Rechercher dans ce blog

Saturday, July 10, 2021

ความเท่าเทียม VS ความเสมอภาค ในการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจ - ประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์
พงศ์นคร โภชากรณ์ 
[email protected]

ผมเชื่อว่า ทุก ๆ มาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมา มักจะมีคำถามตามมาเสมอว่า มีความเท่าเทียมไหม ?

มีความเสมอภาคหรือเปล่า ? โดยเฉพาะมาตรการเชิงสวัสดิการ เยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ก็มักจะแตกเป็น 2 ทาง ทางหนึ่งอยากให้ทำแบบเท่าเทียม อีกทางอยากให้ทำแบบเสมอภาค ยิ่งประชาชนแล้วยิ่งไปคนละทาง ทำไมคนข้างบ้านได้มากกว่าฉัน ? ทำไมต้องตัดสิทธิฉัน ? เป็นต้น ทั้ง 2 เรื่องนี้ต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะลองตีโจทย์นี้กัน

หลักความเท่าเทียม คือ ให้เท่ากันหมด (มองจาก input ที่ให้) โดยไม่สนใจฐานะ รายได้ อาชีพ อายุ และภูมิลำเนา ข้อดีคือไม่มีใครบ่นเพราะได้เท่ากัน ไม่ต้องไปเทียบกับคนอื่น ไม่ต้องใช้ข้อมูลซับซ้อน (หรือเพราะไม่มีข้อมูลอะไรเลย จึงต้องยึดหลักนี้) ประชาสัมพันธ์ง่าย คนเข้าใจง่าย ฐานคะแนนเสียงไม่ตกหล่น แต่อาจจะมีข้อเสีย เช่น ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของงบประมาณอาจจะไม่เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูงกว่าอาจจะได้เงินไม่พอค่าครองชีพ

ในขณะที่พื้นที่ที่มีค่าครองชีพต่ำกลับได้เงินจากมาตรการมากเกินไป เช่น คนในกรุงเทพฯ เส้นความยากจนอยู่ที่ประมาณ 3,300 บาทต่อเดือน ขณะที่ จ.เพชรบูรณ์ เส้นความยากจนอยู่ที่ประมาณ 2,300 บาทต่อเดือน แต่กลับได้เงินเท่ากัน

ดังนั้น ความจำเป็นจึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และอีกอย่างที่สำคัญ คือ ทิศทางการพัฒนาก็ยังเหลื่อมล้ำเหมือนเดิม เช่น การจัดงบประมาณเพื่อแก้จน ถ้าการจัดสรรเม็ดเงินลงจังหวัดยังอิงอยู่กับจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่เป็นหลัก แต่ให้น้ำหนักกับสัดส่วนคนจนในจังหวัดเพียง 10% เท่านั้น ฉะนั้น การช่วยจังหวัดที่ยากจนให้ดีขึ้นจะทำอะไรไม่ได้มาก

หลักความเสมอภาค คือ ให้ไม่เท่ากัน แต่เล็งที่ผลลัพธ์ว่าจะเท่ากัน (มองจาก output ที่ได้) กรณีนี้ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น รายได้ การมีงานทำ ฐานะครอบครัว ภูมิลำเนา เป็นต้น ต้องมีข้อมูลที่มากพอในการกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และอัตราเงินที่พึงจะได้ (เมื่อมีฐานข้อมูลมากขึ้น การจัดการกับข้อมูลมีความทันสมัยมากขึ้น ควรหันมาใช้แบบนี้)

ข้อดีคือ มีความคุ้มค่าของเงินที่ใส่ลงไปมากกว่า เพราะเม็ดเงินที่จำกัดถูกส่งตรงไปยังคนที่จำเป็นก่อน และตรงไปยังพื้นที่ที่อ่อนแอมากกว่าพื้นที่ที่เข้มแข็ง เช่น คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนควรจะได้มากกว่าคนที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน ยิ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนจะยิ่งได้มาก แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำงานไปด้วย และยิ่งมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนมากก็ควรจะได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ และถ้าจะใช้ความยากจนของจังหวัดตัวเองเป็นเกณฑ์ก็สามารถทำได้

ทั้งหมดที่ว่ามาเราสามารถออกแบบที่เหมาะสมได้ หรือ tailor-made policy (คล้าย ๆ การผสมผสานระหว่าง negative income tax ที่กระทรวงการคลังเคยเสนอไปหลายปีก่อนหน้านี้ บวก conditional cash transfer ที่ต้องมีเงื่อนไขให้ทำเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เป็นไปตามทิศทางที่ควรจะเป็น บวก minimum income standard ที่ TDRI เคยจุดประกายขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน)

และข้อดีอีกข้อหนึ่งที่ผมว่าสำคัญมาก ๆ คือ เป็นการนำข้อมูลที่มีความสำคัญสูงสุดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด (data-driven policy for equity) ส่วนข้อเสียหรือข้อยุ่งยากบางประการ เช่น ต้องใช้ข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น เข้าขั้น big data ต้องทำ data analytics ดี ๆ ประชาสัมพันธ์ยากกว่า ประชาชนจะสับสนง่ายกว่า เป็นต้น

หน่วยงานสำคัญหน่วยงานหนึ่ง ที่มีความกล้าหาญและเป็นผู้นำในการนำหลักความเสมอภาคมาใช้ คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วัตถุประสงค์ชัดเจนว่า เน้นช่วยเฉพาะเด็กยากจนเท่านั้น มีวิธีการคัดกรองว่าเด็กคนไหนจน คนไหนไม่จน โดยการเข้าไปดูถึงก้นครัว ห้องน้ำ ห้องนอน เลยทีเดียว ฉะนั้น ปัญหา inclusive error (เด็กจนไม่จริง) จึงไม่มี และตั้งเป้าขยายผลไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุด exclusive error (เด็กจนตกหล่น) จะค่อย ๆ ลดลงเอง

ขอยกตัวอย่างการดำเนินโครงการของรัฐบาล 2 โครงการที่มีการถกเถียงถึงความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมอยู่เป็นระยะ ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการต่อยอดวิธีการดำเนินนโยบายในอนาคต โครงการที่ 1 คือ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการนี้เกิดขึ้นในปี 2560 เราเก็บข้อมูลละเอียดมากเป็นรายบุคคล แต่ละคนเรามีข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเขาถึง 104 ข้อมูล เราจึงสามารถใช้ big data นี้มาทำ tailor-made policy ได้

โครงการที่ 2 คือ โครงการเราไม่ทิ้งกัน หรือที่รู้จักกันในนามโครงการ 5,000 บาท 3 เดือน โครงการนี้เกิดขึ้นในปี 2563 เพราะผลของ COVID-19 ทำให้ผู้มีอาชีพอิสระ ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ๆ ขาดรายได้และไม่มีงานทำ จึงต้องช่วยเหลือเป็นการด่วน แต่ด้วยความที่ไม่มีหน่วยงานใดมีฐานข้อมูลอาชีพอิสระ จึงไม่สามารถทำแบบ tailor-made policy ได้ ฉะนั้น โครงการที่ 1 จึงเหมาะที่จะใช้หลักความเสมอภาค ส่วนโครงการที่ 2 เหมาะที่จะใช้หลักความเท่าเทียมมากกว่า

ดังนั้น ผมจึงมีความเห็นว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากก้นเหว หลักความเท่าเทียมยังใช้ได้ดี เพราะทำได้ง่ายกว่า เร็วกว่า และไม่สับสน ในขณะที่การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ หลักความเสมอภาคน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะวันนี้เรามีข้อมูลที่ลึกพอ ใช้งบประมาณที่ตรงจุด และลดช่องว่างในมิติต่าง ๆ ได้ดี

Adblock test (Why?)


ความเท่าเทียม VS ความเสมอภาค ในการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจ - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...