Rechercher dans ce blog

Sunday, September 5, 2021

ทางสว่างวิกฤตโควิด หลัง IMF แจก SDRs ให้ไทย 4.4 พันล้านดอลลาร์ - ประชาชาติธุรกิจ

ไอเอ็มเอฟช่วยไทย
REUTERS/Johannes P. Christo/File Photo

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน เผยจับตายอดสิทธิพิเศษถอนเงิน หรือ SDRs ในทุนสำรองระหว่างประเทศขยับเพิ่มขึ้น 4.4 พันล้านดอลลาร์ หลังไอเอ็มเอฟ อนุมัติวงเงินช่วยเหลือประเทศสมาชิก 650 พันล้านดอลลาร์ เสริมสภาพคล่องต้านโควิด-19 แนะไทยเร่งเจราจาจัดหาวัคซีน หนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

วันที่ 5 กันยายน 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หนึ่งในข้อมูลเศรษฐกิจที่นักวิเคราะห์ รวมถึงผู้เล่นในตลาดต่างจับตาทุกสัปดาห์ ก็คือ ยอดเงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (Foreign Reserves) ที่รายงานทุกวันศุกร์ ซึ่ง Foreign Reserves นั้น ในมุมมองของผู้เล่นในตลาด สามารถบอกได้ว่าภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท. ได้เข้ามาช่วยดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทบ้างหรือไม่ และช่วยดูแลมากน้อยอย่างไร

โดยปกติแล้ว หากค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในเชิงอ่อนค่าไปมาก สิ่งที่เรามักจะเห็นในตลาดคือ การที่ ธปท.จะเข้ามาช่วยดูแล ด้วยการดูดซับสภาพคล่องเงินบาท ผ่านการขายเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งภาพดังกล่าวจะถูกสะท้อนมายังยอด Foreign Reserves ที่จะปรับตัวลดลง และในทางกลับกัน หากเงินบาทผันผวนในฝั่งแข็งค่ามากเกินไป ทาง ธปท. ก็จะเข้ามาช่วยลดความผันผวน ด้วยการซื้อเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มเติม ดังจะเห็นได้จากยอด Foreign Reserves ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ดังนั้น หากพิจารณาแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องและมีหลายจังหวะที่มีการผันผวนหนักในปีนี้ จะเห็นได้ว่า ยอด Foreign Reserves ก็มีการปรับตัวลดลงเช่นกัน ทั้งในส่วนของ ยอดสินทรัพย์ต่างประเทศ (Foreign Assets) รวมถึง ฐานะล่วงหน้าสุทธิ (Net Forward Position)

ทั้งนี้ หลังการประกาศผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ของรัฐบาลล่าสุด สิ่งที่เกิดคือ เงินบาทผันผวนในฝั่งแข็งค่าอย่างรุนแรง โดยแข็งค่าจากระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ มาสู่ระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน  และแน่นอนว่า ธปท. ก็มีการเข้ามาช่วยดูแลความผันผวนของเงินบาทเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากยอด Foreign Reserves ที่ปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงสัดส่วนของการเพิ่มขึ้นของ Foreign Reserves จะพบว่า ส่วนใหญ่นั้นมีการเพิ่มขึ้นจาก ยอดสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights หรือ SDRs) กว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งปกติยอดดังกล่าวจะแทบไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่กว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ นั้นเป็นการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งอาจสะท้อนถึงการเข้ามาดูแลค่าเงินบาท ของ ธปท. จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ยอด SDRs ที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากอะไร ถ้าไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาดูแลค่าเงินบาท แล้วบทบาทของ SDRs ที่เพิ่มขึ้นนั้นเพื่ออะไร?

โดยปกตินั้น SDRs เป็นสกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นโดย IMF เพื่อใช้สำหรับเป็นทุนสำรองของประเทศนั้นๆ โดยมูลค่าของ SDR นั้น จะถูกคำนวณจากตะกร้าของสกุลเงินหลักๆ 5 สกุลเงิน ตามขนาดเศรษฐกิจ อาทิ USD 41.73%, Euro 30.93%, Chinese Yuan 10.92%, Japanese Yen 8.33% และ Pound Sterling 8.09% และถึงแม้ว่า SDRs จะเป็นสกุลเงินของ IMF แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้โดยตรง

เนื่องจากจะต้องเป็นการใช้จ่ายในระดับประเทศ หรือ ประเทศ A จะต้องทำการนำเงิน SDRs ไปแลกกับประเทศ B เป็นสกุลเงินอื่นๆ เช่น ดอลลาร์, ยูโร หรือ หยวน ก่อนที่ประเทศ A จะสามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายได้ โดยแต่ละประเทศจะได้รับ SDRs มากน้อย ตามขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมี สัดส่วน SDRs 0.67%

ยอด SDRs ของ ธปท.ที่เพิ่มขึ้นกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ นั้นมาจากอะไร ?

หากติดตามข่าวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่า ทาง IMF ได้เตรียมประกาศช่วยเหลือบรรดาประเทศสมาชิก โดยเฉพาะ ประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา หรือ มีรายได้ต่ำ ที่กำลังเผชิญวิกฤติการระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรง เนื่องจากหลายประเทศไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนประสิทธิภาพสูงได้อย่างเพียงพอ

ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องในการรับมือกับวิกฤติการระบาดครั้งใหญ่ให้กับบรรดาประเทศสมาชิก ทาง IMF จึงมีมติอนุมัติ เงิน SDRs มูลค่ากว่า 650 พันล้านดอลลาร์ ให้กับประเทศสมาชิก โดยทาง IMF หวังว่า บรรดาประเทศสมาชิกจะนำเงิน SDRs ดังกล่าว มาบริหารจัดการปัญหาการระบาด อาทิ จัดซื้อวัคซีนประสิทธิภาพสูง รวมถึงนำเงินมาพัฒนาระบบสาธารณสุข และสำรองเงินบางส่วนไว้เสริมความแข็งแกร่งของเงินทุนสำรอง

ซึ่ง หากพิจารณา สัดส่วน SDRs ของไทย 0.67% จะพบว่า ประเทศไทยก็จะได้รับเงินกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์ เช่นกัน

จึงสามารถสรุปได้ว่า ยอดเงินทุนสำรองของไทยที่เพิ่มขึ้นมามากนั้น มาจาก เงิน SDRs ที่ทาง IMF ช่วยเหลือประเทศสมาชิก ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ทางรัฐบาลและธปท. จะร่วมมือประสานงานกันอย่างไร ในการจัดการเงินดังกล่าว ที่ IMF ให้มาแบบฟรีๆ เพื่อจัดการปัญหาการระบาด COVID-19

โดยมองว่า เงิน SDRs ดังกล่าว ควรถูกนำไปใช้ในการเจรจาต่อรองแบบ Government to Government (GTG) เพื่อจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง รวมถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์ และ ยา อาทิ Remdesivir, Monoclonal Antibody ที่ทางเยอรมนีได้บริจาคมา ซึ่งหากเราสามารถดำเนินการใช้เงิน SDRs ดังกล่าวได้อย่างคุ้มค่า เชื่อว่าสถานการณ์การระบาด COVID-19 ก็มีแนวโน้มดีขึ้นได้ และจะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถทยอยฟื้นตัวได้ตามลำดับ

Adblock test (Why?)


ทางสว่างวิกฤตโควิด หลัง IMF แจก SDRs ให้ไทย 4.4 พันล้านดอลลาร์ - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...