สามัญสำนึก ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
เส้นกราฟการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังไต่ขึ้นสู่ยอดสูงสุด ณ วันที่ 23 กรกฎาคม มีคนติดเชื้อสูงถึง 14,575 ราย ซึ่งเป็นยอดติดเชื้อที่พุ่งทะลุเกิน 10,000 ราย ติดต่อกันถึง 7 วันเต็ม และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แม้รัฐบาลจะบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ใกล้ครบ 14 วันแล้วก็ตาม
แต่ดูเหมือนว่า “มาตรการล็อกดาวน์” ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ จะใช้ไม่ได้ผลกับการรับมือการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่มีอัตราการติดเชื้อสูงมาก เพราะทำได้แค่เพียงความพยายามที่จะไม่ให้เส้นกราฟพุ่งสูงขึ้นไปอีก (มากกว่าระดับ 20,000 คนต่อวัน) แต่ไม่สามารถ “กด” จำนวนผู้ติดเชื้อลงมาให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1,000 คนต่อวันได้
ดังนั้น ทางรอดของประเทศไทยเพียงทางเดียวที่จะลดจำนวนคนตาย ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อลง ให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขของประเทศรองรับได้ในขณะนี้ก็คือ “วัคซีน” โดยปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการฉีดวัคซีนของประเทศ แต่อยู่ที่ขณะนี้ไม่มีวัคซีนจะให้ฉีดอย่างเพียงพอกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มากกว่า
ข้อผิดพลาดจากนโยบาย “แทงม้าตัวเดียว” ของรัฐบาลที่วางเดิมพันของประเทศไว้ที่วัคซีน AstraZeneca เพียงตัวเดียว จนนำพาประเทศมาถึงภาวะวิกฤตในวันนี้ก็ “ยังไม่มีทางออก” จากเหตุผลที่ว่า รัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนในอีก 6 เดือนข้างหน้าได้ตามแผนที่วางเอาไว้ หรือต้องได้วัคซีนเดือนละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านโดส (ก.ค.-พ.ย. 64)
เนื่องจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ทำหนังสือแจ้งให้กับรัฐบาลไทยได้ทราบ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้วว่า จะจัดสรรวัคซีน AZ (ที่แอสตร้าเซนเนก้าจ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้ผลิต) ให้กับประเทศไทย 1 ใน 3 จากจำนวนที่ผลิตได้ หรือวัคซีนที่ผลิตได้ 3 ล้านโดส จะจัดสรรให้ประเทศไทย 1 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก 2 ล้านโดส บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจะส่งออกไปให้กับประเทศคู่สัญญาอื่น ๆ อีก 6 ประเทศที่สั่งจองวัคซีน AZ เช่นเดียวกัน
นั่นเท่ากับว่าด้วยกำลังการผลิตวัคซีน AZ จากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ปีละ 180 ล้านโดส หรือเฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านโดส บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจะส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทย ได้แค่เดือนละไม่เกิน 5-6 ล้านโดส หรือเท่ากับวัคซีนจะหายไปถึงครึ่งหนึ่งจากแผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขทันที
ยกตัวอย่าง เดือนกรกฎาคม ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพิ่งส่งมอบวัคซีน AZ ให้กับไทย จำนวน 2,704,100 โดส (ถ้านับจากเดือน ก.พ.ถึงปัจจุบัน ส่งมอบไปแล้ว 10,950,000 โดส จากที่ไทยสั่งซื้อไปทั้งหมด 61 ล้านโดส)
แต่ยังโชคดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ “บริจาค” AZ ให้รัฐบาลไทย ในเดือนนี้ 1,050,000 โดส สหรัฐบริจาควัคซีน Pfizer ให้อีก 1,500,000 โดส และยังมีวัคซีนทางเลือก Sinopharm ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะนำเข้ามาอีก 2-3 ล้านโดส เมื่อรวมทั้งหมดมีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถหาวัคซีนเข้ามาฉีดได้ตามแผน 10 ล้านโดส
แต่ในอีก 2 เดือนถัดไป (ส.ค.-ก.ย.) ถ้าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ายังคงยืนยันที่จะส่งมอบวัคซีน AZ ให้ไทย 5-6 ล้านโดส รัฐบาลไทยจะไปหาวัคซีนจากที่ไหนเข้ามาในประเทศ เพราะกว่าวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส ที่เพิ่งลงนามซื้อจากบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย)-ไบออนเทค หรือวัคซีน Moderna ของ รพ.เอกชนที่จะซื้อจากซิลลิค ฟาร์มา จำนวน 5 ล้านโดส ล้วนแล้วแต่มีกำหนดส่งมอบในไตรมาส 4/2564 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1/2565 ทั้งสิ้น
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจที่จะซื้อวัคซีน Sinovac จากจีน เข้ามาอีก 19 ล้านโดส ในระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ จนกลายเป็นคำตอบที่จะใช้วัคซีน Sinovac อุดช่องว่างไม่มีวัคซีนที่จะใช้ใน 2 เดือนข้างหน้านี้ เพื่อแข่งกับการระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า วัคซีนชนิดนี้ยังคงมีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดการกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าหรือไม่เพียงใด
AZ ไม่มา ทางตันประเทศไทย - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment