Rechercher dans ce blog

Saturday, May 29, 2021

แอสตราเซเนกาอยู่ไหน... หรือทางเลือกของคนไทยลงท้ายที่ซิโนแวค? - ไทยรัฐ

ในตอนนี้ เกิดการตั้งคำถามไปทั่วประเทศว่า ตกลงแล้วไทยยังคงมีวัคซีนแอสตราเซเนกาเหลืออยู่หรือไม่ แล้วลอตที่กำลังจะมาถึง จะมาถึงทันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือเปล่า เนื่องจากรัฐบาลยังคงเตรียมนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 3 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน

ท่ามกลางความคลุมเครือ สร้างความกังวลใจต่อประชาชนที่ลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ หรือผู้ลงทะเบียน ณ จุดบริการ และกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนจากการปูพรมในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 หลายคนต่างกังวลว่าวัคซีนที่ถูกฉีดเข้าร่างกายจะเป็นซิโนแวคกับแอสตราเซเนกาตามที่เคยระบุไว้ หรือจะเป็นซิโนแวคเพียงอย่างเดียว ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถตอบคำถามที่แน่ชัดได้เลย


แอสตราเซเนกาแรกเข้ามีแค่ 117,600 โดส

ก่อนหน้านี้ ไทยรับมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาจากเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จำนวน 117,600 โดส เป็นกรณีเร่งด่วนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน และได้กระจายวัคซีนไปยังพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเร่งฉีดให้กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 คือกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป

ช่วงแรกกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีนโยบายนำแอสตราเซเนกาเข้ามาเพิ่มอีก โดยจะเน้นการผลิตในประเทศ กระทรวงสาธาณสุขเปิดเผยข้อมูลว่า ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 1,651,782 โดส แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เข็มแรก 1,201,258 ราย และเข็มที่สอง 450,524 ราย ทว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ได้จำแนกเจาะจงว่าจำนวนทั้งหมดมีคนรับวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกาทั้งหมดกี่โดส

ยังไม่มีความชัดเจนใดที่ทำให้ประชาชนรู้ว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 117,600 โดส ที่ได้มาตั้งแต่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ถูกใช้ไปจนหมดแล้วหรือไม่ หรือว่ายังมีเหลืออยู่ และหากมีเหลือ แอสตราเซเนกาไปตกหล่นอยู่ตรงไหน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 4 พฤษภาคม เพจเฟซบุ๊กร้าน ‘เจ๊เล้ง ranjaeleng’ ลงคลิปวิดีโอว่า อารียฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล เจ้าของร้านค้าปลีก รับผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่าวัคซีนจำนวนแสนกว่าโดสอาจยังเหลืออยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งโพสต์ดังกล่าวถูกลบออกจากเพจภายหลัง


รัฐบาลไทยหวังใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศ

วันที่ 31 มีนาคม อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเข้าพบกับประธานบริษัทผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา เรื่อง ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในประเทศไทย โดยอนุทินระบุว่า ประธานบริษัทฯ ชื่นชมบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience: SBS) ที่มีกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน ดำเนินการตามขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเคร่งครัด ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการเป็นที่น่าพอใจ และมีมาตรฐานดีเยี่ยม

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เคยโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 12.16 น. เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงความปลื้มปีติต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นผู้วางแนวทางให้สยามไบโอไซเอนซ์ และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศไทย

“วัคซีนแอสตราเซเนกา 1.7 ล้านโดส ที่จะเริ่มรับมอบและฉีดให้คนไทยจากสยามไบโอไซน์ในประเทศไทยด้วยฝีมือคนไทยครับ ด้วยบุญที่พวกเราคนไทยทั้งผองที่ในหลวง ร.9 พระราชทานมรดกไว้ให้ดูแลเราในยามที่พระองค์ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว ผมทราบข่าวเมื่อวานถึงการเตรียมส่งมอบวัคซีนลอตนี้แล้ว ดีใจปลื้มใจจนเกือบน้ำตาไหล ปลื้มใจนึกถึงพระองค์ท่านครับ”

พร้อมแนบรูปตารางที่ระบุว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ในประเทศไทย 1.7 ล้านโดส 17-21 พฤษภาคม 2564

แต่จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ยังไม่ปรากฏวี่แววของแอสตราเซเนกา

หากการผลิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่มีการติดขัดตามข่าวลือในโซเชียลมีเดียว่าวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่ได้มาตรฐาน หรือเกิดปัญหาในกระบวนการผลิต แล้วเหตุใดวัคซีนแอสตราเซเนกาถึงยังส่งไม่ถึงภาคประชาชน

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘คนเคาะข่าว’ ช่องนิวส์วัน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เกี่ยวกับข้อมูลของแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทยว่า มีการปรับเปลี่ยนข้อตกลงเดิมที่กำหนดส่งมอบวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดสภายในเดือนพฤษภาคม เปลี่ยนเป็นทยอยส่งมาก่อนประมาณ 1.7 ล้านโดส และในเดือนมิถุนายนจะส่งมอบอีก 4 ล้านโดส

สาธิตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทอาจติดปัญหาเรื่องค่าเบี่ยงเบนตามเอกสาร ทำให้จำเป็นต้องส่งมอบวัคซีนทีเดียวในเดือนมิถุนายน หากมองในแง่บวก นั่นหมายความว่าบริษัททำตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ส่วนที่เป็นปัญหาไม่ได้ส่งมอบได้ 1.7 ล้านโดส เป็นส่วนของ earlier deliverly ซึ่งกำหนดการสามารถปรับเปลี่ยนได้


แอสตราเซเนกาลอตใหม่จะมาทันกำหนดหรือไม่

ความกังวลและคำถามที่ว่า ตกลงคนไทยจะได้ฉีดแอสตราเซเนกาตามที่รัฐบาลเคยระบุไว้หรือไม่ เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นหลังจาก ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ไม่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาสำหรับบุคลากรตรงตามเวลาที่กำหนดไว้

“เรากำลังถูกเท... เราถูกขอให้ต่อสู้ รบยืดเยื้อ และให้ขยายแนวรบออกไปตลอดเพื่อชาติ ชาติบอกเรามาว่า ให้ปันส่วนกระสุน เอาไปคนละสิบนัดในเดือนนี้ แล้วให้ตรึงแนวรับไว้ให้ได้จนถึงเดือนหน้า บางหน่วยยังเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้ง แต่มีกระสุนให้ไม่จำกัด วังเวง ...และเริ่มรู้สึกท้อ ขอเราไปทำหน้าที่สั่งการและช่วยตัดสินใจแทนชาติชั่วคราวสักเดือนนึงได้ไหม ขอร้อง”

วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช แจ้งต่อประชาชนเช่นกันว่า “ผู้รับบริการที่มีนัดรับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2564 (รับการฉีดเข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 5 เมษายน 2564) โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ขอเลื่อนวันรับวัคซีนออกไปก่อน เมื่อได้รับวัคซีนมา ทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบต่อไป’

ส่วนโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ทางศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวัคซีนบริการแค่ซิโนแวคเท่านั้น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถรับวัคซีนซิโนแวคได้ แต่หากประสงค์รับวัคซีนแอสตราเซเนกา ให้แจ้งความประสงค์เลื่อนนัดวันได้

แต่ในวันเดียวกับคำประกาศของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้ารับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มที่สอง พร้อมแสดงเอกสารรับรองต่อสื่อมวลชน

เวลานี้ โรงพยาบาลจำนวนมากไม่สามารถฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ได้ตามกำหนด ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า เป็นเพราะเกิดปัญหาติดขัดทางเทคนิค เพราะไม่มีวัคซีน หรือยังมีวัคซีนเหลืออยู่ แต่ส่งมาไม่ถึงภาคประชาชนกันแน่ เนื่องจากยังมีข่าวลือในโลกโซเชียลมีเดียเป็นระยะว่ามีคนจำนวนหนึ่งยังได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาอยู่

วันที่ 27 พฤษภาคม เวลา 16.28 น. ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล โพสต์ทวิตเตอร์ว่า “ส.ส. พลังประชารัฐและ ส.ส. รัฐบาล ได้ฉีดแอสตราเซเนกาครับ จนท. จะถาม ส.ส. ก่อนว่า เป็น ส.ส. พรรคไหน ถ้าเป็นพรรคฝ่ายค้าน เจอชิโนแวคครับ.”

ข้อความดังกล่าวส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง หลายคนเริ่มเรียกร้องให้ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลออกมายืนยันว่าจริงหรือไม่ บางคนถามหาหลักฐานการกล่าวหาประเสริฐพงษ์ เพื่อทวงความจริงว่าตกลงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับการแจกจ่ายวัคซีนกันแน่


คำบอกเล่าแสนสับสนของเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐ

กระทรวงสาธารณสุขเคยแถลงการณ์ว่า จะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในไทยประมาณ 61 ล้านโดส จะมีกำหนดส่งมอบ 4 ครั้งด้วยกัน คือ เดือนพฤษภาคม จำนวน 1.7 ล้านโดส (ที่ตอนนี้เลื่อนไปแล้ว) เดือนมิถุนายน 4.3 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน เดือนละ 10 ล้านโดส เดือนธันวาคม 5 ล้านโดส

ท่าทีของศูนย์บริการฉีดวัคซีนหลายแห่งที่ระบุว่าไม่มีวัคซีนแอสตราเซเนกาให้บริการ สร้างความงุนงงแก่ประชาชนจำนวนมาก รวมถึงความกังวลว่าในวันที่ 7 มิถุนายน ที่นายกรัฐมนตรีเรียกว่าเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ กับการฉีดวัคซีนแบบปูพรมซึ่งคาดว่าจะฉีดได้ 860,000 คนต่อวัน จะมีวัคซีนแอสตราเซเนการวมอยู่ในวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชนหรือไม่

วันเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีได้ฉีดแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 อนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า ขอให้มั่นใจว่าไทยมีวัคซีนโควิด-19 พร้อมฉีดปูพรมตามกำหนดแน่นอน และวัคซีนแอสตราเซเนกาจะมาส่งตามกำหนด ส่วนประเด็นที่หน่วยบริการหลายแห่งเลื่อนการฉีดวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวออกไป อาจเป็นเพราะกังวลว่าวัคซีนจะมาไม่ทันกำหนดการที่วางไว้ และขอชี้แจงว่า บริษัทแอสตราเซเนกาไม่ได้กำหนดส่งมอบวัคซีนในวันที่ 1 มิถุนายน แต่จะเริ่มจัดส่ง ‘ภายใน’ เดือนมิถุนายน

“เขาทราบวันเวลาที่รัฐบาลวางแผนฉีดวัคซีนแบบปูพรมอยู่แล้ว แต่เราก็มีวัคซีนซิโนแวคพร้อมอยู่ มั่นใจว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาจะส่งตามข้อกำหนด ตามสัญญาระบุไว้ หากวัคซีนที่ผลิตในไทยยังจัดส่งไม่ได้ เขาก็ต้องจัดหามาจากแหล่งผลิตอื่นส่งให้เรา เราไม่ต้องกังวล”

ทว่า นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เกิดปัญหาวัคซีนแอสตราเซเนกาไม่เพียงพอในบางพื้นที่จริง เนื่องจากบางพื้นที่มีความต้องการวัคซีนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัญหาในการบริหารจัดการ ทางกระทรวงฯ ต้องขออภัยประชาชนและจะเร่งแก้ปัญหา ก่อนออกแถลงอีกครั้งในวันที่ 26 พฤษภาคมว่า บริษัท แอสตราเซเนกา ไม่ได้กำหนดส่งในวันที่ 1 มิถุนายน นี้ แต่จะเริ่มจัดส่งภายในเดือนมิถุนายน และทางบริษัทก็รับทราบกำหนดการที่รัฐบาลวางแผนฉีดวัคซีนแบบปูพรมอยู่แล้ว ทั้งนี้ ทางบริษัทต้องปฏิบัติตามสัญญา ส่วนการบริหารจัดการทางภาครัฐได้มีแผนสำรองสำหรับทุกสถานการณ์และจะทำอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้ไทยพ้นจากมหาวิกฤติครั้งนี้โดยเร็วที่สุด

ในวันเดียวกัน อนุทินระบุว่า ตนทราบถึงความวิตกของประชาชนว่าอาจไม่มีแอสตราเซเนกาทันใช้ในวันที่ 7 มิถุนายน รวมถึงประเด็นที่เพจ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค โพสต์ข้อความเลื่อนการเข้ารับวัคซีนจากเดือนมิถุนายนเป็นเดือนกรกฎาคม เนื่องจากสถาบันฯ ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน ก่อนลบและประกาศใหม่ว่านัดหมายการฉีดวัคซีนยังคงเป็นกำหนดการเดิม

สำหรับเรื่องโพสต์เลื่อนรับวัคซีน อนุทินมองว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอาจมือไว ใจเร็ว และขอให้ประชาชนเข้าใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานภายใต้ความกดดันและความเครียดที่เห็นคนไข้มารอเป็นจำนวนมาก และกล่าวว่าวัคซีนจะยังคงมีเพียงพอต่อประชาชนทั้งแอสตราเซเนกาและซิโนแวค

จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม อนุทินกล่าวถึงความคืบหน้าของแอสตราเซเนกาว่า ไทยจะได้วัคซีนดังกล่าวในเดือนมิถุนายนตามกำหนด แต่เรื่องการจัดส่งและจำนวนโดสแต่ละช่วงเวลาจะมีจำนวนเท่าใด ขอให้เป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีกรมควบคุมโรคเป็นคู่สัญญากับบริษัทแอสตราเซเนกา

เท่ากับว่า รัฐบาลยังคงไม่ชี้แจงรายละเอียดหรือตอบคำถามคาใจให้ประชนได้รับทราบทั่วกันอยู่เช่นเคย เนื่องจาก ‘ขอให้เป็นเรื่องการบริหารจัดการภายใน’ ไปก่อน


‘ซิโนฟาร์ม’ ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ไม่อยากรอ

ขณะที่ประเด็นเรื่องซิโนแวคกับแอสตราเซเนกายังคงเป็นที่ถกเถียง วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดหาวัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เข้ามาบริการประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน

วันที่ 28 พฤษภาคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงว่าคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนยี่ห้อ ‘ซิโนฟาร์ม’ (Sinopharm) จากประเทศจีน ที่นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติจาก อย. แล้ว มีทั้งหมด 5 ยี่ห้อ คือ แอสตราเซเนกา, ซิโนแวค, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, โมเดอร์น่า และซิโนฟาร์ม ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติรายล่าสุด โดยผู้ประสงค์รับวัคซีนซิโนฟาร์มต้องฉีด 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างกัน 28 วัน

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเป็นผู้ดำเนินการนำเข้าและบริหารจัดสรรวัคซีนให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจัดซื้อ โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า จะเริ่มนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 1 ล้านโดส ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้

ซิโนฟาร์มถือเป็นวัคซีนทางเลือกตัวที่ 5 ในประเทศไทย จะทำงานคู่ขนานไปกับวัคซีนของรัฐบาล เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสังคม และยืนยันว่า “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่แสวงหากำไรแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ซิโนฟาร์ม มีฐานการพัฒนาและคิดค้นวัคซีนอยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือ บริษัทที่จดทะเบียนในกรุงปักกิ่งกับการจดทะเบียนที่อู่ฮั่น ซึ่งบริษัทในปักกิ่งผลิตวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรอง และมีการใช้วัคซีนดังกล่าวแล้วกว่า 41 ประเทศทั่วโลก ส่วนอู่ฮั่นยังไม่ได้รับการรับรองจาก WHO และยังมีการใช้ฉีดอยู่แค่ในประเทศจีนเท่านั้น

ประชาชนที่ทราบข่าวการนำเข้าซิโนฟาร์ม เริ่มสับสนว่าตกลงแล้ววัคซีนที่จะเข้าไทยในเร็วๆ นี้ เป็นวัคซีนตัวที่ได้รับการรับรองจาก WHO หรือไม่ เนื่องจากบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ถือลิขสิทธิ์ซิโนฟาร์มของอู่ฮั่น ส่วนบริษัท วีโนวา อินเตอร์เนชั่นแนล ถือลิขสิทธิ์ซิโนฟาร์มของปักกิ่ง โดย นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า วัคซีนที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียน อย. ในไทย ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุในกรุงปักกิ่ง

รัฐบาลไทยยังคงสั่งซื้อซิโนแวคอย่างต่อเนื่อง

เวลานี้ ประเทศไทยทุ่มงบจำนวนมากไปกับการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องการนำเข้าวัคซีน ปัญหาเรื่องหน้าด่าน การกระจายวัคซีน และค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ ทว่างบประมาณที่ทุ่มไปกับการซื้อวัคซีนซิโนแวคถูกเปิดเผยออกมาแค่ในช่วงแรกเท่านั้น

วันที่ 5 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณกลางจำนวน 1,200 ล้านบาท มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส ต่อมาคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม เห็นชอบสำรองงบประมาณสั่งซื้อไปก่อนกว่า 1,000 ล้านบาท

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ อนุมัติงบประมาณตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมจำนวน 500,000 โดส ภายใต้วงเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 งบกลาง จำนวน 321,604,000 บาท เพื่อบรรเทา แก้ไข และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการหาวัคซีนเพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้

แบ่งเป็นค่าวัคซีน 271.25 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 18.99 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบริหารจัดการวัคซีนระดับพื้นที่ 31.36 ล้านบาท ดำเนินงานในเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม เนื้อข่าวดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงยี่ห้อวัคซีนที่สั่งเพิ่มกว่า 500,000 โดส กระทั่งวันที่ 30 เมษายน นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ยืนยันว่าวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ จะได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 1 ล้านโดส จากนั้นในวันที่ 14 พฤษภาคม จะได้รับวัคซีนซิโนแวคที่รัฐบาลจีนบริจาคให้อีก 500,000 โดส และในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม อภ. ได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 2 ล้านโดส

นายแพทย์วิฑูรย์ชี้แจงว่าไทยรับวัคซีนซิโนแวคเข้ามาแล้ว 8 ลอตด้วยกัน ดังนี้

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จำนวน 200,000 โดส
วันที่ 22 มีนาคม จำนวน 800,000 โดส
วันที่ 10 เมษายน จำนวน 1 ล้านโดส
วันที่ 24 เมษายน จำนวน 500,000 โดส
วันที่ 6 พฤษภาคม จำนวน 1 ล้านโดส
วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวัคซีนบริจาคจากจีนจำนวน 500,000 โดส
วันที่ 15 พฤษภาคม จำนวน 500,000 โดส
วันที่ 20 พฤษภาคม จำนวน 1.5 ล้านโดส

เท่ากับว่า ในเดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่มอีก 3.5 ล้านโดส และเมื่อรวมจำนวนวัคซีนซิโนแวคที่ผ่านมา ทั้งการสั่งซื้อของรัฐบาลและการรับบริจาคจากประเทศจีน ไทยมีวัคซีนซิโนแวครวมแล้ว 6 ล้านโดส และจะนำเข้ามาเพิ่มอีก 3 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน

การนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมาสมทบเพิ่มอีกเรื่อยๆ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลไทยถึงจำเป็นต้องสั่งวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคมาเพิ่ม แทนที่จะใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาที่มีประสิทธิภาพต่อไวรัสกลายพันธุ์ได้ดีกว่าซิโนแวค หรือเป็นเพราะเกิดปัญหาอะไรบางอย่างขึ้นกับแอสตราเซเนกากันแน่

นักการเมืองฝ่ายค้านก็เกิดคำถามเช่นเดียวกับประชาชน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่า เพราะเหตุใดถึงสั่งซื้อวัคซีนที่ยังไม่มีการยืนยันถึงประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสที่แน่ชัดมาเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก

“แอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนหลัก แล้วซิโนแวคเป็นวัคซีนเพื่อแก้ไขสถานการณ์แบบเร่งด่วน ในเมื่อแอสตราเซเนกาจะส่งมอบได้ในเดือนมิถุนายนนี้ ปัจจุบันซิโนแวคยังไม่มีข้อยืนยันถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ อยากทราบว่า จะสั่งเพิ่มมาทำไม สำหรับกระบวนการขึ้นทะเบียนวัคซีนฉุกเฉิน (Emergency Use List: EUL) ซิโนแวคยังอยู่ระหว่างกำลังพิจารณา แต่มีการเลื่อนมาเป็นระยะๆ ซึ่งต้องติดตามต่อว่าจะได้รับการอนุมัติในเดือนพฤษภาคมนี้หรือไม่”

เมื่อเปรียบเทียบเรื่องความไม่แน่ชัดของการรับมอบวัคซีน ไปจนถึงจำนวนการใช้ ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาถูกใช้ไปเท่าไรแล้ว ประกอบกับการสั่งซื้อซิโนแวคมาสมทบ ปัจจัยที่ไม่แน่นอนและยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด ส่งผลให้เกิดการวิจารณ์เป็นจำนวนมาก และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเข้ารับวัคซีนของประชาชน

การนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 3 ล้านโดสที่คาดว่าจะถึงไทยในช่วงเดือนมิถุนายน เวลานี้ยังไม่มีแผนงบประมาณที่แน่ชัดออกมาแต่อย่างใด เอางบประมาณส่วนไหนไปซื้อ และยังไม่เปิดเผยต้นทุนการซื้อ-ขาย ระหว่างรัฐกับบริษัทเวชภัณฑ์ต่างชาติ

การสั่งซื้ออยู่เรื่อยๆ พานให้คนคิดว่ารัฐบาลกำลังเอื้อประโยชน์ให้ใครอยู่หรือไม่ ซึ่งชื่อที่ถูกคนในโซเชียลมีเดียพูดถึงคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ข่าวลือถูกส่งต่อไปไกล จนทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ออกหนังสือชี้แจงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทซิโนแวค 15 เปอร์เซ็นต์ตามที่เป็นข่าว


ราคากลางๆ ประสิทธิภาพน้อย? แต่รัฐยังคงสั่งซื้อ

จากการรวบรวมข้อมูลและการพูดคุยของประชาชนในโซเชียลมีเดีย บางส่วนเกิดการตั้งคำถามถึงราคาวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้า ก่อนพบว่าซิโนแวคมีราคาสูงกว่าวัคซีนหลายยี่ห้อ สวนทางกับรายงานเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันโรค แต่รัฐบาลกลับยังสั่งซื้อเพิ่มอยู่เรื่อยๆ

นายแพทย์วิฑูรย์เคยกล่าวถึงกรณีข่าวลือว่าไทยซื้อวัคซีนซิโนแวคที่มีราคาแพงว่า ไทยไม่ได้ซื้อในราคาแพง กลับกันคือซื้อได้ในราคาที่ถูกด้วยซ้ำกับการซื้อวัคซีนจำนวนน้อย และเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซียที่ซื้อมากถึง 100 ล้านโดส

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมยังกล่าวอีกว่า จากนี้ราคาวัคซีนแต่ละตัวจะถูกลงเรื่อยๆ เป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด ในช่วงแรกวัคซีนเป็นสิ่งที่มีความต้องการสูง แต่ผลิตได้น้อย จึงทำให้มีราคาแพง แต่ปัจจุบันนี้มีวัคซีนเพียงตัวเดียวที่ยังมีราคาสูงอยู่คือ โมเดอร์นา

การตอบคำถามเรื่องราคาวัคซีนซิโนแวค ยังคงคลุมเครือไม่ต่างจากการตอบคำถามประเด็นวัคซีนอื่นๆ เมื่อไหร่กันที่เจ้าหน้าที่รัฐจะมีคำตอบที่ชัดเจนต่อความค้างคาใจของประชาชน เช่น การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนที่ซื้อเข้ามากับบริษัทอื่นๆ

ขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ ได้สั่งวัคซีนไฟเซอร์จำนวนมากถึง 40 ล้านโดส หลังชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐมี การพยายามปรับตัวของเพื่อนบ้าน และการไม่พยายามปรับตัวต่อเสียงวิจารณ์ของไทย ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้

Adblock test (Why?)


แอสตราเซเนกาอยู่ไหน... หรือทางเลือกของคนไทยลงท้ายที่ซิโนแวค? - ไทยรัฐ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...