6 มิถุนายน 2564
30
การสมัครเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรม ERC Sandbox ของกลุ่ม ปตท. ที่ช่วยผ่อนคลายอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ เอื้อต่อการส่งออก LNG ไปขายต่างประเทศสำเร็จ จนนำส่งรายได้เข้ารัฐกว่า 580 ล้านบาท เกิดประโยชน์นำไปลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้เปิดให้ภาคเอกชนที่ต้องการทำสอบการดำเนินการนวัตกรรมด้านพลังงานในรูปแบบใหม่ๆ หรือ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ให้สามารถเข้าทดลองดำเนินการภายใต้ “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน” หรือ ERC Sandbox (อีอาร์ซี แซนบ็อกซ์)
โดยเปิดให้สมัคร ภายใต้ 6 กลุ่มนวัตกรรม ได้แก่ 1.การศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer to Peer Energy Trading 2.การศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ เช่น Net Metering, Net Billing 3.การศึกษาเทคโนโลยีใหม่เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System)
4.การศึกษาการจัดการและการปฏิบัติการระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น ระบบไมโครกริด และ 5. การศึกษารูปแบบกิจการธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน เช่น การซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง ( Supply and Load Aggregator ) และ 6. ก๊าซธรรมชาติ
ERC Sandbox มีเอกชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 34 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการกำหนดเวลาทดสอบไว้ไม่เกิน 3 ปี นับจากวันเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบัน ได้ทยอยส่งผลการทดสอบมายัง กกพ. แล้ว คาดว่าทั้งหมดจะเสร็จสิ้นการทดสอบประมาณปี 2565
สำหรับโครงการ ERC Sandbox ที่เห็นผลสำเร็จแล้วในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการ Regional LNG Hub ที่เป็นการทดสอบระบบการดำเนินการส่งออก LNG (Reloading) ของ กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่บริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน ) ดำเนินโครงการร่วมกับบริษัทในเครือ คือ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG)
โครงการนี้ กกพ.มีมติเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ปตท. และ PTTLNG ได้ลงนามสัญญา Pilot Agreement for Reloading LNG ร่วมกันเพื่อรองรับการดำเนินธุรกรรมส่งออก LNG (Reloading) และได้ดำเนินการส่งออก LNG ระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2564 ในปริมาณ 62,449 ตัน โดยไม่เกิดปัญหาอุปสรรคด้านเทคนิค
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า ช่วงเวลาการส่งออกดังกล่าวเป็นช่วงที่ตลาดในภูมิภาคทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน มีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศหนาว ขณะที่โครงการผลิต LNG ในมาเลเซีย ออสเตรเลีย และไนจีเรียเกิดเหตุขัดข้อง และการสัญจรของเรือขนส่ง LNG ผ่านช่องแคบปานามาเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้ตลาดเอเชียมีปริมาณเที่ยวเรือเสนอขายลดลง
ส่งผลให้ตลาด Asian Spot เกิดภาวะตึงตัวกะทันหันแต่ในภาพรวมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศของไทยกลับลดลงหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ รัฐบาลในขณะนั้นกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ ปตท. มีปริมาณสำรอง LNG เพิ่มขึ้น จึงมองเห็นโอกาสการส่งออก LNG จากท่าเรือมาบตาพุดไปยังลูกค้าในภูมิภาคที่มีความต้องการ
โดยราคาขายที่ท่ามาบตาพุดในขณะนั้นอยู่ที่ 14.6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในประมาณการต้นทุนซึ่งประกอบด้วยต้นทุนเนื้อ LNG ค่าบริการ Reloading LNG Service ค่าภาษีผ่านท่าเทียบเรือ Corporate Tax และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ที่ประมาณ 8.7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ทำให้มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 580 ล้านบาท ซึ่ง ปตท.ได้นำส่งภาครัฐแล้ว และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ได้รับทราบการดำเนินการดังกล่าว พร้อมสั่งการให้ กกพ.นำรายได้ที่ส่งให้รัฐไปเป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป
“โครงการ ERC Sandbox เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การออกกฎระเบียบที่เอื้อต่อการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆในอนาคตต่อไปและเพื่อผู้ประกอบการจะได้ดำเนินโครงการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” คมกฤช กล่าว
วุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า ในปีนี้ ปตท.ยังคงมองหาโอกาส และจังหวะที่จะส่งออก LNG ล็อตใหม่ ไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาค คาดว่า จะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ เนื่องจากจะเป็นช่วงฤดูหนาว ที่ในต่างประเทศมีความต้องการใช้ LNG สูงขึ้น และทำให้ราคา LNG อยู่ในระดับสูง ก็จะเอื้อต่อการส่งออก
โดยการมองหาโอกาสส่งออก LNG เพิ่มเติมนั้น สืบเนื่องจากผลสำเร็จจากการดำเนินการส่งออก LNG (Reloading) ตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของ ปตท. ภายใต้โครงการ ERC Sandbox เพื่อดำเนินการการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) โดยเป็นการบริหารจัดการ LNG ภายในประเทศ จากการจำหน่าย LNG ในช่วงที่ราคา Asian Spot LNG สูงกว่าราคาจากสัญญาระยะยาว และหาโอกาสจัดหา LNG เข้ามาทดแทนในช่วงที่ราคา Spot ลดลง ซึ่งทำให้ภาครัฐได้รับภาษีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกเพิ่มขึ้น และท่าเรือ (Terminal) ได้ค่าบริการส่งออก เป็นประโยชน์กับผู้ใช้ท่าในอนาคต อีกทั้งยังทำให้เกิดส่วนต่างราคาและมีรายได้นำส่งคืนภาครัฐประมาณ 580 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยที่เปิดกว้างมากขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 2 โดยแบ่งออกเป็น 2 ตลาด คือ 1. ตลาดที่มีการควบคุม (Regulated Market) และ 2. ตลาดที่มีการควบคุมบางส่วน (Partially Regulated Market) ทำให้เกิดความชัดเจนในการแข่งขันมากขึ้น และปตท.ได้เตรียมพร้อมแยกหน่วยงานดำเนินการระหว่าง 2 ตลาดอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าก๊าซฯ มากขึ้น และในแง่ของ ปตท.ก็จะต้องปรับตัวรองรับการแข่งขัน โดยหันไปเจาะตลาดลูกค้ารายใหม่ๆเพิ่มขึ้น พร้อมแสวงหาโอกาสในการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ไปยังประเทศรอบๆบ้านมากขึ้น
ปตท.คาดการณ์ว่า ปีนี้ ประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ LNG อยู่ที่ 6-6.5 ล้านตัน ขณะที่ ปตท.มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระยะยาว ปัจจุบัน อยู่ที่ 5.2 ล้านตันต่อปี คาดว่า ปีนี้จะต้องนำเข้า LNG เพิ่ม ประมาณ 0.5-0.8 ล้านตัน หรือ 1-1.3 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับ Shipper LNG รายใหม่ แต่ตัวเลขในส่วนนี้เป็นแค่การประเมินเฉพาะของปตท.เท่านั้น โดยจะต้องรอการพิจารณาข้อมูลร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เกี่ยวกับปริมาณนำเข้า LNG ที่ชัดเจนอีกครั้ง
ERC Sandbox เปิดทาง ปตท. ส่งออก LNG นำส่วนต่าง ลดต้นทุนค่าไฟ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment