Rechercher dans ce blog

Thursday, July 29, 2021

ธปท. ชี้ Q3 ออกเกณฑ์คุมค่าฟี เปิดช่องทาง ศคง. ลูกค้าเปรียบเทียบราคา - ประชาชาติธุรกิจ

ธปท. เปิดช่องทางเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์และค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินให้ง่ายขึ้นบนเว็บไซต์ ศคง.1213 เล็งไตรมาส 3 กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าถึงบริการในราคาเป็นธรรม

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท. ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกเหนือจากการยกระดับการกำกับดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรมผ่านการปรับปรุงประกาศ เรื่อง การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) เมื่อปี 2563 โดยเน้นการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น ครอบคลุมผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่คาดหวังคือประชาชนไม่ถูกหลอก ไม่ถูกบังคับขาย ไม่ถูกรบกวน และไม่ถูกเอาเปรียบแล้ว 

ธปท. ยังมุ่งผลักดันให้ระบบการเงินไทยมีสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้มีการให้บริการอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ประชาชนผู้ใช้บริการเข้าใจสิทธิ ได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งสามารถเลือกใช้บริการได้ตรงกับความต้องการผ่านการสนับสนุนให้ประชาชนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เพียงพอทั้งข้อมูลผลิตภัณฑ์และข้อมูลคุณภาพการให้บริการ 

โดย ธปท. ได้เริ่มเผยแพร่การเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์ครั้งแรกในปี 2561 จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เงินฝาก บัตรเดบิต บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ผ่านทางเว็บไซต์ของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) 1213 ซึ่งได้รับความสนใจเข้าใช้งานจากประชาชนเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ และมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และเพียงพอต่อการตัดสินใจ ธปท. จึงพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการเปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของผู้ให้บริการต่าง ๆ ดังนี้

1)  เว็บไซต์เปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธปท. ได้เผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่สนใจของประชาชนซึ่งมีการใช้บริการกันอย่างแพร่หลายเพิ่มเติมอีก 5 ผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ตามที่กล่าวข้างต้น 

ได้แก่ สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งที่มีและไม่มีหลักประกัน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง และผลิตภัณฑ์เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) โดยสามารถเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ https://ift.tt/2WCh06F ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

2) เว็บไซต์เปรียบเทียบข้อมูลค่าธรรมเนียมบริการทางการเงิน ธปท. ได้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบข้อมูลค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินต่าง ๆ โดยปรับปรุงให้มีความทันสมัย สะดวกต่อการใช้งาน และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลค่าธรรมเนียมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้เผยแพร่ข้อมูลค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์และบริการดังต่อไปนี้จำนวน 21 ผลิตภัณฑ์/บริการ 

ได้แก่ เงินฝาก บัตรเดบิต บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งที่มีและไม่มีหลักประกัน สินเชื่อธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ผลิตภัณฑ์เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) การเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ บริการดิจิทัลแบงก์กิ้ง (เช่น mobile banking/internet banking) บริการรับชำระเงินแทน (bill payment) เช็ค ระบบบาทเนต (BAHTNET) ระบบ Bulk Payment ธุรกรรมต่างประเทศ การให้เช่าตู้นิรภัย บริการการออกหนังสือค้ำประกัน บริการดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ การรับรองตั๋วเงินและอาวัล และการรับรองเครดิตและฐานะทางการเงิน โดยสามารถเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ https://ift.tt/3C3bD0u ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการดำเนินการตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ธปท. ยังให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้ด้วยราคาที่เหมาะสม โดยเน้นการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการทางการเงินกำหนดค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้มีความเป็นธรรม สอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้นด้วย 

ทั้งนี้  ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยหากประชาชนท่านใดได้รับบริการที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งปัญหาเข้ามาที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของ ธปท. โทร.1213 ได้ตั้งแต่วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30 – 16.30 น. หรือสามารถส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ www.1213.or.th ตลอด 24 ชั่วโมง

Adblock test (Why?)


ธปท. ชี้ Q3 ออกเกณฑ์คุมค่าฟี เปิดช่องทาง ศคง. ลูกค้าเปรียบเทียบราคา - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...