Rechercher dans ce blog

Monday, May 24, 2021

'มาตรา 377A' กฎหมายทางเพศล้าหลัง ที่ฉุดรั้งเสรีภาพของสิงคโปร์ - ไทยรัฐ

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2021 สำนักข่าว Reuters และ AFP รายงานความเคลื่อนไหวของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อการจัดสัมมนาออนไลน์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสิงคโปร์ ในหัวข้อ ‘The Economic Case for LGBT Equality’ เมื่อวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ร่วมกับ Oogachaga องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ์ของเพศทางเลือกในสิงคโปร์

ประเด็นของงานสัมมนาครั้งนี้คือเรื่องเศรษฐกิจกับความหลากหลายทางเพศ โดยมีผู้บรรยายหลักคือ ศาสตราจารย์ลี แบดเจ็ต (Lee Badgett) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์ตส ซึ่งมีชื่อเสียงจากการประเมินเศรษฐศาสตร์ผ่านความเท่าเทียมทางเพศในสังคมที่กลุ่ม LGBTQI+ กำลังเผชิญ

รัฐบาลสิงคโปร์ให้กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ออกมาชี้แจงถึงงานสัมมนาว่า “รับทราบถึงเรื่องนี้แล้ว และเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในงานสัมมนาดังกล่าว ทางกระทรวงจำเป็นต้องเตือนสถานทูตสหรัฐฯ ว่า คณะผู้แทนต่างชาติในประเทศจะต้องไม่แทรกแซงกิจการภายใน โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองและสังคมของสิงคโปร์ รวมถึงนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ เนื่องจากประเด็นเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ชาวสิงคโปร์เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์อภิปรายและตัดสินใจ”

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความฉงนให้กับต่างชาติจำนวนมาก ว่าเพราะเหตุใดการสัมมนาครั้งนี้ถึงสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ได้มากขนาดออกแถลงการณ์เตือน และเป็นเพราะกังวลว่าสถานทูตต่างชาติจะแทรกแซงการเมืองผ่านงานสัมมนาครั้งนี้จริงหรือ

เมื่อมองถึงเรื่องเพศที่อยู่ในถ้อยแถลง ประเทศสิงคโปร์ยังคงมีกฎหมายอาญา ห้ามมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศชาย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ที่อยู่ยั้งยืนยงมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม และยังบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน


กฎหมายอาญามาตรา 377A

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในสิงคโปร์ พยายามเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 377A ที่ร่างขึ้นตั้งแต่ปี 1938 กับการกำหนดลงโทษชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน แม้ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้ถูกใช้มานานมากแล้วก็ตาม

ชาวสิงคโปร์ที่ไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของกฎหมายมาตรา 377A พยายามผลักดันประเด็นดังกล่าวทั้งบนท้องถนนและในโซเชียลมีเดีย มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยยื่นเรื่องฟ้องศาล ให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 377A หลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 12 ที่รับประกันความเท่าเทียมกันของพลเมืองตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ศาลปัดคำร้องดังกล่าวตกไปทั้งในปี 2014 และ 2020 โดยให้เหตุผลว่า การพิจารณายกเลิกกฎหมายเป็นเรื่องของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ไม่ใช่เรื่องที่ศาลจะสามารถตัดสินประเด็นละเอียดอ่อนเกี่ยวกับศีลธรรมหรือส่งผลกระทบต่อสังคมได้ ท่าทีของศาลเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลการประชุมสภาเมื่อปี 2007 โดยรัฐบาลสิงคโปร์ระบุว่า จำเป็นต้องให้กฎหมายฉบับดังกล่าวได้อยู่ต่อ เนื่องจากมีชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยไม่สนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้


การต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศที่เท่าเทียมในสิงคโปร์

27 มกราคม 2020 สำนักข่าวต่างประเทศจำนวนมากนำเสนอข่าวนักเรียนกลุ่มหนึ่งในสิงคโปร์ ปักหลักประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้สถานศึกษายกเลิกการกีดกันทางเพศ การเลือกปฏิบัติต่อนักเรียนนักศึกษาที่เป็นผู้หลากหลายทางเพศ หลังเกิดกรณีนักศึกษาข้ามเพศวัย 18 ปี อ้างว่ากระทรวงศึกษาธิการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเธออย่างร้ายแรง ด้วยการเข้าแทรกแซงการใช้ยาฮอร์โมน

เยาวชน LGBTQI+ ส่วนใหญ่ล้วนต้องเคยเจอกับการกล่าวหาว่า ‘มีความผิดทางวินัย’ ในสถานศึกษามากกว่าหนึ่งครั้ง เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การลงโทษเมื่อนักเรียนแต่งเครื่องแต่งกายไม่ตรงเพศแต่กำเนิด การประณามนักเรียนข้ามเพศโดยครูผู้สอน การชุมนุมในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อกดดันให้กระทรวงศึกษาธิการสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือการลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ

การประท้วงดังกล่าวมีผู้ถูกจับกุม 3 ราย เนื่องจากกฎหมายของสิงคโปร์ระบุชัดเจนว่า หากผู้ใดต้องการจัดการชุมนุม จะต้องขออนุญาตกับทางการก่อน ยกเว้นการจัดชุมนุมที่ฮองลิมปาร์คเท่านั้น ที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขอ

เรื่องความเท่าเทียมและการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ถูกพูดถึงมากขึ้นทุกปี เนื่องจากกระแสของสังคมโลกที่เปิดกว้างขึ้น หลายประเทศเริ่มออกกฎหมายหรือนโยบายเพื่อความเท่าเทียม ชาวสิงคโปร์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ต่างก็ตื่นตัวกับประเด็นดังกล่าวเช่นกัน ทว่านักการเมืองจำนวนมาก กลับยังไม่ค่อยกล้าหยิบประเด็นทางเพศมาหาเสียง หรือผลักดันเรื่องเหล่านี้เข้าสู่สภาเท่าไรนัก

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) เคยระบุถึงเรื่องการเรียกร้องให้รัฐยกเลิกกฎหมายมาตรา 377A ว่า การประนีประนอมไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เขากังวลว่าการยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าวแบบฉับพลัน จะส่งผลต่อวัฒนธรรมและความคิดของชาวสิงคโปร์ สร้างความผิดหวังแก่นักเคลื่อนไหวและคู่รักเพศเดียวกันจำนวนมาก

เรื่องเพศที่ยังดูไม่ขยับไปไหน กับกฎหมายการชุมนุมที่เข้มงวด ส่งผลให้การผลักดันเรื่องความแตกต่างทางเพศไม่กระจายสู่วงกว้างเท่าที่ควร เห็นได้จากกรณีการชุมนุมของกลุ่ม Pink Dot เพื่อสิทธิทางเพศของชาวสิงคโปร์ งานดังกล่าวมีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจเข้าร่วม แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากใครที่ไม่ใช่พลเมืองสิงคโปร์ หรือไม่ได้มีสิทธิ์พำนักถาวร จะถูกจับกุมหากเข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติก็ไม่สามารถเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุมหรืออภิปรายในที่สาธารณะได้เช่นกัน หากรัฐบาลไม่อนุญาต

เค. ชานมูกัม (K. Shanmugam) รัฐมนตรีกฎหมายและมหาดไทยสิงคโปร์ เคยออกแถลงการณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า “สิงคโปร์มีจุดยืนว่าชาวต่างชาติจะไม่สามารถเข้าแทรกแซงการเมือง หรือกิจการใดๆ ภายในประเทศ”

ด้วยความเข้มงวดในการควบคุมการจัดการชุมนุมในที่สาธารณะ และกฎการห้ามชาวต่างชาติ หรือบริษัทต่างชาติ เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงเป็นที่มาของการเตือนสถานทูตสหรัฐฯ ต่อการจัดสัมมนาในเดือนพฤษภาคม 2021


เตือนเพราะแทรกแซงกิจการภายใน หรือเตือนเพราะเอ่ยถึงความหลากหลายทางเพศ

ประเด็นระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์กับสถานทูตสหรัฐฯ นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศ มองว่ารัฐบาลไม่พอใจเนื่องจากสถานทูตสหรัฐฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนากับองค์กร Oogachaga ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 ซึ่งมีหัวใจสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ผู้ที่กำลังค้นหาตัวเอง และคู่รักจำนวนมากที่ไม่ได้รับสิทธิพลเมืองเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในสังคม

โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ ประจำสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNA ว่า งานสัมมนาออนไลน์ที่ผ่านมา จัดขึ้นในวันสากลเพื่อยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (International Day Against Homophobia Transphobia and Biphonia) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้จากการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

สหรัฐอเมริกาสนับสนุนสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศทั่วทุกมุมโลก สถานทูตมีหน้าที่ทำงานร่วมกับประชาชนและองค์กรเพื่อสังคมในประเด็นต่างๆ เพื่อผลักดันสิทธิมนุษยชนให้กับคนทุกภาคส่วน

ทางด้าน เหลียว หยางฟา (Leow Yangfa) ผู้อำนวยการองค์กร Oogachaga กล่าวถึงการเตือนของรัฐบาลสิงคโปร์ว่า ประหลาดใจกับท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อพูดถึงเศรษฐศาสตร์ รวมถึงหนังสือเล่มใหม่ของ ศาสตราจารย์ลี แบดเจ็ต ซึ่งเป็นผู้บรรยายหลักในงานสัมมนา ประเด็นที่พูดคุยไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศตามที่รัฐบาลออกคำเตือน ส่วนสถานทูตสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เป็นผู้ออกทุน และองค์กรก็ได้ส่งหนังสือเชิญไปยังกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่แรก

การป้องกันไม่ให้ต่างชาติแทรกแซงการเมืองภายในถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่การตักเตือนสถานทูตสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์บางส่วนกลับมองว่าทำเกินกว่าเหตุ แทนที่จะเห็นด้วยกับคำประกาศของรัฐบาล ก่อนตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลเตือนสถานทูตต่างชาติ เพียงเพราะงานสัมมนามีการกล่าวถึงความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวสิงคโปร์เรียกร้องจากรัฐบาลเพื่อให้ได้มาร่วมหลายสิบปี แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับความสนใจแต่อย่างใด.

Adblock test (Why?)


'มาตรา 377A' กฎหมายทางเพศล้าหลัง ที่ฉุดรั้งเสรีภาพของสิงคโปร์ - ไทยรัฐ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...