สร้างสีสันให้กับวงการทัวร์ไทยเที่ยวนอกอย่างมากสำหรับ “ทัวร์วัคซีน” พาคนไทยไปฉีดวัคซีนต่างประเทศหลังจากที่ตลาดอยู่ในภาวะหยุดนิ่งจากโควิดมานานกว่า 1 ปี
โดยรูปแบบการขายแพ็กเกจทัวร์ต่างประเทศพร้อมฉีดวัคซีนโควิดที่ออกสู่ตลาดขณะนี้มี 2 ตลาดหลัก คือ อเมริกา ซึ่งตามโฆษณาคือ ฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และประเทศเซอร์เบีย โดยลูกค้าเลือกวัคซีนได้ถึง 5 ยี่ห้อ อาทิ สปุตนิก วี, แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์, ซิโนแวก ฯลฯ
ทั้งนี้ หลังจากบริษัททัวร์เริ่มโปรโมตแพ็กเกจในลักษณะดังกล่าวออกมาเป็นระยะ ทำให้เกิดกระแสและได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งจากผู้ที่สนใจเดินทางและผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว
และเกิดคำถามว่า การโฆษณาขายแพ็กเกจทัวร์ลักษณะนี้ทำได้จริงหรือ ?
ประเด็นดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม กระทั่ง “ธานี แสงรัตน์” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ต้องออกมาชี้แจงและเตือนในหลายประเด็น โดยระบุว่า คนที่อาศัยอยู่หรือเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาอย่างถูกต้องสามารถขอรับ การฉีดวัคซีนได้ ซึ่งแต่ละรัฐอาจมีกฎเกณฑ์ ข้อกำหนด และขั้นตอนในการแจกจ่ายวัคซีนที่แตกต่างกัน
ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารและหน่วยงานของหลายรัฐได้ออกมาตรการเพื่อป้องกันการจัดการท่องเที่ยวเพื่อฉีดวัคซีน โดยย้ำว่า การฉีดวัคซีนจะจัดให้แก่ผู้ที่มีถิ่นพำนักในรัฐเท่านั้น และขณะนี้สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ของ ไทยในสหรัฐได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการถูกปฏิเสธให้เข้าสหรัฐของคนไทยอยู่เป็นระยะแม้ว่าจะมีวีซ่าแล้วก็ตาม
ที่สำคัญวัคซีนป้องกันโควิดในสหรัฐได้รับอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉินเท่านั้น หากผู้ที่ได้รับวัคซีนมีอาการข้างเคียงหรือการแพ้รุนแรงทางบริษัทผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงขอให้คนไทยที่ประสงค์จะซื้อรายการท่องเที่ยวไปต่างประเทศเพื่อการฉีดวัคซีนตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจ
ด้าน “สุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ” นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) (นำคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่ารูปแบบแพ็กเกจทัวร์พาเที่ยวพร้อมฉีดวัคซีนที่ออกมาขายนั้นเป็นการมองหาช่องทางและโอกาสใหม่ ๆ ทางการตลาด แต่ยืนยันว่าสมาคมไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เนื่องจากเป็นประเด็นเรื่องความปลอดภัยของลูกทัวร์
“แนวทางดังกล่าวไม่ผิดกฎการขายทัวร์ แต่ประเด็นคือหากลูกทัวร์ฉีดวัคซีนไปแล้วมีผลข้างเคียง หรือเกิดเจ็บป่วยในต่างประเทศบริษัททัวร์ที่พาไปก็ไม่รับผิดชอบแต่อย่างใดที่ผ่านมาทางสมาคมจึงแจ้งเตือนบริษัทนำเที่ยวไปแล้ว”
ขณะที่ “สุรวัช อัครวรมาศ” อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ซึ่งเป็นหนึ่งในบอร์ดธุรกิจนำเที่ยวฯ มองว่า การที่นักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมกับบริษัททัวร์ที่ต่างประเทศสามารถทำได้หากไม่ผิดข้อบัญญัติของกฎหมายของประเทศนั้น ๆ
แต่ในกรณี “ทัวร์วัคซีน” นี้บริษัททัวร์ไม่สามารถทำได้เพราะในกฎหมายไทยการโฆษณาในกิจกรรมทางการแพทย์ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานนั้น ๆ เท่านั้น
พูดตรง ๆ คือ จัดโปรแกรมทัวร์ได้แต่ไม่ควรโฆษณา และต้องรับผิดชอบต่อสัญญาที่มีต่อนักท่องเที่ยวด้วย
ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้เรียกประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องด่วนเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว
โดย “อนันต์ วงศ์เบญจรัตน์” อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขายโปรแกรมนำเที่ยวดังกล่าวนี้บริษัททัวร์ที่จดทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯ สามารถทำได้ พร้อมย้ำว่าผู้ที่จะทำทัวร์ในลักษณะนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯ และควรต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ของประเทศปลายทาง ในการเดินทางเข้าประเทศช่วงนี้ให้ดีด้วย
ส่วนคนที่สนใจและมีความประสงค์จะซื้อแพ็กเกจทัวร์ก็ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบด้านเช่นกัน หากไปแล้วไม่ได้รับบริการตามโปรแกรมที่โฆษณาไว้ก็สามารถกลับมาร้องเรียนและเรียกร้องความเสียหายภายหลังได้
ประเด็นนี้ “ผู้บริโภค” หรือคนซื้อทัวร์ต้องใช้วิจารณญาณตัดสินใจเองว่าพร้อมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่…
ทัวร์วัคซีน ทางเลือกบน "ความเสี่ยง" - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment