คอลัมน์ ช่วยกันคิด ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง
สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ จะพบว่า
- จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมสูงถึงกว่า 150 ล้านราย
- สหรัฐอเมริกา ยังมีผู้ติดเชื้อสูงสุดกว่า 33 ล้านราย รองลงมาอินเดีย 19 ล้านราย บราซิลเกือบ 15 ล้านราย
- การแพร่ระบาดมีความรวดเร็ว และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงกว่าในระลอกแรกในช่วงเวลา 7 วัน เพิ่มสูงขึ้นเป็นสถิติใหม่ที่ 4.9 ล้านราย (เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ 2 ล้านราย)
- จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดอยู่ในทวีปเอเชียคิดเป็น 43% ของทั้งโลก ทวีปยุโรป 27% และทวีปอเมริกาใต้ 16%
- อินเดีย เป็นประเทศที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงที่สุด โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 300,000 ราย
- มีวัคซีนกว่า 1,000 ล้านโดส กระจายไปใน 172 ประเทศ นับแต่เดือนธันวาคม 2563
- จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 235 ล้านคน หรือเท่ากับ 3.1% ของประชากรทั้งโลก
- ประเทศที่มีสัดส่วนของประชากรได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส สูงสุดคือ อิสราเอล (มากกว่า 60% ของประชากร) รองลงมา ได้แก่ สหราชอาณาจักร (50%) สหรัฐ และชิลี (44%) ส่วนประเทศอินเดียที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงสุด มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วเกือบ 10% ของประชากร ขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด
การบริหารจัดการวัคซีนปัจจัยสำคัญ
แม้ว่าการระบาดระลอกใหม่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่มาตรการควบคุมของภาครัฐเข้มงวดน้อยลง ไม่ล็อกดาวน์ หรือปิดเมือง เพราะส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ หยุดชะงัก เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง และรัฐต้องใช้งบฯจำนวนมากลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้รัฐไม่มีกำลังพอจะอัดฉีดเงินเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกับปีก่อน มาตรการดูแลที่สำคัญคือ การบริหารจัดการจัดหาวัคซีนและการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด
กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร และยุโรป ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากในปีที่แล้ว กลับมีการรับมือที่ดีและสถานการณ์โดยรวมไม่รุนแรงเท่าประเทศกำลังพัฒนา เป็นผลจากการบริหารจัดการเรื่องวัคซีน โดยประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่พร้อมในการจัดเตรียมและบริหารวัคซีน เริ่มมีการฉีดวัคซีนตั้งแต่ต้นปี และมีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการบริหารจัดการ สัดส่วนการฉีดวัคซีนต่ำ การติดเชื้อเพิ่มสูงต่อเนื่อง เป็นปัญหาในการควบคุมการระบาดในปัจจุบัน
หากจะควบคุมการแพร่ระบาดต้องรีบฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด
การระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้จะไม่ส่งผลรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจหดตัวเช่นปีที่แล้ว เพราะรัฐดำเนินมาตรการที่ผ่อนคลาย ไม่มีการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมีความเหลื่อมล้ำกันคือ
1.ประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะมีการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ควบคุมการระบาดได้ และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจน้อย เช่น สหรัฐ จีน
2.ประเทศที่มีความล่าช้าในการจัดหาและบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้ประชาชน เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา) บางประเทศอาจเผชิญการหดตัวทางเศรษฐกิจ (อินเดีย) หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้
3.ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้ความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐน้อยกว่าปีที่แล้ว
4.ภาคการท่องเที่ยวน่าจะยังซบเซา แม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่กว่าจะฉีดวัคซีนได้อย่างแพร่หลายเพียงพอ คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 6-9 เดือน ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นตัวในเร็ววัน
สำหรับไทย การระบาดระลอกนี้รุนแรงกว่ารอบก่อนหน้า จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงกว่าในปีที่แล้ว ทำให้ภาครัฐเริ่มกังวลว่าหากการแพร่ระบาดยังอยู่ในอัตราสูง (วันละ 2,000 ราย) ระบบสาธารณสุขอาจรองรับไม่เพียงพอ ปัญหาคือ ไม่มีการล็อกดาวน์ ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้จำกัด การคัดกรองและเร่งตรวจน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดการแพร่ระบาด และที่สำคัญต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนของคนที่ฉีดวัคซีนมีเพียง 1.6% ของประชากร นอกจากการฉีดวัคซีนจะล่าช้าแล้ว การพึ่งพาวัคซีนหลักของบริษัทเดียว (ขณะที่ประเทศอื่นมีการเตรียมวัคซีนไว้ 2-4 บริษัท) ย่อมมีความเสี่ยงสูงมาก
สำหรับประเทศที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว หากไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรในประเทศก่อน การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวย่อมทำได้จำกัด ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวล่าช้าออกไปอีก
โควิด-19 ระลอก 3 วัคซีน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment