Rechercher dans ce blog

Monday, June 28, 2021

'ศาลอาญาระหว่างประเทศ' ผู้ช่วยเหลือมนุษยชาติ หรือเครื่องมือทางการเมือง? - ไทยรัฐ


ศาลอาญาระหว่างประเทศ คืออะไร

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 โดยประชาคมนานาชาติ จุดประสงค์ของการก่อตั้งเพื่อแก้ปัญหาการก่ออาชญากรรมร้ายแรง อาทิ การสังหารหมู่หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม ดังเช่นกรณีของ ซัดดัม ฮุสเซน หรือ โอซามา บิน ลาเดน และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (มาตรา 5) ศาลอาญาระหว่างประเทศ จะทำหน้าที่ไต่สวนเมื่อศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ได้

ทว่ามีหลายประเทศที่ไม่ได้ร่วมเป็นรัฐภาคี หรือเป็นสมาชิกของ ICC เช่น จีน รัสเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute of the International Criminal Court) อย่างเป็นทางการ หรือเกิดการถอนลายเซ็นออก เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล ซูดาน และฟิลิปปินส์

หลายปีที่ผ่านมา เกิดเสียงวิพากษ์ถึงการทำงานของ ICC ว่ามีอุปสรรคหลายอย่าง นับตั้งแต่กรณีของบางชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ทำให้ศาลไม่มีอำนาจเข้าไปสอบสวนคดีอาชญากรรมร้ายแรง หรือเรื่องที่ศาลไม่มีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเป็นของตัวเอง

เมื่อไม่มีผู้ทำหน้าที่คล้ายตำรวจของหน่วย ส่งผลให้ ICC ต้องขอความร่วมมือกับประเทศสมาชิกเพื่อให้ทางรัฐบาลส่งตัวผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ มาเพื่อพิจารณาคดี เกิดเป็นกระบวนการที่กินเวลานาน และบางครั้งยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าไรนัก เนื่องจากหลายประเทศมองว่าการให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาจัดการปัญหา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้อำนาจจากภายนอกเข้ามาละเมิดอธิปไตยของชาติ


ศาลอาญาระหว่างประเทศขอตรวจสอบคดีในฟิลิปปินส์

วันที่ 14 มิถุนายน 2021 ศาลอาญาระหว่างประเทศ สำนักงานใหญ่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกแถลงการณ์ว่า ฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) อัยการสูงสุดศาลอาญาระหว่างประเทศ และคณะอัยการ ICC มีมติเห็นชอบให้เริ่มกระบวนการสอบสวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศฟิลิปปินส์

ในแถลงการณ์กล่าวถึงพนักงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ และ ‘บุคคลที่เกี่ยวข้อง' ที่อาจร่วมมือกระทำการเกินขอบเขตกฎหมายในสงครามปราบปรามยาเสพติด ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก โดยประกาศของ ฟาตู เบนซูดา ถือเป็นการทิ้งทวนหนึ่งวันก่อนพ้นจากตำแหน่งอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ

มาตรการปราบปรามยาเสพติดของฟิลิปปินส์ มีความตึงเครียดและรุนแรง โดยเฉพาะช่วงปี 2016-2019 เมื่อดูเตร์เตชนะการเลือกตั้ง เขาทำตามคำหาเสียงที่ให้ไว้ คือการทำสงครามกับยาเสพติด

รายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า นับตั้งแต่กรกฎาคม 2016 มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามยาเสพติดมากกว่า 6,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ จากการลงพื้นที่กว่า 200,000 ครั้ง ซึ่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนบางแห่งคาดการณ์ว่า ตัวเลขอาจมีมากกว่าที่ระบุไว้หลายเท่า

ศาลอาญาระหว่างประเทศพยายามตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้น จนทำให้ฟิลิปปินส์ขอถอนตัวออกจากธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อปี 2018 และอยู่ในช่วงดำเนินการ 1 ปี จึงพ้นจากการเป็นสมาชิกในปี 2019

หลังการเคลื่อนไหวของศาลอาญาระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์โต้ตอบ มีใจความสำคัญว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา แฮร์รี่ โรเก (Harry Roque) โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ระบุว่า ประธานาธิบดีดูเตร์ เตจะไม่ให้ความร่วมมือกับศาล ในการสอบสวนสงครามยาเสพติดจนกว่าตนจะพ้นจากตำแหน่งผู้นำในวันที่ 30 มิถุนายน 2022

ถ้อยแถลงของเขายืนยันว่าศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอำนาจศาลในดินแดนฟิลิปปินส์ เนื่องจากฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกแล้ว การพยายามเข้ามาในครั้งนี้ของ ICC อาจละเมิดหลักการพื้นฐานการต่อต้านการแทรกแซงทางการเมือง มิชอบด้วยกฎหมาย มีนัยการเมืองแอบแฝง โดยใช้ประเด็นละเอียดอ่อนอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม เบนซูดาชี้แจงเรื่องขอบเขตอำนาจศาลไว้ว่า ICC ยังสามารถสอบสวนคดีอาชญากรรมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นแบบย้อนหลังได้ มั่นใจว่ามีหลักฐานบ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่งละเมิดกฎหมาย ก่อการสังหารพลเรือนนับหมื่นราย


มองข้อพิพาทต่อศาลอาญาระหว่างประเทศผ่านคดีต่างๆ

หลายปีที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่ ทั้งความล้มเหลวของการทำงาน การโต้เถียงเรื่องเดิมซ้ำๆ หรือการวนเวียนอยู่กับการไต่สวนคดีแค่เฉพาะบางพื้นที่ ไปจนถึงเรื่องความกังวลต่อการถูกแทรกแซงหรือรับอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ

25 มีนาคม 2016 ศาลอาญาระหว่างประเทศ มีคำพิพากษาให้ ณอง-ปิแอร์ เบมบา (Jean-Pierre Bemba) อดีตรองประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีความผิดฐานเป็นผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นเครื่องมือก่อการสังหารหมู่ และถูกจำคุก 18 ปี

ช่วงที่เบมบามีอำนาจ เป็นผู้นำกองกำลังขบวนการปลดปล่อยคองโก (Congolese Liberation Movement: MLC) เคยสั่งการให้ทหารสังหารหมู่ในสงครามกับแอฟริกากลาง ปล้นสะดม ข่มขืน ส่งผลให้เมื่อถูกนำตัวมาศาล มีพยานและเหยื่อรวมแล้วกว่า 5,000 คน ร่วมเข้าฟังคำพิจารณาคดีด้วย ซึ่งคดีดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมถึงการทำงานของ ICC หลังก่อนหน้านี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง และสนใจแค่บางประเด็นในบางพื้นที่เท่านั้น

การอพยพของชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาในเมียนมามากกว่า 700,000 คน ในปี 2017 จากการถูกกองทัพเมียนมากวาดล้าง ที่ประชุมของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้ปรึกษาถึงขอบเขตประเด็นดังกล่าวพร้อมกับข้อสรุป

แม้เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ศาลยืนยันว่ามีอำนาจในการสอบสวนเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลต่อมนุษยชาติแบบมีลักษณะข้ามพรมแดน ผู้อพยพส่วนใหญ่เดินทางข้ามฝั่งไปยังประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นสมาชิก ICC อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังไม่คืบหน้าเท่าไรนัก

ปัญหาความขัดแย้งของหลายประเทศกับศาลอาญาระหว่างประเทศ มีมาให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่การที่สหรัฐฯ เคยระบุว่า ICC มีส่วนบ่อนทำลายอธิปไตย การสอบสวนคดีส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปยังทวีปแอฟริกาอย่างน่าสงสัย

สหรัฐฯ ยุค ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ถึงขั้นออกคำสั่งคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในแผ่นดินสหรัฐฯ จากการสืบสวนการก่อสงครามในอัฟกานิสถานช่วงปี 2003-2014 พยายามสอบสวนบุคลากรอเมริกันโดยปราศจากความยินยอม รัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้นกล่าวว่ารัสเซียอาจอยู่เบื้องหลังความพยายามสืบสวนเรื่องดังกล่าว

เมื่อ โจ ไบเดน (Joe Biden) เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เขายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ศาลอาญาระหว่างเทศ ยืนยันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับ ICC

