Rechercher dans ce blog

Monday, October 4, 2021

3 ทางเลือกชี้ชะตา ไทยที่ทิ้งขยะโลก - ไทยรัฐ

กลายเป็นประเด็นร้อนให้ “สังคมไทยต้อง จับตาเป็นพิเศษ” อีกครั้งในโค้งสุดท้ายชี้ชะตาผลสรุป “มติการนำเข้าเศษพลาสติกจากประเทศพัฒนาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานรีไซเคิล” ที่กำลังจ่อทะลักเข้ามาตั้งรกรากฐานการผลิตในเขตปลอดอากรอย่างเสรี

ตามการประชุม “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์” ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบทางไกลโดยมีหน่วยงาน ตัวแทนภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมเข้าร่วม 22 องค์กร หารือพิจารณาการนำเข้าเศษพลาสติก มีข้อสรุปให้จัดทำข้อดี ข้อเสียประกอบการตัดสินใจด้านเงื่อนไขระยะเวลาห้ามนำเข้าฯ แนวทางแรก...ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกในปี 2564 ตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 แนวทางที่2...ห้ามนำเข้าฯเด็ดขาดในปี 2569 ตามมติคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2564 แนวทางที่ 3...ห้ามนำเข้าฯ เด็ดขาดในปี 2566

กำหนดกรอบให้แล้วเสร็จ 2 เดือน หรือปลายเดือน ต.ค.2564 ก่อนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ท่ามกลางเสียงคัดค้าน “เครือข่ายภาคประชาสังคม 108 องค์กร”แสดงจุดยืนให้ภาครัฐยกเลิกนำเข้าเด็ดขาดปี 2564 เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นที่ทิ้งขยะโลกในอนาคต ด้วยการยื่นหนังสือต่อ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.อุตสาหกรรม คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

ในช่วงยื่นหนังสือนี้ ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า บอกว่า ในปี 2561-2563 ประเทศไทยนำเข้าเศษพลาสติกรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,026,886 ตันและปริมาณการส่งออก 412,256 ตัน หมายความว่าเศษพลาสติกนำเข้ามายังเหลืออยู่ในประเทศ 614,630 ตัน หรือกว่าครึ่งหนึ่งที่นำเข้ามาด้วยซ้ำ

ดังนั้นจะอ้างไม่ได้ว่า “เศษพลาสติกในประเทศมีไม่เพียงพอ” จำเป็นต้องนำเข้ามาอีกอันเป็นเหตุผลรับฟังไม่ได้ ทั้งยังมอบรายชื่อบริษัทผู้ขอนำเข้าเศษพลาสติกจำนวนหนึ่ง และภาพประกอบแสดงหลักฐานว่าบริษัทเหล่านี้ก่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมแก่ในไทย ที่เคยถูกตรวจพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายมาก่อน

เช่นเดียวกับ “มูลนิธิบูรณะนิเวศ” ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ กมธ.สิ่งแวดล้อมฯวุฒิสภา ตรวจสอบมติคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกฯ ที่ขยายการนำเข้าเศษพลาสติกต่ออีก 5 ปี ทั้งเรียกร้องเปิดโอกาสให้เครือข่ายภาคประชาชนเข้าชี้แจงเหตุผล และข้อมูลการคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติกในปี 2564นี้ด้วย

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า การพิจารณาห้ามนำเข้าเศษพลาสติกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก...การขยายนำเข้าออกไป 5 ปี เรื่องนี้ต้องรอเดือน ต.ค.ตามที่กรมควบคุมมลพิษในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกฯขอเวลารวบรวมข้อมูลกระทบ...เหตุผลความจำเป็น ต่อการนำเข้านี้

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ

ส่วนที่สอง...การให้สัตยาบันในข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล (Ban Amendment) ในวันที่ 13 ก.ย.2564 ก็มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนภาคธุรกิจ และภาคประชาชนไปแล้ว พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษตั้งแต่วันที่ 13-30ก.ย.2564นี้ด้วย

ความสำคัญการให้สัตยาบัน “ภาคีสมาชิกภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซล” จะมีผลให้รับคุ้มครองมิให้ส่งออกขยะอันตรายจากกลุ่มประเทศพัฒนาเข้ามา “ดินแดนไทย” ไม่ว่าจะการกำจัดทิ้งหรือรีไซเคิลทุกกรณี

ต้องเข้าใจว่า “อนุสัญญาบาเซล” มีเป้าหมายสำคัญ “ห้ามประเทศภาคี” ส่งออกเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดนจากประเทศพัฒนาไปกำจัดทิ้ง หรือรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนานั้น “ยกเว้นกรณีที่ประเทศผู้ส่ง และประเทศผู้รับ ตกลงยินยอมกันก่อน” ที่เป็นช่องว่างในการเคลื่อนย้ายได้อยู่เช่นเดิม

ต่อมาก็มีกำหนด “ภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซล” แก้ไขจุดอ่อนช่องโหว่การสมยอมของประเทศต้นทางและปลายทาง ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดนของประเทศให้สัตยาบันภาคแก้ไขฯเด็ดขาด...เพื่อคุ้มครองประเทศกำลังพัฒนาจากการรับภาระของเสียอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วนี้ที่ “ประเทศไทย” ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซล ตั้งแต่ปี 2540 แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมในส่วน “ภาคแก้ไขของอนุสัญญา” จนถึงปัจจุบัน

ถ้า “ประเทศไทย” ได้ให้สัตยาบันในภาคแก้ไขฯ ก็จะได้รับการคุ้มครองระยะยาวโดยปริยาย แต่เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ตามที่ “กรมควบคุมมลพิษ” ต้องรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ สังคม สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม และความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนในการให้สัตยาบันนี้

ทว่า “การให้สัตยาบันภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซล” หลายหน่วยงานก็มีโทนเสียงทำนองเดียวกัน แม้ให้สัตยาบันแล้วยังสามารถนำเข้าเศษพลาสติกที่สะอาดไม่ปนเปื้อน เพื่อรีไซเคิลใช้ซ้ำไม่สูญเสียรายได้ ทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจรีไซเคิลใช้วัตถุดิบในประเทศ ทำให้เกิดการเก็บรวบรวมของเสียกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น...ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรามีภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลกสามารถใช้เป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองทางการค้าได้ด้วยซ้ำ เหตุนี้ “ประเทศไทยต้องให้สัตยาบันภาคแก้ไขฯ” มิเช่นนั้นก็คงเป็นจุดอ่อนเปิดช่องการเคลื่อนย้ายลักลอบสำแดงเท็จของเสียอันตรายเข้ามาในประเทศก่อปัญหาตามมา

เมื่อต้นเดือน ก.ย.ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ตรวจพบสินค้าขาเข้าสำแดงผิดข้อเท็จจริงจากสินค้าเศษกระดาษไม่ได้แยกพิกัด 4707.90.00 น้ำหนัก 294 ตัน ผลตรวจในตู้พบลักษณะเข้าข่ายเป็นขยะเทศบาลพิกัด 3825.10.00 ก่อนให้บริษัทนำเข้าส่งกลับประเทศต้นทางดังเดิม

สะท้อนให้เห็นว่าคงมี “การนำเข้าขยะพลาสติก” ที่ต่อมาเปลี่ยนมาใช้คำว่า “เศษพลาสติก” กันมาตลอดในปริมาณสูงกว่า 200,000 ตัน ในปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ภาคประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกดดันอย่างหนัก เพื่อห้ามไม่ให้มีการนำเข้าของเสียจากต่างประเทศอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง

อันเป็นผลให้ “ภาครัฐ” ต้องเร่งแก้ไขปัญหาหาทางออกด้วยการนำมาสู่ “การจัดตั้งประกาศเขตปลอดอากร” ที่พบซุกซ่อนการนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามารีไซเคิลส่งออกไปนอกประเทศ ในโรงงานที่ตั้งในเขตปลอดอากรภายใต้ พ.ร.บ.ศุลกากร และเขตประกอบการเสรี ตาม พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กลายเป็นผลักภาระให้ “ชุมชนท้องถิ่นรับชะตากรรม” เผชิญกับความขัดแย้งรุนแรงระหว่างโรงงานรีไซเคิลฟ้องร้องชาวบ้านที่คัดค้านต่อต้านทั้งมีปัญหาผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อม...คุกคามสุขภาพประชาชน เพราะอุตสาหกรรมรีไซเคิลเป็นกิจการก่อมลพิษสูง ที่ประเทศพัฒนามักส่งออกไปรีไซเคิลนอกประเทศ

ทั้งยัง “จำกัดโรงงานรีไซเคิลในประเทศตัวเอง” แล้วควบคุมการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เช่น “จีน” แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการสั่งปิดโรงงานรีไซเคิล และออกมาตรการห้ามนำเข้าขยะต่างประเทศ...ตอกย้ำด้วยกรณี “การลักลอบทิ้งกากของเสียในพื้นที่ จ.ลพบุรี” ตามรายงานไม่เป็นทางการมีความเกี่ยวเนื่อง “บริษัทกำจัดกากอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคอีสาน” ที่รับกากอุตสาหกรรมมาจากพื้นที่ภาคตะวันออกมากเกินไป จนไม่มีพื้นที่สามารถจัดเก็บทำลายแล้วต้องลักลอบนำมาทิ้ง จ.ลพบุรี ตามมานี้

แต่คงต้องรอผลสรุป “ภาครัฐ” โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบได้อยู่แล้วว่า “โรงงานใดลักลอบทิ้ง” ดูจากบรรจุภัณฑ์ในที่เกิดเหตุย้อนกลับไปต้นทางจะทำให้มีเบาะแสชัดขึ้น ทั้งยังเป็นผู้ควบคุม “โรงงานแหล่งกำเนิดกากของเสียอันตราย” ที่มีข้อมูลการแจ้งวิธีขั้นตอนกำจัดกากของเสียแต่ละแห่งด้วยซ้ำ

ที่พูดกันว่า “ประเทศไทย” กำลังพัฒนาสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ก็ต้องพัฒนาทุกด้านควบคู่กันอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม เหตุนี้ไม่ควรนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเพิ่มมาอีกเฉพาะขยะของเสียที่มีอยู่ในประเทศก็มากเกินพอจนกลายเป็นปัญหายากต่อการบริหารจัดการลำบากอยู่แล้ว

หลักสำคัญการเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” อันนำไปสู่เป้าหมายประเทศเจริญรุ่งเรืองได้ จำเป็นต้องหันกลับมาแก้ไขสิ่งที่ยังเป็นปัญหาคงค้างอยู่ให้โปร่งใสชัดเจนก่อน แล้วค่อยพัฒนาก้าวต่อไปได้.

Adblock test (Why?)


3 ทางเลือกชี้ชะตา ไทยที่ทิ้งขยะโลก - ไทยรัฐ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...