ฉลากสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า ฉลากเขียว กับโอกาสทางธุรกิจของ SMEs โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19
เรียบเรียงโดย กุหลาบ รอดทอง
เจ้าหน้าที่งานสื่อสารและบริการสังคม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ปัจจุบันสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าโลกมากขึ้น โดยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม มีอยู่เป็นจำนวนมากและเติบโตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งได้รับการส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤติในด้านต่าง ๆ ผู้ประกอบการบางส่วนอาจไม่มีแผนรับมือและเมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หลายรายประสบปัญหาทั้งทางด้านการผลิตและการตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการอีกหลายรายกำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อจะรอดผ่านวิกฤติครั้งนี้และครั้งหน้า
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงการสร้างโอกาสและการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็งและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตว่า แนวทางหนึ่งที่อยากให้พิจารณา ก็คือ การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนให้มีการผลิตที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้การรับรองฉลากเขียวกับสินค้าและบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการทั่วไป
นั่นก็คือ ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เน้นการใช้งานได้ยาวนาน ประหยัดทรัพยากร ง่ายต่อการกำจัดทิ้งหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ วัตถุดิบที่ใช้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพ สถานประกอบการมีการควบคุมมลพิษระหว่างกระบวนการผลิตและมีการจัดการของเสีย ตลอดจนดูแลด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกสถานประกอบการเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมรอบด้าน จึงได้เป็นผลิตภัณฑ์ออกมา
ไม่เพียงเท่านั้นการผลิตสินค้าให้ได้ตามข้อกำหนดฉลากเขียว ยังตรวจสอบความเป็นไปตามข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายโรงงานอีกด้วย และขณะนี้ทั่วโลกก็ให้ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น ขณะนี้หลายประเทศตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือปี พ.ศ 2593 เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญต่อการผลิตสินค้าเรื่องของบริการต่าง ๆ อย่างยั่งยืนที่จะต้องดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ เพราะฉะนั้นการส่งสินค้าออกไปยังประเทศต่าง ๆ ก็ต้องให้ความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ด้วย
กล่าวได้ว่าประโยชน์ของการรับรองฉลากเขียวนั้น ประกอบด้วย
(1) การเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่อง
(2) การเพิ่มโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยผู้ผลิตสามารถส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศได้ โดยเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากฉลากเขียวเป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 และเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมโลก Global Ecolabelling Network ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
(3) การสร้างคุณค่าและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร ด้วยเพราะผู้บริโภคหันมาใส่ใจเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การที่สินค้านั้นได้การรับรองฉลากเขียวจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการเลือกซื้อยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมการรับรองฉลากเขียวมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเดิมมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการรับรองฉลากเขียวคิดเป็นราว 33% จากผู้ที่ได้การรับรองทั้งหมด และมีการขอการรับรองเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จนปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้การรับรองฉลากเขียวคิดเป็น 41% เนื่องจากได้รับประโยชน์ชัดเจน
ดังนั้นในปี 2564 นี้ จึงได้มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นโดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยผลลัพธ์ของกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีการปรับตัวให้มีมาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้เกณฑ์ฉลากเขียวมาอ้างอิง ส่งผลให้ SMEs เป็นกลไกสำคัญของประเทศไทย และสามารถยกระดับสู่มาตรฐานการดำเนินงานในระดับสากลให้สูงขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป.
ฉลากสิ่งแวดล้อมกับโอกาสทางธุรกิจของ SMEs - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment