Rechercher dans ce blog

Saturday, June 5, 2021

จองทะลักวัคซีนทางเลือก 'โมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม' ฉีดเร็วกว่าแผน - ประชาชาติธุรกิจ

เคาะซิโนฟาร์มโดสละ 900 บาท
REUTERS/Ognen Teofilovski/File Photo

วัคซีนทางเลือกคึกคัก ดีมานด์พุ่ง สมาคม รพ.เอกชน ผนึกองค์การเภสัชฯ สั่งซื้อ “โมเดอร์นา” 10 ล้านโดส เตรียมเคาะราคา 2 เข็ม ไม่เกิน 4 พัน มีลุ้นถึงไทยกลางกันยาฯ สภาอุตฯโล่ง จอง “ซิโนฟาร์ม” โดสละ 900 บาท ไม่รวมค่าฉีด ชี้ 3 แสนไม่พอ คาดความต้องการทะลุล้าน  ด้านกระทรวงสาธารณสุขยืนยันมีวัคซีนฉีดตามแผน-มาครบทุกยี่ห้อ

ภาพความสับสน ความตื่นกังวลของประชาชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลังจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลาย ๆ แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้ลงทะเบียนได้ทยอยประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ โดยให้เหตุผลว่าวัคซีนโควิด-19 มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะจัดสรรมาให้ โรงพยาบาลจึงขอเลื่อนนัดการฉีดไม่มีกำหนด หรือจนกว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนมาให้

ดีมานด์วัคซีนทางเลือกพุ่ง

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนที่ไม่มีความชัดเจน มีการปรับเปลี่ยนแผนเป็นระยะ ๆ รวมถึงการส่งมอบวัคซีนของผู้ผลิตที่มีความล่าช้า เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัคซีนทางเลือกมีความต้องการที่มากขึ้น สะท้อนจากการมีประชาชนจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มบริษัทหรือองค์กรที่สนใจและต้องการจะนำวัคซีนไปฉีดให้พนักงานของตัวเองที่มีการโทรศัพท์สอบถาม หรือมีการค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊กของโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงการแสดงความจำนงผ่านการสอบถามความต้องการวัคซีนทางเลือกของโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งที่มีเป็นจำนวนมาก

“ความไม่มั่นใจว่าจะได้ฉีดหรือไม่ ทำให้หลาย ๆ คนเร่งหาทางออก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ และพร้อมที่จะจ่ายเงินเอง อะไรที่ลงทะเบียนได้ จองได้ก็รีบจองไว้ก่อน เพราะการจองยังไม่ต้องจ่ายเงิน นอกจากการจองวัคซีนโควิดแล้ว ตอนนี้ยังมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่มีการติดต่อเข้ามา เพื่อขอให้โรงพยาบาลเข้าไปฉีดวัคซีนให้ในกรณีที่มีวัคซีนเข้ามาด้วย”

สั่ง “โมเดอร์นา” 10 ล้านโดส

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การหารือร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซิลลิค ฟาร์มา ผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกมีความคืบหน้ามาก และวันจันทร์นี้ (7 มิถุนายน) จะมีการประชุมชี้แจงเพื่อกำหนดราคากับสมาชิกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยในแง่ของราคาต้นทุนวัคซีนจะอยู่ที่ประมาณโดสละ 1,200 บาท ยังไม่รวมค่าบริการ ไม่รวมค่าประกัน เมื่อรวมแล้วเบ็ดเสร็จ 2 เข็ม (1 คนต้องฉีด 2 โดส) ราคาไม่เกิน 4,000 บาท และสมาคมจะพยายามลดลงมาอีก ให้เหลือสัก 3,000 ต้น ๆ เพราะตอนนี้คนเดือดร้อนมาก

ส่วนในแง่ของจำนวนหรือปริมาณการสั่งซื้อ สมาคมสั่งซื้อผ่าน อภ. ยอดรวมประมาณ 10 ล้านโดส โดยจะทยอยเข้ามารวม 3 ครั้ง ลอตแรก 4 ล้านโดส ประมาณเดือนตุลาคม จากนั้นไตรมาส 1 ปีหน้า จะเข้ามา 1 ล้านโดส และถัดไปลอตสุดท้ายอีก 5 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม สำหรับลอตแรก 4 ล้านโดส ที่คุยกับซิลลิคฯ มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเข้ามาเร็วกว่ากำหนดเดิม ประมาณกลางเดือนกันยายน และเริ่มทยอยกระจายเพื่อฉีดให้กับลูกค้าในช่วงปลายเดือนกันยายน

“จากการที่แต่ละโรงได้ทำการสำรวจความต้องการและยอดจองเข้ามา พบว่ามีกลุ่มลูกค้าทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไป และบริษัทหรือองค์กรแสดงความจำนงเข้ามามาก แต่ละโรงมียอดจองตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละโรง ที่มียอดจองสูงหลัก ๆ จะเป็นกลุ่มธนบุรี ที่มีกว่า 1.4 ล้าน บางกอกเชน 2.5 ล้าน เป็นต้น แต่กลางสัปดาห์หน้าจะมีการอัพเดตตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง” นายแพทย์เฉลิมกล่าว

ซิโนฟาร์มเคาะ 900 บาท/โดส

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากประชุมร่วมกับ พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ ถึงแนวทางการจัดนำเข้าและกระจายวัคซีน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ว่า จากที่ทาง ส.อ.ท.ได้สั่งจองใช้วัคซีนซิโนฟาร์มไป 3 แสนโดส ที่ประชุมกำหนดราคาวัคซีน 900 บาทต่อโดส ไม่รวมค่าฉีด (ค่าฉีดต้องดำเนินการเอง)

สำหรับการกระจายให้กับภาคเอกชนที่สั่งจองมากับ ส.อ.ท. จำนวน 6,000 รายนั้น เบื้องต้นจะใช้แนวทางการกระจายให้ตามลำดับและปริมาณการจอง (first come first serve)   โดยในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ส.อ.ท. จะสรุปรายละเอียดแผนการกระจายฉีดในพื้นที่ออกมาให้ชัดเจน ว่าจะสามารถรับวัคซีนได้ที่ไหน อย่างไร

“ตอนนี้ยังไม่รู้ว่า 3 แสนโดสจะพอหรือไม่ จากที่สำรวจความต้องการมองว่ามี 5แสนถึง 1 ล้านโดส ซึ่งทางส.อ.ท.ก็มีการเจรจาเพื่อขอเพิ่มปริมาณจองวัคซีนชิโนฟาร์มเพิ่มขึ้นด้วย”

สธ.ยืนยัน มิถุนาฯมีวัคซีนพอ

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานการรับมอบวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ลอตแรก 1.8 ล้านโดส ที่ผลิตในประเทศไทยว่า ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลงและสัญญาว่าจะส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งจริง ๆ ส่งมาตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. และจะทยอยส่งมอบอีกหลาย ๆ ลอตที่ผลิตจากโรงงานในไทย ทั้งนี้ วัคซีนถูกกระจายส่งไปยังทุกจังหวัดเพื่อฉีดในวงกว้าง และยังมีวัคซีนอีกหนึ่งยี่ห้อร่วมไปด้วย

“เราไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียวในเรื่องวัคซีน โดยม้าคือวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ม้าตัวแรก แอสตร้าเซนเนก้า ตัวที่สอง ซิโนแวค ตัวที่สาม จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ตัวที่สี่ โมเดอร์นา ตัวที่ห้า ซิโนฟาร์ม และจะมีม้าตัวที่หกและเจ็ดต่อไป”

นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2.4 แสนโดส ที่กระจายไปก่อนหน้านี้ เป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่นำมาจากต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าหากมีการสลับวัน หรืออาจมีการล่าช้าด้วยเหตุผลที่เกินการควบคุม เรายังมีวัคซีนที่จะกระจายเข้าไป เพื่อให้มีเวลาแก้ไขสถานการณ์ เป็นการป้องกัน ลดความเสี่ยง เพราะเราต้องการเมกชัวร์ ว่าการฉีดวัคซีนของไทยจะดำเนินไปได้ ซึ่งลอตนี้อยู่ในส่วนที่ประเทศไทยจัดซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส

ส่วนกรณีราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น ศบค.จัดให้อยู่ในกลุ่มโควตาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ต้องไปถาม อว.ว่าจะบริหารจัดการจัดสรรอย่างไร เพราะทั้งมหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ อยู่ในส่วนของ อว.ทั้งหมด

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บริษัทแอสตร้าฯจะทยอยส่งวัคซีนเป็นงวด ๆ จากนั้นกรมควบคุมโรคทยอยจัดส่งวัคซีนไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสัปดาห์นี้จะมีวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ส่งถึงโรงพยาบาลหรือสถานที่ฉีด หลายจังหวัดได้รับวัคซีนแล้ว ยืนยันว่าทุกจังหวัดมีวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้กับประชาชนในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นวันคิกออฟการฉีดวัคซีนจำนวนมาก พร้อมกันทุกพื้นที่ตามนโยบายนายกฯแน่นอน โดยรวมแล้วเดือนมิถุนายนมีประมาณ 6 ล้านโดสขึ้นไป

“กระทรวงสาธารณสุขจะต้องส่งวัคซีนเพื่อให้เป็นไปตามแผน โดยเรารับวัคซีนมาจากแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ปัจจุบันวางแผนจัดส่งไปแล้ว ไม่มีที่ไหนต้องเลื่อนการฉีด เพียงแต่ข่าวอาจออกมาเร็ว เนื่องจากเรารีบส่งวัคซีนลอตแรก 2.4 แสนโดส ทำให้ได้จังหวัดละ 3,600 กว่าโดส แต่เมื่อได้อีก 1.8 ล้านโดส ก็จะส่งตามไป เราวางแผนเป็นรายสัปดาห์เพื่อสนับสนุนวัคซีนอย่างพอเพียง โดยยืนยันว่าไม่ต้องมีการเลื่อนฉีด” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

Adblock test (Why?)


จองทะลักวัคซีนทางเลือก 'โมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม' ฉีดเร็วกว่าแผน - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...