ธปท.เปิดผลสำรวจทักษะทางการเงินคนไทยปี63 พบคนไทย มีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ 71% จากปี61 ที่ระดับ 66.2%
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะทางการเงินที่ดีอันจะเป็นภูมิคุ้มกันให้สามารถดูแลตนเองได้แม้ต้องเผชิญความท้าทายต่าง ๆ
อาทิ หนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและธุรกิจในวงกว้าง ในปี 2563 ธปท. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นครั้งที่ 8
ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,901 ครัวเรือน เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดี
ภาพรวมผลการสำรวจปี 2563ระดับทักษะทางการเงินและองค์ประกอบ ผลการสำรวจทักษะทางการเงินปี 2563 แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 71.0 สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนในปี 2561 (ร้อยละ 66.2) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินครั้งล่าสุดของ OECD ในปี 2563(ร้อยละ 60.5)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน พบว่าคนไทยมีพัฒนาการดีขึ้นในทุกด้าน
โดยความรู้ทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 62.9 (ร้อยละ 55.7 ในปี 2561) ปรับตัวดีขึ้นในทุกหัวข้อแต่ยังมีหัวข้อที่สามารถพัฒนาและส่งเสริมเพิ่มเติม ได้แก่ การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และมูลค่าของเงินตามกาลเวลา
ด้านพฤติกรรมทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 71.1 (ร้อยละ 67.8 ในปี 2561) โดยหัวข้อการจัดสรรเงินก่อนใช้และศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่เหมาะสมมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาก
อย่างไรก็ดี หัวข้อการบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้มีคะแนนลดลง ด้านทัศนคติทางการเงินอยู่ที่ร้อยละ 82.0 (ร้อยละ 78.0 ในปี2561) มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะทัศนคติในเรื่องการวางแผนเพื่ออนาคตในระยะยาวเป็นหัวข้อที่มีพัฒนาการจากปี 2561 มากที่สุด ซึ่งความไม่มั่นคงทางรายได้จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะมีส่วนทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตมากขึ้น
เมื่อพิจารณาระดับทักษะทางการเงินตามมิติช่วงวัยพบว่าทุกวัยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้านสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ โดย Gen Y มีระดับทักษะทางการเงินดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัยอื่นเนื่องจากมีคะแนนด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงินสูง แต่มีคะแนนทัศนคติทางการเงินค่อนข้างน้อย รองลงมาคือ Gen X
โดยทัศนคติทางการเงินเป็นหัวข้อที่มีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น Gen Z มีคะแนนทักษะทางการเงินค่อนข้างน้อย โดยมีคะแนนด้านพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินน้อยที่สุดในทุกช่วงวัยแต่มีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับคะแนนปี 2561
โดยเฉพาะด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน และ Gen Baby Boomer ขึ้นไป มีคะแนนทักษะทางการเงินน้อยที่สุดโดยมีคะแนนด้านความรู้น้อยกว่าช่วงวัยอื่น
ผลสำรวจแบงก์ชาติพบคนไทย 'ออม' เพิ่มขึ้น - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment