ครม.ใจใหญ่ ต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีประเทศพัฒนาน้อยสุด อออไปอีก 6 ปี สินค้าไทย 7,187 รายการ
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติต่ออายุโครงการการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาทิ อัฟกานิสถาน แองโกลา บังกลาเทศ และเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีของไทยในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) โดยยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Duty Free Quota Free Scheme : DFQF) ขยายระยะเวลาออกไปอีก 6 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569 (จากเดิม โครงการระยะที่ 1 สิ้นสุดเมื่อ 31 ธันวาคม 2563) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งการต่ออายุโครงการในครั้งนี้ มีจำนวนสินค้าที่ไทยให้สิทธิพิเศษภายใต้โครงการรวมทั้งสิ้น 7,187 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 66.47 ของรายการสินค้าทั้งหมดในระบบ HS 2017 (ระบบพิกัดศุลกากรสากล) ส่วนประเทศที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษ จะต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามประกาศกรมศุลกากร
น.ส.รัชดากล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินโครงการ DFQF ระยะที่ 1 ซึ่งไทยเข้าร่วมตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2558 และสิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีมูลค่าและสัดส่วนการนำเข้าภายใต้โครงการน้อยมาก เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากทั่วโลก ในปี 2562 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 39.37 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.0005 ของการนำเข้าจากทั่วโลก และในปี 2563 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 98.09 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.0015 ของการนำเข้าจากทั่วโลก โดยเป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศเอธิโอเปียและบังกลาเทศ รวม 11 รายการ ซึ่งสินค้าที่มีการใช้สิทธิพิเศษ 3 อันดับแรก คือ 1)เมล็ดงานที่บริโภคได้ 2)กางเกงขายาว ชุดหมี กางเกงสามส่วน กางเกงขาสั้นทำจากเส้นใยสังเคราะห์ และ 3)เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวอื่นๆ ที่ทำจากพลาสติก
น.ส.รัชดาทิ้งท้ายว่า การต่ออายุโครงการดังกล่าว แม้จะเป็นการยกเว้นภาษี ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 32 – 36 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยทำให้มีแหล่งนำเข้าทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและสินค้าขั้นต้น และมีราคาสินค้าที่ถูกกว่าหลายรายการ เมื่อเทียบกับราคานำเข้าเฉลี่ยจากทั้งโลกและจากแหล่งนำเข้าอื่นๆ
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat
ครม. ต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีประเทศพัฒนาน้อย อีก 6 ปี 7,187 รายการ - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment