตอบ - ไทยรัฐ

ถึงจุดหนึ่งห้องไอซียูเต็มเตียงเต็ม และมีผู้ป่วยใหม่เข้ามาตลอด ย่อมเป็นปัญหาตามมา เคย เกิดขึ้นในหลายประเทศ พอมีผู้ป่วยมากๆต้องเลือกว่าจะรักษาใคร ไม่รักษาใคร ไม่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ฉะนั้นควรเริ่มมองไปในอนาคตอันใกล้ สถานการณ์ที่เลวร้ายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ต้องวางแผนอย่างไร เช่น การบริหารเตียงไอซียู บริหารเตียงโรงพยาบาล (รพ.) บริหาร รพ.สนามอย่างไร เพราะไม่เพียงพอรับผู้ป่วยแน่

สมมติผู้ป่วย 2 พันกว่าทุกวัน เป็นไปไม่ได้จะให้ทุกคนมาอยู่ รพ.สนามหรือฮอสพิเทล จังหวะนี้วิธีคิดต้องเริ่มเปลี่ยน เหมือนกับคำว่า การทำให้ดีที่สุดเป็นศัตรูของการทำให้ดีกว่า หรือ The best is enemy of better เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องทำในสิ่งที่ดีกว่า ไม่ใช่เอาทุกอย่างให้เพียบพร้อมดีที่สุดถึงจะทำ

แน่นอนผู้ป่วยทุกคนอยากอยู่ รพ. แต่มันเป็นไปไม่ได้แล้ว เราเริ่มเห็นผู้ป่วยเปราะบางจำนวนหนึ่ง ต้องมาอยู่ รพ. หากมีคนที่มีความจำเป็นน้อยกว่ามาอยู่ รพ. กลายเป็นสกัดกั้น ทำให้คนควรอยู่ รพ.ไม่ได้อยู่

การจัดการในสถานการณ์อันมีทรัพยากรจำกัด จะทำให้ดีที่สุดมันเป็นไปไม่ได้ ต้องเริ่มคิดให้คนที่อาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ ไม่ต้องมาอยู่ รพ.สนาม สามารถอยู่ที่บ้านได้ ในหลายประเทศทั้งอังกฤษ สหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยเป็นล้าน ก็ให้อยู่บ้านและมอนิเตอร์อาการ

ฉะนั้นควรวางระบบให้ผู้ป่วยอยู่บ้านอย่างปลอดภัย ทั้งวิธีปฏิบัติ การเชื่อมโยงข้อมูลให้ได้ว่าคนที่มีเชื้อเป็นบวกอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ไหน มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อได้ รัฐจับเครื่องมือให้มอนิเตอร์ตัวเองตลอดเวลา เช่น วัดไข้ทุกวันๆ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด แล้วส่งข้อมูลให้ สธ.ทุกวัน

เราก็รู้ว่าค่าออกซิเจนคนนี้ปกติ ไม่อยู่ในภาวะแพร่เชื้อ คนไหนมีค่าออกซิเจนต่ำ อาจรับมาอยู่ รพ. เพราะเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง แม้ไม่มีอาการ หากปล่อยไปเรื่อยๆถึงจุดนี้คุณตาย หรือมาถึง รพ.ก็รักษาไม่ทัน

มาตรการนี้รัฐประหยัดงบประมาณ แถมมอนิเตอร์คนป่วยได้ตลอดเวลา

การวางแผนบริหารจัดการฉีดวัคซีนและการรณรงค์ป้องกันตัวเองก็เช่นกัน ตอนนี้ตั้งเป้าหาวัคซีน 100 ล้านโดส ฉีด 50 ล้านคน วันนี้ถ้าใช้ความพยายาม เสริมด้วยคอนเนกชัน รับรอง หาได้ ไม่เป็นห่วง

ห่วงระบบบริหารการฉีด ตั้งแต่ระบบลงทะเบียน ระบบการฉีด

ระบบดูแลหลังการฉีด ระบบนัดฉีดครั้งต่อไป สถานที่ฉีด

เป็นเรื่องที่คิดล่วงหน้า เริ่มให้ลงทะเบียนผ่าน “แอปพลิเคชันหมอพร้อม” ทำได้มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ สถานที่ฉีดไม่จำเป็นต้องเฉพาะที่ รพ. ในหลายประเทศฉีดที่ห้องสมุด ศูนย์การค้า

10 ล้านโดสวัคซีนแอสตราเซเนกาเข้ามาเดือน มิ.ย. เหลือเวลา 1 เดือนต้องเริ่มเตรียมการให้เร็ว ทั้งระบบลงทะเบียนฉีด สถานที่ฉีดที่สะดวกต่อประชาชน บุคลากรที่มาฉีด อาจระดมบุคลากรที่เกษียณอายุราชการมาเสริมหรือดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และมอนิเตอร์หลังฉีด เพราะอาจอาการไม่พึงประสงค์ แต่ไม่ได้เป็นประเด็นถึงชีวิต

ขอให้เดินตามนี้ วางแผนแล้วสร้างทีมล่วงหน้า ลุยฉีดให้ได้วันละ 3 แสนโดส 1 เดือน 10 ล้านโดส 100 โดสตามที่ ศบค.วางเป้าไว้ก็ใช้เวลา 10 เดือนในการฉีด

พอฉีดเสร็จต้องดูแลตัวเองจนถึงจุดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ในบางประเทศ ทั้งชิลี เดนมาร์ก ฉีดไปได้หน่อยแล้วผ่อนคลาย ต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ

ขณะเดียวกันมีข้อควรคำนึงถึงภูมิคุ้มกันหลังฉีดได้แค่ 6 เดือน หลังจากนั้นไม่รู้ว่ามีภูมิอยู่หรือไม่ อิสราเอลเริ่มสั่งวัคซีนเข็มที่ 3 หลังฉีดไป 2 เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้อยู่ต่อไป ต่อไปฉีดทุกปีหรือไม่ก็ยังไม่มีใครรู้ และวัคซีนที่ฉีดป้องกันโควิดสายพันธุ์อื่นหรือไม่ ที่กังวลคือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ถ้าหลุดเข้ามาไทยจะป้องกันได้แค่ไหน

วัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ต้องป้องกันตัวเองจนถึงจุดที่มียารักษา

ตอนนี้มียาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” บริษัทเมอร์ค สหรัฐอเมริกา หากผลวิจัยเฟส 3 ออกมาดี เชื่อว่าจะมีการอนุมัติฉุกเฉิน หากมียารักษาได้จริง โรคที่เราเผชิญอยู่ก็ไม่ต้องกังวลต่อไป

ขั้นตอนการนำเข้ายา หรือวัคซีนทำไมใช้ระยะเวลานาน มีขั้นตอนมาก ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส นพ.สุรพงษ์ บอกว่า ไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาด้านความไม่โปร่งใส ต้องไปเร่งที่กระบวนการ อย่างอังกฤษประเทศแรกที่อนุมัติฉุกเฉินวัคซีนไฟเซอร์ภายใน 1 สัปดาห์ ภายใต้รัฐบาลอังกฤษไม่รับประกันความเสี่ยง ฉะนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหลายเรื่องมันมีโอกาสอนุมัติฉุกเฉิน ฉับไวได้ภายใน 1 สัปดาห์

ที่ผ่านมาปัญหาวัคซีนเกิดจาก 1.ไม่มีการประเมินถึงสถานการณ์ที่เลวร้าย โดยเฉพาะสถานการณ์ระดับโลก สิ่งสำคัญมากต้องเผื่อใจในสถานการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ เลวร้ายขึ้นมาเรามีกลไกที่รองรับหรือไม่ ระลอกแรกปี 63 ผู้ป่วย 3 พันกว่า ทำให้รู้สึกสบายใจ ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก ความจริงทำแบบนี้ไม่ได้

และ 2.ในช่วงวัคซีนไฟเซอร์ออกมาใหม่ๆตอนเดือน พ.ย.63 นับว่าเร็วมากในการคิดค้นวัคซีน ต้นปี 64 เรื่อยมา 3-4 เดือนข้อมูลวัคซีนหลายตัวโผล่ออกมา แต่เราไม่ได้ปรับตัวหาความรู้ให้ทันสมัย และเตรียมพร้อม หากติดตามความคืบหน้าของวัคซีน จัดการฉับไว
ยืดหยุ่น พร้อมรับมือ

ทำให้เห็นว่าหากเตรียมรับมือสถานการณ์ที่เลวร้ายต้องมีวัคซีนด้วย ณ วันนั้นต้องแทงหวยหลายเบอร์ แทงมาหลายตัว เลือกวัคซีนหลายยี่ห้อ เพราะไม่มีใครรู้ เมื่อนำมาใช้จริงตัวไหนมีประสิทธิภาพดีจริง

ทั้ง 2 ปัจจัยทำให้ในประเทศเดินมาถึงจุดนี้ ไม่มีวัคซีนตุนอยู่ในกำมือ

การบริหารจัดการวัคซีนเกิดอะไรขึ้น ประชาชนถึงขาดความมั่นใจการปูพรมฉีด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นพ.สุรพงษ์ บอกว่า นับจากระบาดระลอกแรก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดการช่วงแรก ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหา จนเกิดศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค
ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กระบวนการ ศบค.ก็มีปัญหา จากองค์ประกอบจากคนจำนวนหนึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดและระบบ สธ. แต่มองในมุมความมั่นคงของการจัดการประเทศที่นอกเหนือจากระบบ สธ.

เคยสะท้อนว่าหากปล่อยให้การจัดการโรคระบาดไปอยู่ในมือของคนที่ไม่มีความรู้จริง อาจทำให้มีปัญหา อย่าง สธ.และนักระบาดวิทยา ตัดสินใจกลางเดือน เม.ย.63 ว่าควรผ่อนคลายเปิดเมืองเพิ่มขึ้นหลังถูกล็อกดาวน์ แต่ ศบค.ไม่เห็นด้วย ต้องใช้พลังภายในพอสมควร และแสดงความเห็นผ่านสังคมออนไลน์ เพื่อบอกว่าประชาชนอาจกลั้นหายใจไม่ได้และตายได้ ถึงมีการเปิดเมือง แต่ก็ล่าช้ากว่า เพราะต้องผ่าน ศบค.ชุดเล็ก ศบค.ชุดใหญ่ และ ครม. ไม่ตัดสินใจในสถานการณ์ที่ฉับไวหรือฉุกเฉิน มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่บริหารจัดการไม่ได้ฉุกเฉิน ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ปัญหาดังกล่าวยังดำรงอยู่ถึงทุกวันนี้ แล้วพันไปทุกเรื่อง รวมถึงวัคซีน

อยากเห็นเป็นวอร์รูมจบในจุดเดียว ตัดสินใจได้ทันที แม้เวลานอกราชการ

ภายใต้สถานการณ์แบบนี้หากยังใช้รูปแบบ ศบค.อยู่ ถือว่าไม่ทันกิน

ขณะที่ภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเรื่องอนาคต ไม่เกิดขึ้นเร็ว ฉีด 60% ของจำนวนประชากรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายประเทศก็เร่งฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็ยังอีกยาวไกล มีเพียงอิสราเอลและอังกฤษที่พอสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

ฉะนั้นอย่ารอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะอาจมีระลอกใหม่ตามมาอีก

ระหว่างที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ การ์ดอย่าตก ก็ป้องกันได้อยู่แล้ว

รัฐบาลโดยคนที่รับผิดชอบหลัก ต้องเลิกวิธีทำงานแบบราชการ

ทำสงครามกับโควิด ต้องตั้งวอร์รูม ตัดสินใจฉับไว

วัคซีนต้องหยุดนำมาเป็นประเด็นการเมือง

ช่วยกันหาทางออกจากวิกฤติของประเทศ

พอควบคุมโควิดได้จะกลับมาเช็กบิลค่อยว่ากัน.

ทีมการเมือง

Let's block ads! (Why?)


ผ่าทางตันวิกฤติโควิดรัฐบาลประยุทธ์ : วัคซีนไม่ใช่คำตอบ - ไทยรัฐ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...