เดือนกรกฎาคม 2020 ชาวอุยกูยร์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน เดินเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในประเด็นที่เจ้าหน้าที่ของจีนประพฤติมิชอบและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ในค่ายกักกันรัฐซินเจียง ที่รัฐบาลจีนเรียกว่า ‘โรงเรียนปรับทัศนคติมุสลิมอุยกูร์’

ผู้ยื่นฟ้องระบุอีกว่า นอกจากเกิดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย อีกกิจกรรมหนึ่งที่จะต้องทำเป็นประจำในค่ายกักกัน คือการนั่งฟังบรรยายเพื่อให้ทุกคนรับทราบถึงวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวจีน ปรับทัศนคติ ปรับวิถีชีวิต ศาสนา และชาติพันธุ์ให้เหมือนกับชาวจีน

นอกจากนี้ มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนขอความร่วมมือเชิงกดดันให้ประเทศทาจิกิสถาน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเอเชียกลาง และประเทศกัมพูชา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ส่งตัวชาวอุยกูร์ในพื้นที่เขตแดนของตัวเองกลับสู่ประเทศจีน

การยื่นเรื่องฟ้องร้องกินเวลายาวนานหลายเดือน จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2020 ฟาโต เบนซูดา ได้ออกมาชี้แจ้งว่า ศาลไม่สามารถดำเนินการสั่งฟ้องสาธารณรัฐประชาชนจีน กรณีค่ายกักกันอุยกูร์ เนื่องจากประเทศจีนไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้ลงนามกับ ICC ทำให้ทางผู้ยื่นฟ้องแย้งประเด็นดังกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดบนแผ่นดินจีนเท่านั้น และทาจิกิสถานกับกัมพูชาก็เป็นสมาชิกของ ICC แต่เรื่องกลับจบลงเพราะศาลยืนยันว่าไม่สามารถดำเนินการต่อได้

ในเดือนมีนาคม 2021 ศาลอาญาระหว่างประเทศ เตรียมไต่สวนอาชญากรรมสงครามที่ก่อความเสียหายในบริเวณเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา พื้นที่พิพาทระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่ง ICC ยืนยันว่าจะเกิดการไต่สวนด้วยความเป็นธรรม และมุ่งเน้นไปยังเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมาก

ด้านปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาสต่างออกแถลงการณ์ชื่นชมการทำงานของ ICC ยืนยันขึ้นศาลเพื่อแก้ต่างในทุกประเด็น ส่วนด้าน เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลขณะนั้น ระบุว่า พร้อมโต้แย้งทุกข้อกล่าวหาของกลุ่มฮามาส เนื่องจากอิสราเอลเป็นฝ่ายถูกโจมตี ก่อนมองว่า การตัดสินใจของศาลอาญาระหว่างประเทศ อาจเป็นกระบวนการสำคัญของลัทธิต่อต้านยิว

ส่วน กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการเปิดการไต่สวนอาชญากรรมสงครามในดินแดนปาเลสไตน์ เนื่องจาก ICC ไม่มีอำนาจที่จะทำได้

Irishtimes เคยกล่าวถึงปัญหาเรื่องชาติสมาชิก ICC ตามทฤษฎีแล้ว ขอบเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศถือเป็นสากล แต่ในทางปฏิบัติศาลสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้แค่เฉพาะชาติที่ร่วมภาคี และศาลจะพิจารณาคดีในรัฐที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็ต่อเมื่อ รัฐที่ไม่ใช่ภาคียอมรับขอบเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ จากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะส่งต่อเรื่องต่อไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยมีข้อตกลงว่ารัฐที่เกี่ยวข้องต้องยอมรับข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศ

มุมมองเรื่องความเที่ยงตรงของศาลอาญาระหว่างประเทศ จะยังคงถูกพูดถึงไปตลอด เนื่องจากการตีความและมุมมองของหลายคนต่างมองคดีที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน


อ้างอิง:
theguardian.com
twitter.com/inquirerdotnet
aljazeera.com
irishtimes.com
senate.go.th
aljazeera.com

Adblock test (Why?)


'ศาลอาญาระหว่างประเทศ' ผู้ช่วยเหลือมนุษยชาติ หรือเครื่องมือทางการเมือง? - ไทยรัฐ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...