บทบรรณาธิการ
สถานการณ์โควิด-19 เลวร้ายหนักกว่าคาด ผ่านไป 3-4 เดือนหลังการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ที่ปะทุจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2564 ต้นตอการแพร่ระบาดระลอก 3 ผู้ติดเชื้อหลักสิบหลักร้อยไต่ระดับเป็นพัน ถึงกลางเดือน ก.ค. พุ่งทะลุกว่าหมื่นคนต่อวัน เชื้อแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว ภาพน่าหดหู่รันทดใจมีให้เห็นมากขึ้น
ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ออกมาตรการคุมเข้มตามความเสี่ยงแต่ละพื้นที่ แต่สถานการณ์ไม่คลี่คลายแถมน่าห่วงมากขึ้น จากโควิดกลายพันธุ์ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เชื้อแพร่กระจายรวดเร็ว เวลานี้ถึงจุดที่อาจกล่าวได้ว่าหมดทางเลือก ไร้ทางออก นอกจากต้องล็อกดาวน์ปิดเมืองชั่วคราวหยุดเชื้อ
แต่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง การล็อกดาวน์รอบใหม่จึงโฟกัสเฉพาะพื้นที่ที่โควิดระบาดรุนแรง โซนสีแดงเข้มพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร กับ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และ 3 จังหวัดที่ล่าสุดกำลังวิกฤต ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา
ตั้งแต่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป มาตรการเข้มงวดสูงสุดจะถูกนำมาใช้ใน 13 จังหวัดดังกล่าว เพื่อควบคุมการเดินทางออกนอกบ้าน ให้ทำงานที่บ้าน (work from home) 100% ปิดกิจการที่มีความเสี่ยง และประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน 20.00-04.00 น. ฯลฯ
จากนั้นจะประเมินสถานการณ์ทุก 7 วัน และภายใน 2 เดือนจากนี้ไปถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น การติดเชื้อไม่ลดน้อยลง อาจจำเป็นต้องยกระดับเพิ่มความเข้มข้น ใช้แผนล็อกดาวน์ปิดอู่ฮั่นทั้งเมืองเป็นโมเดลต้นแบบ
ประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อยต้องกัดฟันรับผลกระทบและทำตามกฎ จากการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพของรัฐ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยโควิดที่นอนรอเตียงโดยรัฐช่วยเหลือไม่ทั่วถึงเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้การล็อกดาวน์ การใช้มาตรการเข้มเป็นสิ่งจำเป็น แต่การบริหารจัดการวัคซีนให้รวดเร็วทันการณ์สำคัญและจำเป็นมากกว่า
สารพัดคำชี้แจง ข้ออ้างของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ทำให้ทุกภาคส่วนหายคลางแคลงใจ เพราะทางเลือกเดียวที่จะแก้วิกฤต อยู่ที่การจัดซื้อ และเร่งปูพรมวาระแห่งชาติการกระจายฉีดวัคซีนที่กำลังสะดุดเจอทางตันให้ทั่วถึง
หยุดวิกฤตที่กำลังขยายวงส่งผลกระทบเศรษฐกิจ ชีวิตประชาชนรุนแรงกว่านี้ เพราะแทนที่จะเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน รัฐบาลยังมุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ทางตันเพราะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment