Rechercher dans ce blog

Friday, May 28, 2021

เตือน "เศรษฐกิจไทย" ติดกับดัก ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สวนทางรายได้ลด - ประชาชาติธุรกิจ

นักเศรษฐศาสตร์เตือนรับมือเงินเฟ้อดัน “ค่าครองชีพ” คนไทยพุ่งสวนทางรายได้ลด เสี่ยงเกิดภาวะ “stagflation” “ดร.พิพัฒน์-KKP” ห่วงผู้ประกอบการแบกต้นทุนอ่วม-ผู้บริโภคแบกภาระราคาสินค้าสูงขึ้น กรุงศรีฯชี้สิ่งที่น่ากังวลคือ เศรษฐกิจถดถอยลากยาว สภาพัฒน์ผวาเลิกจ้างพุ่ง-เด็กจบใหม่ 4.9 แสนคนเคว้ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือน เม.ย. 2564 อยู่ที่ +3.41% YOY สูงสุดในรอบ 8 ปี ส่งผลให้หลายฝ่ายมีการพูดถึงเศรษฐกิจไทยเสี่ยงเกิดภาวะ “stagflation”

รายได้โตช้ากว่า “เงินเฟ้อ”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะค่าครองชีพสูง แต่คนมีรายได้ต่ำ หรือที่เรียกว่า “stagflation” โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจไทยมีวัฏจักรที่ต่างไปจากวัฏจักรเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของไทยคงไม่ได้เพิ่มสูงมากในปีนี้ เนื่องจากกำลังซื้อยังต่ำ

“สิ่งที่น่ากังวลและหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ราคาสินค้าบางชนิดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตปรับราคาขึ้น อย่างเช่น ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นค่อนข้างมาก ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น หรือกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ เหล็ก ถ่านหิน ทองแดง ไม้ รวมทั้งค่าขนส่ง ขึ้นมาหมดแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องเจอต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้น ประเทศไทยต้องเจอต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น จะกระทบ 2 ส่วน คือ ผู้ประกอบการที่ต้นทุนสูงขึ้น และผู้บริโภคที่ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น หากเป็นภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นแล้ว ผลกระทบก็คงไม่มาก เพราะคนมีรายได้เพิ่มเพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่ม แต่วันนี้ไม่ใช่ภาวะเช่นนั้น

“เราไม่ได้พูดถึงภาวะเงินเฟ้อที่สูง ๆแต่เรากำลังเผชิญกับภาวะที่รายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพมากกว่า” ดร.พิพัฒน์กล่าว

แก้โจทย์ทุ่มงบฯคุมโควิด

ดร.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า การรับมือภาวะเช่นนี้ ต้องดูว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัญหาสำคัญของไทยตอนนี้คือ ไม่สามารถเปิดเมืองได้ ดังนั้นรัฐบาล ควรทุ่มงบประมาณเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ และเร่งฉีดวัคซีนให้ครบตามเป้าหมายโดยเร็วจะส่งผลดีกว่า

Stagflation ปัจจัยชั่วคราว

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเกิด stagflation เป็นภาวะที่อัตราเงินเฟ้อมาพร้อมเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งหากเกิดมาในจังหวะเดียวกันจะเป็นปัญหาซับซ้อน เนื่องจากรายได้ไม่มี ขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้น

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาสูง เป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในช่วงปีก่อนที่เศรษฐกิจและเงินเฟ้อหดตัวแรง ทำให้ปีนี้ตัวเลขออกมาค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ปัญหาฐานต่ำจะหายไป เพราะราคาน้ำมันในระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นราคาที่ไม่น่ากังวล ขณะที่ภาครัฐเร่งออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาพยุงค่าครองชีพของประชาชนต่อเนื่อง ดังนั้นมองว่าภาวะ stagflation เป็นปัจจัยชั่วคราว และเป็นผลทางเทคนิคเท่านั้น

“มองว่าในช่วงครึ่งหลังปัจจัยชั่วคราวนี้จะทยอยหายไป พร้อมกับมาตรการภาครัฐที่ดูแลประคองค่าครองชีพ เช่นเดียวกับสหรัฐ ที่เหมือนว่าเงินเฟ้อขึ้นสูงถึง 6% แต่เป็นผลมาจากฐานและปัจจัยชั่วคราวจากการขาดแคลนชิปผลิตรถยนต์ใหม่ หากหักปัจจัยนี้เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับปกติ”

ห่วง เศรษฐกิจถดถอยลากยาว

อย่างไรก็ดี ดร.สมประวิณกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า stagflation คือ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะถ้าเศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลายาวนานเกิน จนทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจเสื่อมถอยลงในระยะยาว หรือสร้างแผลเป็นทางเศรษฐกิจ เช่น บริษัทที่รอการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนรอไม่ไหว จนต้องปิดตัว ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิตที่หายไป หรือโรงแรมเดิมมีอยู่ 100 แห่ง รอเปิดประเทศจนในที่สุดเหลือเพียง 70 แห่ง ทำให้รายได้ท่องเที่ยวไม่ได้กลับมาเท่าเดิม ที่สำคัญ บริษัทที่ต้องปิดลงจะกระทบไปยังตลาดแรงงานที่ต้องหายไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐจะต้องทำเพื่อลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ มี 3 ด้านหลัก คือ 1.ลดโอกาสการระบาดเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ โดยมีมาตรการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เป็นวงกว้าง 2.จะต้องทำมาตรการเศรษฐกิจเพื่อเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และ 3.วัคซีนจะต้องมาเร็วที่สุด

เงินเฟ้อขยับซ้ำเติม “กำลังซื้อ”

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องค่าครองชีพคนไทยเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากราคาน้ำมันและราคาอาหารบางรายการที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คนไทยมีความยากลำบากมากขึ้น เพราะต้องเผชิญปัญหาจากโควิดที่กระทบรายได้ และค่าครองชีพที่แพงขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเกิดขึ้นชั่วคราว

“สถานการณ์ค่าครองชีพเพิ่มสวนทางกับรายได้เกิดขึ้นแล้ว ในช่วงโควิดที่คนไม่มีรายได้เหมือนปกติ ดังนั้น แรงกดดันเงินเฟ้อมีผลไปแล้วกับกำลังซื้อของคน แต่ถ้าใช้คำว่า stagflation อาจจะฟังดูแรงไป เพราะภาวะดังกล่าวเงินเฟ้อต้องสูงระดับ 5-10% สูงจนไปกดดันการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง แต่บ้านเราเงินเฟ้ออาจจะสูงถึง 3-4% ได้ แต่คงเฉพาะครึ่งปีแรก เงินเฟ้อจะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 4-5 เดือนข้างหน้า และน่าจะทำให้เงินเฟ้อทั้งปีเฉลี่ยแค่ 1-2% โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ไม่ถึงขั้นกระทบเสถียรภาพนโยบายการเงินของไทย ยังไม่ถึงขั้นต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย” ดร.เชาว์กล่าวและว่า

หนี้ครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ของปี 2563 มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จาก 4% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็น 89.3% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ช้าลง

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยไตรมาส 4 ปี 2563 สัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจาก 2.91% ในไตรมาสก่อนเป็นผลจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน

ส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับสูง หรือมีสัดส่วน 6.8% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มด้อยลง และมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการทางการเงินมาช่วยส่วนนี้เพิ่มเติม

ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ปี 2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง

Adblock test (Why?)


เตือน "เศรษฐกิจไทย" ติดกับดัก ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สวนทางรายได้ลด - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...