Rechercher dans ce blog

Friday, July 30, 2021

ทางรถไฟจีน-พม่าคืบหน้า เจาะ/สร้าง อุโมงค์ “ต้าโพหลิ่ง” ที่ยากที่สุด 14 ปี จนสำเร็จ - ผู้จัดการออนไลน์


แนวเส้นทางรถไฟจีน-เมียนมา
MGR Online - ถัดจากรถไฟลาว-จีนที่กำลังจะเปิดใช้งานสิ้นปีนี้ ทางรถไฟจีน-พม่า กำลังมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุด อุโมงค์“ต้าโพหลิ่ง”ยาว 14 กม. ซึ่งต้องใช้เวลาเจาะนานถึง 14 ปี เพราะอยู่บนแนวแผ่นดินไหว สามารถสร้างได้สำเร็จแล้ว

สำนักข่าวซินหัวมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศจีน สาขาคุนหมิง ได้ประกาศว่าโครงการอุโมงค์ต้าโพหลิ่ง (Dapoling Tunnel) ในทางรถไฟสายต้าลี่-รุ่ยลี่ ในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางเชื่อมระหว่างจีน-เมียนมา ได้ก่อสร้างสำเร็จแล้ว หลังต้องใช้เวลาเจาะยาวนานถึง 14 ปี

อุโมงค์ต้าโพหลิ่ง ความยาว 14.66 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในตำบลหย่งผิง เขตปกครองตนเองชาติพันธุ์ไป๋ ต้าลี่ และเนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว อุโมงค์แห่งนี้จึงต้องเผชิญกับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3 ริกเตอร์ขึ้นไป มากกว่า 90 ครั้ง ตลอด 14 ปีของการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม บริษัท Railway No. 10 Engineering Group ซึ่งรับผิดชอบการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ สามารถจัดการกับอุปสรรคเหล่านั้นได้ โดยการคาดการณ์ทางธรณีวิทยาล่วงหน้า เพื่อเฝ้าระวัง และคอยจัดการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการก่อสร้าง

ทางรถไฟสายต้าลี่-รุ่ยลี่ ความยาว 331 กิโลเมตร เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลาง ถูกออกแบบให้ใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือเป็นส่วนสำคัญในโครงข่ายเส้นทางในฝั่งตะวันตกของจีน หรือเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างจีน-เมียนมา

พิธีเซ็น MOU ระหว่างกระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา กับบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางรถไฟมัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่ว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 (ภาพจากซินหัว)
สำนักข่าวซินหัวเคยรายงานไว้ว่า ที่ประชุมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างเมียนมาและจีน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่คุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ได้มีการหยิบยกเรื่องการสร้างทางรถไฟจีน-เมียนมาขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง โดยมีการพิจารณาเส้นทางช่วงต้าลี่-รุ่ยลี่ ที่อยู่ในจีน การพิจารณาแนวเส้นทางส่วนที่อยู่ในเมียนมา รวมถึงเร่งรัดการก่อสร้างทั้งโครงการให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว

ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เส้นทางที่ได้ข้อสรุปแน่นอนแล้ว คือช่วงจากต้าลี่ถึงเมืองหลินซางที่เรียกสั้นๆว่า Dalin (Dali-Lincang) ระยะทาง 202 กิโลเมตร โดยการรถไฟฯสาขาคุนหมิง กำหนดว่าเส้นทางช่วงนี้ต้องก่อสร้างให้เสร็จภายในปี 2564 ส่วนช่วงจากหลินซางมายังรุ่ยลี่อีก 130 กิโลเมตร ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะสร้างเสร็จเมื่อใด

ในเส้นทางจากต้าลี่มายังรุ่ยลี่ ต้องเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาหลายจุด นอกจากอุโมงค์ต้าโพหลิ่ง ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ยังมีอุโมงค์ Hongdoushan ยาว 10.6 กิโลเมตร ซึ่งต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญเช่นกัน คือเมื่อเริ่มเจาะภูเขาเข้าไปแล้วประมาณ 1 ปี ได้ตรวจพบแก๊สพิษรั่วไหลในอุโมงค์ ทำให้ต้องหยุดเจาะชั่วคราวเพื่อให้นักวิชาการเข้ามาตรวจสอบและหาทางแก้ไข

หากเส้นทางรถไฟสายต้าลี่-รุ่ยลี่สร้างเสร็จ จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับเมืองเป่าซาน จากที่เคย“ไม่มีรถไฟ” เปลี่ยนเป็นมีทางรถไฟลงไปไปจนถึงเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง ชายแดนจีน-เมียนมา และยังช่วยพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางฝั่งตะวันตกของมณฑลยูนนานได้อย่างมาก

สำหรับแนวเส้นทางส่วนที่อยู่ในเมียนมา มีจุดเริ่มต้นจากเมืองหมู่เจ้ ชายแดนรัฐฉาน-จีน ตรงข้ามกับเมืองรุ่ยลี่ ลงไปถึงเมืองมัณฑะเลย์ โดยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 กระทรวงการขนส่งทางราง เมียนมา ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจกับบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group จากจีน ที่กรุงเนปิดอ เพื่อก่อสร้างทางรถไฟช่วงนี้

ทางรถไฟหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ ยาว 431 กิโลเมตร ในเส้นทางต้องสร้างสะพานข้ามหุบเหว 77 แห่ง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาอีก 77 จุด ความยาวรวม 115 กิโลเมตร มีสถานีรับส่งสินค้าและผู้โดยสารรวม 12 แห่ง มีจุดตัดทางรถไฟ 24 จุด เมื่อสร้างเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางจากหมู่เจ้มายังมัณฑะเลย์เพียง 3 ชั่วโมง เท่านั้น

ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2562 การรถไฟเมียนมาพื้นที่ภาคเหนือ ได้ลงพื้นที่ จัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการทางรถไฟสายหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนจะเริ่มลงมือก่อสร้าง การประชุมถูกจัดขึ้นตามเมืองที่เส้นทางรถไฟจะสร้างผ่าน ตั้งแต่หมู่เจ้ แสนหวี ล่าเสี้ยว จ๊อกแม หนองเขียว และมัณฑะเลย์

ก่อนเกิดการรัฐประหารไม่ถึง 1 เดือน เมื่อวันที่ 10 มกราคมปีนี้ กระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา เพิ่งเซ็น MOU กับบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทางรถไฟต่อจากเมืองมัณฑะเลย์ลงไปถึงเมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นต้นทางของท่อก๊าซและน้ำมัน เมียนมา-จีน ยาว 770 กิโลเมตร และยังมีโครงการท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ของจีนในรัฐยะไข่ โดยพิธีเซ็น MOU ถูกจัดขึ้นที่สถานทูตจีน ประจำเมียนมา

อย่างไรก็ตาม หลังพิธีเซ็น MOU ผ่านไปเพียง 3 สัปดาห์ กองทัพพม่าได้ทำรัฐประหาร จากนั้นสถานการณ์ในเมียนมาตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมตั้งแต่เมืองหมู่เจ้ มายังมัณฑะเลย์ ไปถึงเมืองเจ้าก์ผิ่ว ก็ได้เงียบหายไป

Adblock test (Why?)


ทางรถไฟจีน-พม่าคืบหน้า เจาะ/สร้าง อุโมงค์ “ต้าโพหลิ่ง” ที่ยากที่สุด 14 ปี จนสำเร็จ - ผู้จัดการออนไลน์
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...