สรท.มั่นใจส่งออกปี 64 โต 12% กังวลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังไม่คลี่คลาย ต่างจังหวัดยังไม่ได้รับวัคซีน ย้ำปัจจัยเสี่ยงปัญหาค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลากยาวไปถึงเทศกาลตรุษจีนปีหน้า รวมถึง ชิปขาด ราคาน้ำมันผันผวน
วันที่ 5 ตุลาคม 2564 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากการประเมินภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนสิงหาคม 2564 พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 8.93% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 715,416.40 ล้านบาท ขยายตัว 12.83% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 47.92% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 765,248 ล้านบาท ขยายตัว 53.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2564 ขาดดุลเท่ากับ 1,215.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 49,832 ล้านบาท
สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากสุดในรอบ 4 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ จากการที่ระบบธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ตามมาตรการที่ธนาคารกลางของสหรัฐเร็วขึ้น
“ช่วงไตรมาสที่ 4/2564 การส่งออกจะมีมูลค่าประมาณ 2.1-2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน ส่วนภาพรวมการส่งออกในปี 2564 สรท.ฟันธงและมั่นใจ จะเติบโตอยู่ที่ 12% ส่วนที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีโอกาสเติบโต 14-15% นั้น ยังพอมีโอกาสแต่อาจจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังไม่คลี่คลาย บวกกับเรื่องค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2565 ส่วนภาพรวมจะมีการประเมินอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่เชื่อว่าในปีหน้าจะเติบโตเท่าไหร่ อยู่ที่ฝีมือล้วน ๆ”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 อาทิ 1.เรื่องอัตราการกระจายวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งหากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการระบาดและไม่สามารถเร่งกระจายวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2564 หรือรุนแรงถึงใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการส่งออกจะไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ 2.ค่าระวางเรือมีทิศทางทรงตัวในระดับสูงจนถึงปลายปี 2565 3.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน
อาทิ ชิป ที่คาดว่าจะลากยาวถึงปี 2566 และเหล็ก ที่มีราคาสูงขึ้น 200% ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4/2564 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และ 4.การกลับมาเปิดให้บริการของภาคท่องเที่ยวและบริการ ทำให้เสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาในช่วง 2 เดือนหลังจากนี้ต่อไป
ส่วนปัญหาราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นนั้น เบื้องต้น สรท.คาดราคาน้ำมันในช่วงปลายปี 2564 มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก หรือประมาณ 80 เหรียญสหรัฐ/บาเรล ซึ่งคาดว่าปัญหานี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยมากนัก หรืออาจจะส่งผลกระทบเพียง 10-15% เท่านั้น แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้คือประเทศคู่ค้าที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณ 80-90% แต่สิ่งที่ไทยจะได้รับผละกระทบหลังจากเปิดประเทศ คือราคาสินค้าในประเทศที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์จะปรับขึ้นแน่นอนในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 จากปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน และวัตถุดิบที่จะหาได้ยากขึ้น เป็นต้น
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า ไทยยังคงเผชิญปัญหาค่าระวางเรือที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ และทรงตัวในระดับสูงไปจนถึงปีหน้า แน่นอนว่าต้นทุนที่สูงขึ้นเท่าตัวจาก 10-15% เป็น 20-30% จะยิ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือปลายทาง แม้ว่าบริษัทเรือยังมีความยินดีที่มีการปรับค่าระวางเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆแต่คุณภาพในการให้บริการกลับแย่ลง ผู้ส่งออกไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะส่งสินค้าไปถึงจุดหมายได้เมื่อไหร่ สิ้นสุดตรงไหน
“การตรึงราคาน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ในครั้งนี้ นั้น โดยปกติแล้วภาคธุรกิจจะทราบถึงแนวทางของกระทรวงพลังงานที่ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้กระทบกับภาคขนส่งภายในประเทศ หรือไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้าและวัตถุดิบของการประกอบธุรกิจ โดยการตรึงราคาในครั้งนี้ ทำให้ภาคธุรกิจเกิดความมั่นใจว่าราคาน้ำมันในตลาดโลก จะไม่มีผลต่อทุนราคาสินค้าในประเทศ ต้องขอขอบคุณภาครัฐสำหรับการตรึงราคาเพื่อลดผลกระทบด้านธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในครั้งนี้อีกครั้งด้วย”
ด้าน นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของ สรท. ที่มีต่อรัฐบาล ได้แก่ เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ครอบคลุมโดยเร็วและขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิต 2.เร่งแก้ไขปัญหาค่าระวางเรือในเส้นทางหลักให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ 3.เร่งจัดหาแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และ 4.เร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็ก เซมิคอนดักเตอร์ วัตถุดิบสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับนำเข้าผลิตเพื่อส่งออก
“ขณะนี้ร้านค้าปลีกต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐเริ่มออกมาเตือนลูกค้าให้รีบซื้อของที่จะไว้ใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์ เพราะ พ.ย.-ธ.ค. จะมีความต้องการเรื่องระวางเรือในการส่งออกไปสหรัฐและสหภาพยุโรปจากผู้ส่งออกจะสูงมากขึ้นอีก”
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ มั่นใจฝ่าวิกฤตทั้งปีส่งออกยังโต 12% - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment