Rechercher dans ce blog

Sunday, April 4, 2021

"จตุพร-ณัฐวุฒิ" ทางแยก นปช. เซตอัพเข้า "เส้นทางใหม่" พรรคจาตุรนต์ - ประชาชาติธุรกิจ

การแถลงประกาศอิสรภาพของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา

ท่ามกลางกองหนุนที่มาให้กำลังใจ อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง แต่ไร้เงา “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช.

เป็นการตอกย้ำ นปช.แบ่งขั้ว-ข้าง แยกกันเดิน ไม่ร่วมกันตี แม้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานทางการเมือง ที่การเมืองข้างถนนกลับมาจุดติดตั้งแต่ปี 2563 หลังเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ยกระดับทะลุเพดาน ต่อเนื่องข้ามปีถึงศักราช 2564

ถ้อยแถลงของ “ณัฐวุฒิ” ที่ยังมีสเตตัสเป็น “เลขาธิการ นปช.” ประกาศชัดถ้อยชัดคำว่าอยู่เคียงข้าง “คณะราษฎร”

“ผมขอแสดงตัวเคียงข้างนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่กำลังต่อสู้อยู่พร้อมกันนั้นผมขอปฏิเสธข้อกล่าวหาบิดเบือนให้ร้ายป้ายสีว่าการแสดงท่าทีเช่นนี้หมายถึงการมุ่งร้าย หมายถึงการโค่นล้มทำลายสถาบัน”

ฟาก “จตุพร” ประธาน นปช. ก็หวนคืนเวทีมวลชน ประกาศนัดหมายในนาม “ปัจเจก” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ นปช. ในวันที่ 4 เมษายน ร่วมกับเครือข่ายคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 “ออกมาขับไล่” “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

ทำให้ “ณัฐวุฒิ” กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ “จตุพร” บนเวทีประกาศอิสรภาพว่า “ส่วนตัวผมได้ทราบเรื่องจากทางสื่อมวลชนเท่านั้น ยังไม่ได้รับแจ้ง หรือยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารใด ๆ”

“ทั้งคุณจตุพรและคณะที่เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ มีศักยภาพ ส่วนจะกำหนดแนวทางอย่างไร ก็ขอให้สื่อมวลชนติดตามเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง”

ทั้งสองปฏิกิริยา แม้จุดยืนการเมืองอยู่ในจุดเดียวกัน แต่ตะโกนออกมาคนละฝั่งชัดเจน

“จตุพร” เล่าการเคลื่อนไหววันที่ 4 เมษายน ภายใต้แคมเปญ “ประชาชนสามัคคี” ว่า ตนและหลายคนที่ผ่านเหตุการณ์พฤษภา 2535 ได้รับคำเชิญจากอดุล เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 ได้มองว่าศูนย์กลางปัญหาอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประเทศนี้ไม่มีวันสถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้ ถ้ายังมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จึงเห็นว่าหากไม่มีความสามัคคีกัน พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่อย่างน้อย 6 ปี การเริ่มต้นชุมนุมในวันที่ 4 เมษายน เป็นการเริ่มต้นของทุกฝ่าย

รูปแบบเวทีมีทั้งเสวนา ปราศรัย ดนตรี เป็นการพูดในแต่ละมิติ และมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรเป็นผู้นำประเทศอีกต่อไป สมควรถูกขับไล่ หรือเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมรับผิดชอบ

“จตุพร” ชี้แจงการถอดหัวโขนประธาน นปช. ไปร่วมไล่นายกฯ ในนามปัจเจกว่า “ผมไปในฐานะคนพฤษภา 2535 เพราะ 29 ปีที่แล้ว เป็นไม้สุดท้ายในการต่อสู้ที่ ม.รามคำแหง ไปในนามปัจเจก เป็นนายจตุพร ถ้าพกองค์กรเข้าไปก็มีความขัดแย้งตลอด 15 ปีนี้ ก็จะกลายเป็นปัญหา แต่ในนามปัจเจก ถ้าทน พล.อ.ประยุทธ์ไปอีก 6 ปีไม่ได้ก็มาร่วมมือกัน แต่ถ้าทนได้ก็ไม่ต้องมา ไม่ได้เป็นเรื่องขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง”

สถานะ นปช. ชัดเจนว่า แยกกันอยู่ แบ่งกัน 2 ซีก ซีกหนึ่งอยู่แคราย ซีกหนึ่งอยู่รามอินทรา 40 ตามที่มีความเข้าใจกัน แยกกันมา 2 ปีกว่า ไม่ได้เพิ่งมาแยกไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ขึ้นศาลก็เจอกันตามปกติ ความเชื่อทางการเมืองก็เสรีภาพกันไป

“ส่วนที่บอกว่าผมไม่จัดประชุมแกนนำเลยนั้น ก็อยู่คนละที่รามอินทรากับแครายจะจัดประชุมกันได้อย่างไร” จตุพรอธิบาย

ข้ามมาที่ฉากหลังของการตั้งโต๊ะแถลงของ “ณัฐวุฒิ” และแท็กทีมด้วยแกนนำ นปช. เว้น “จตุพร” นั้น

มีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ซีก “ณัฐวุฒิ” มาบรรจบกับการตั้ง “พรรคเส้นทางใหม่” ซึ่งว่ากันว่าจะมีหัวหน้าพรรคชื่อ “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ

แม้ “จาตุรนต์” สงวนท่าทีความเคลื่อนไหวเรื่องการเป็นหัวหน้าพรรค แต่ก่อนหน้านี้คนที่เล่นใหญ่คือ “เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์” อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ที่เลือกเส้นทางเดินทางการเมืองใหม่กับ “พรรคเส้นทางใหม่” ทำให้คอการเมืองรู้เรื่องราวกันทั้งบาง

ในความเคลื่อนไหวลับ ๆ ที่นอกเหนือจากการป่าวประกาศของ “เศกสิทธิ์” ว่า จัดตั้งที่ทำการพรรค-สาขาพรรคที่ จ.ร้อยเอ็ด เรียบร้อยแล้วนั้น

ต้องย้อนกลับไปสู่ช่วงหลังการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) มีการรวมตัวทางการเมืองกัน ระหว่าง “จาตุรนต์-ณัฐวุฒิ” และกลุ่ม นปช.ที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันที่ ทษช. โดยมีแผนการตั้งพรรคการเมืองเป็นวาระแนบท้าย

“ณัฐวุฒิ” ถูกวางไว้เป็นตัวชูโรง และ “จุดขายหลัก” ในการสร้างอีเวนต์-กระแสการเมือง ทว่า “ณัฐวุฒิ” ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 8 เดือน จากคดีบุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เสียก่อน จึงทำให้หลาย ๆ ภารกิจต้องถูกชะลอไป

แต่ที่ไม่ชะลอคือ การตั้งสาขาพรรค-ที่ทำการพรรค ซึ่งตามกฎหมายพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อย 4 ภาค

สาขาพรรคเส้นทางใหม่ ที่จดเป็นที่แรกอยู่ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช บ้านเกิดของ “เสี่ยเต้น” ณัฐวุฒิ แม้ว่าจะติดกับดักรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ห้ามเล่นการเมือง 10 ปี หลังจากถูกจำคุก แต่ก็ไม่มีปัญหาสำหรับเป็นแบ็กอัพในการตั้งสาขาพรรค ใช้บ้านเกิด อ.สิชล เป็นฐานที่มั่น

ส่วนสาขาพรรคภาคกลาง หนีไม่พ้น จ.ฉะเชิงเทรา ฐานการเมืองตระกูล “ฉายแสง” และภาคอีสานอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด ตามที่ “เศกสิทธิ์” เปิดเผย และสาขาพรรคเหนือปักหมุดที่ จ.เชียงใหม่

“ก่อแก้ว พิกุลทอง” แกนนำ นปช.ที่ไปร่วมการแถลงข่าวของ “เสี่ยเต้น” ณัฐวุฒิ กล่าวถึงการแยกเป็น 2 ทีม เพราะจตุพรไม่ได้จัดประชุมแกนนำเลย แต่ละทีมขับเคลื่อนในนามของกลุ่มตัวเอง ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนในนาม นปช. ขณะนี้เราใช้ภาษาอังกฤษว่า UDD ซึ่งเป็นชื่อย่อของ นปช.ภาษาอังกฤษ เราต้องการใช้ชื่อที่ต่างกับ นปช.ของนายจตุพร

อีเวนต์ทางการ UDD คือ แถลงประกาศจุดยืน อยู่เคียงข้าง “คณะราษฎร” แต่ยังไม่ขอลงถนนร่วมต่อสู้

“เราเพียงแสดงจุดยืนแต่ยังไม่ได้บอกว่าขยับอะไรในจุดนั้น ถ้ามีการขับเคลื่อน ต้องดูอีกทีว่าจะไปทำในนามองค์กรไหน เพราะในอดีตที่ผ่านมาเวลาเราเคลื่อน เราใช้หลาย ๆ กลุ่มมารวมกันแล้วตั้งเป็นหัวขบวนใหม่ใช้ชื่อใหม่ เพื่อเป็นองค์กรรวม การไปแสดงจุดยืนร่วมกับนายณัฐวุฒิ เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีจุดยืนเหมือนกัน”

ส่วนจะไป “พรรคเส้นทางใหม่” หรือไม่ “ก่อแก้ว” บอกว่า อยู่ระหว่างการหารืออยู่ “เพราะพรรคของพี่อ๋อย (จาตุรนต์) ยังไม่เปิดตัว ดังนั้น กลุ่มของผมจึงลอยตัวอยู่ ยังไม่ขยับใด ๆ แต่อดีต นปช. นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ จะไปด้วยกันทั้งหมด”

ปรากฏการณ์ นปช.อยู่ในช่วงอัสดง แยกกันเดิน ไม่ร่วมกันตี

Let's block ads! (Why?)


"จตุพร-ณัฐวุฒิ" ทางแยก นปช. เซตอัพเข้า "เส้นทางใหม่" พรรคจาตุรนต์ - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...