Rechercher dans ce blog

Saturday, October 23, 2021

3 ทางเลือกตรึงดีเซล 30 บาท กองทุนน้ำมันฯถังแตกกู้เพิ่ม 2 หมื่นล้าน - ประชาชาติธุรกิจ

น้ำมัน
FILE PHOTO : DOUGLAS MAGNO / AFP

ในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงมาโดยตลอด ล่าสุด ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2564 น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอยู่ที่ 82.50 เหรียญ/บาร์เรล, น้ำมันดิบเบรนต์ 84.61 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 83.28 เหรียญ/บาร์เรล และมีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้นสูงต่อไปอีก

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันทุกประเภทและก๊าซ LPG จำเป็นต้องปรับราคาสูงขึ้น ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะหวนกลับมารุนแรงอีกหรือไม่

จนกลายเป็นความกังวลของผู้ประกอบการ และประชาชนที่ถูก“ซ้ำเติม” จากราคาน้ำมัน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การผ่อนคลาย เพื่อรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ด้วย

ตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาท

เบื้องต้น รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจที่จะ “ตรึง” ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจของภาคการผลิตและภาคการขนส่ง ไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท ด้วยการอาศัยกลไกการบริหารจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เปิดทางให้รัฐบาลดำเนินการได้ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ

1) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวสูงขึ้น “เกินกว่า” ระดับราคาที่เหมาะสม หรือ “มากกว่า” 30 บาท/ลิตร 2) การใช้การบริหารกองทุนจะต้องเป็นมาตรการระยะสั้น

และคงหลักการสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หลีกเลี่ยงการกระทบต่อกลไกตลาดเสรี และ 3) จะต้องคำนึงถึงภาวะความผันผวนของราคาต้นทุนที่แท้จริง แนวโน้มตลาดโลก

และหลีกเลี่ยงการ “ชดเชย” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่ควรมีการอุดหนุนราคาน้ำมันชื้อเพลิงข้ามกลุ่ม (cross subsidies)

ส่งผลให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เรียกประชุมครั้งแรกในวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ที่ปรับตัวสูงขึ้นไว้ 3 แนวทางด้วยกัน

ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 การปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของดีเซลหมุนเร็ว B7 จาก 1 บาท/ลิตร เป็น 0.01 บาท/ลิตร ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมเป็นต้นไป

แนวทางที่ 2 การปรับลด“ส่วนผสม” ขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล B7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาเป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร และแนวทางที่ 3 การปรับลด “ค่าการตลาด” ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ของผู้ค้าน้ำมันลงจากลิตรละ 1.80 บาท เป็นลิตรละ 1.40 บาท ระหว่างวันที่ 11-31 ตุลาคม 2564

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบดูไบยังไม่มีทิศทางที่จะลดลง แต่ราคาน้ำมันดิบกลับขยับราคาไต่สูงขึ้นจนทะลุ 80 เหรียญ/บาร์เรล

ด้านสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวในวันที่ 19 ตุลาคม ด้วยการนำรถบรรทุกสิบล้อออกมาวิ่ง “สวนสนาม” รอบ ๆ กรุงเทพฯถึง 6 เส้นทางเพื่อสร้างแรงกดดันให้รัฐบาล “ปรับลด” ราคาน้ำมันดีเซลลงมาอีก โดยยื่นข้อเสนอ ให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันดีเซลลงมาเหลือลิตรละ 25 บาท-ลดภาษีสรรพสามิตลง 5 บาท/ลิตร เป็นเวลา 1 ปี

มติ กบง.ครั้งที่สอง

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เรียกประชุมด่วนในวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมกับ “ยอมรับ” ว่าจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบให้ “ต้นทุน” ราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลในประเทศสูงกว่า 30 บาทต่อลิตรแล้ว ดังนั้น กบง.จึงมีมติให้

1) กำหนด “ส่วนต่าง” ราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา อยู่ที่ 0.15 บาท/ลิตร 2) กำหนด “ส่วนต่าง” ราคาขายปลีก ระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 อยู่ที่ 0.25 บาท/ลิตร

โดยยังคง “ค่าการตลาด” กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตรต่อไป โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป 2) รัฐบาลจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2564 มีฐานะกองทุนอยู่ที่ 9,207 ล้านบาท)

ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงการกู้ยืมเงินเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลด้วย

โดยมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วครั้งนี้ อยู่ภายใต้โจทย์ที่ว่า ราคาเนื้อน้ำมัน ณ หน้าโรงกลั่นจะต้องไม่ปรับขึ้นเกินไปกว่า 22 บาท/ลิตร สำหรับดีเซลหมุนเร็วธรรมดากับดีเซล B7 ส่วนดีเซล B20 จะต้องไม่เกินไปกว่า 25 บาท/ลิตร

ลดสรรพสามิตรัฐเสียรายได้

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่ามาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้ในระยะสั้นเท่านั้น หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงพุ่งขึ้นสูงต่อเนื่อง รัฐบาลจะมีทางเลือกเหลืออยู่อีก 3 ทางเลือก คือ

1) การลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลง จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ลิตรละ 5 บาทกว่า (B7 5.99 บาท-ดีเซลหมุนเร็ว 5.99 บาท-B20 5.1530 บาท) โดยข้อดีของวิธีการนี้ก็คือ

ราคาน้ำมันดีเซลจะลดลง “ต่ำกว่า” ราคาที่รัฐบาลตรึงเอาไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่ข้อเสียก็คือ รายได้จากภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐบาลจะหายไปทันที (ต.ค. 2563-ก.พ. 2564 92,754 ล้านบาท)

2) การคงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลต่อไป แต่เงินจากกองทุนน้ำมันฯที่นำมาใช้บริหารจัดการตามมาตรการนี้จะติดลบ จากปัจจุบันเหลือเงินอยู่ประมาณ 9,207 ล้านบาท

โดยมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลอาจจะใช้วิธีให้ กองทุนน้ำมันฯ กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเข้ามาเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท แต่ข้อเสียก็คือ เงินที่กู้มาเพิ่มนี้ไม่ได้หายไปไหน

แม้อนาคตราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงมา แต่ผู้ใช้น้ำมันดีเซลในประเทศก็จะต้องจ่ายค่าน้ำมันในราคาเท่าเดิม เพื่อนำเงิน “ส่วนต่าง” จากราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลง ส่งกลับไปใช้หนี้ให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป จนกว่าจะหมด

และ 3) การยอมรับความจริงที่ว่าราคาน้ำมันดิบมีการปรับขึ้นลงตามสภาวะตลาด และรัฐบาลไม่สามารถที่จะ “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกได้ตลอดไป ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลจะเลือกใช้วิธีการไหนที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันและประชาชนน้อยที่สุด

Adblock test (Why?)


3 ทางเลือกตรึงดีเซล 30 บาท กองทุนน้ำมันฯถังแตกกู้เพิ่ม 2 หมื่นล้าน - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...