แม้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจะทำการปิดวาล์วท่อส่งสารเคมีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หลายคนอาจยังรู้สึกกังวลเรื่องสารพิษในอากาศ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบและบริเวณใกล้เคียง
ไทยรัฐออนไลน์แนะนำวิธีป้องกันสารปนเปื้อนในอากาศ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากควันระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว ในกรณีที่หากได้สัมผัส หรือสูดดมควันพิษเข้าไป ควรดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากมลพิษและสารเคมี
วิธีป้องกันมลพิษทางอากาศ ทำอย่างไรเมื่อสัมผัสสารเคมีโรงงานกิ่งแก้ว?
ในเบื้องต้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่รัศมี 10 กิโลเมตร ห่างจากจุดเกิดเหตุ ควรอพยพออกจากบ้านเรือนตามประกาศของทางการ ก่อนออกจากบ้านให้ปิดระบบไฟฟ้าและแก๊สหุงต้มในบ้านให้เรียบร้อย เพื่อไปอาศัยในพื้นที่ปลอดภัยเป็นการชั่วคราว พร้อมติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่ได้สูดดมหรือสัมผัสควันไฟไหม้ ควรปฏิบัติตนตามวิธีป้องกันสารเคมีในเบื้องต้น ดังนี้
หากสูดดมควัน
- ควรย้ายไปพักในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อช่วยให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น แต่หากยังหายใจติดขัดอย่างหนัก ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจ
หากควันเข้าตา
- ล้างตาด้วยน้ำสะอาด โดยให้น้ำไหลผ่านตาในปริมาณมากๆ อย่างน้อย 15 นาที ห้ามขยี้ตาเด็ดขาด หากใส่คอนแทกเลนส์ควรถอดออก หรือถอดออกมาล้างทำความสะอาด และไปพบแพทย์
หากสารเคมี หรือควันสัมผัสผิวหนัง
- ถอดเสื้อผ้าออก แยกซักจากเสื้อผ้าทั่วไป แต่หากสัมผัสสารเคมีโดยตรงในปริมาณมาก ให้ทิ้งทันที หลังจากนั้นอาบน้ำล้างตัวให้สะอาดอย่างน้อย 15 นาที เพื่อลดอาการคัน ผดผื่น และผิวหนังระคายเคือง
หากผิวหนังไหม้
- เปิดน้ำให้ไหลผ่านผิวหนังในปริมาณมากๆ หรือแช่น้ำค้างไว้อย่างน้อย 15 นาที ไม่ควรทาครีมหรือโลชั่นใดๆ บริเวณผิวหนังส่วนที่ไหม้
เช็ดฆ่าเชื้อแผลให้สะอาด
- หากมีแผลที่ผิวหนังส่วนต่างๆ ควรรีบทำความสะอาดแผล เพื่อไม่ให้ติดเชื้อ
ดื่มน้ำให้มากขึ้น
- หาน้ำดื่มสะอาดพกติดตัวไว้ พยายามจิบน้ำบ่อยๆ และดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ
เช็ดทำความสะอาดปากและจมูก
- ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดรอบปาก ใช้น้ำเกลือเช็ดรูจมูก
สวมหน้ากากอนามัย
- หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ให้สวมหน้ากากอนามัยประเภทป้องกันควันมลภาวะ
ทำความสะอาดบ้านเรือน
- หากสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว เมื่อกลับมาถึงบ้านสวมถุงมือและเช็ดล้างทำความสะอาดพื้นบริเวณต่างๆ
ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติ ระคายเคืองอย่างรุนแรงที่ผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ อันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ ควรรีบไปพบแพทย์ หรือโทรปรึกษาเบื้องต้นได้ที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี โทร. 1367 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ที่มา : กรมโรงงานอุตสาหกรรม
วิธีป้องกันมลพิษทางอากาศ ควรปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อสัมผัสสารเคมี? - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment