Rechercher dans ce blog

Tuesday, October 5, 2021

"แท็กซี่เสรี”ทางเลือกใช้บริการ - ไทยโพสต์

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับส่งคนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ในอดีตมักมีการร้องเรียนถึงความไม่เหมาะสมในการให้บริการรูปแบบดังกล่าว มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการให้บริการในรูปแบบนี้กลับได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการ เนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ดังนั้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ กรมขนส่งทางบก จึงได้หาแนวทางให้การบริการเหล่านั้นถูกกฎหมายและควบคุมได้
    แน่นอนว่า ในเวลาต่อมาราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและราคาค่าโดยสาร “รถส่วนบุคคล” จดทะเบียนเป็น “แท็กซี่” บริการผ่านแอปพลิเคชันได้คนละ 1 คัน ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ลงนามในกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 ฉบับเรียบร้อยแล้ว
    ดังนั้น สำหรับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่สนใจยื่นขออนุญาตและขอการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สามารถยื่นขอมาได้ โดย ขบ.จะใช้เวลาพิจารณาความถูกต้องภายใน 30 วัน หากผ่านการพิจารณาคาดว่าภายในเดือน พ.ย.64 จะมีการเริ่มเปิดให้บริการเรียกรถแท็กซี่ และรถส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เบื้องต้นคาดว่าจะมีรถสนใจเข้าร่วมแอปพลิเคชันไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคัน โดย ขบ.จะประเมินความพึงพอใจจากประชาชนคู่ขนานกันไปด้วย
    มาดูกันที่อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น (สตาร์ทมิเตอร์) รถที่เรียกผ่านแอป อยู่ระหว่าง 40-150 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของรถว่าเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ส่วนอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง หรือค่าโดยสารระยะทางเกินกว่า 2 กิโลเมตร (กม.) แรก คิด กม.ละ 6-16 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของรถ ขณะที่อัตราค่าโดยสารขณะรถจอดนิ่ง หรือรถติด คิดอัตราไม่เกิน 2 บาท/นาที โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าเรียกรถได้ในอัตราไม่เกิน 20 บาท
    แอปพลิเคชันดังกล่าวจะมีการจัดระบบการเรียกรถไว้ตามหมวดหมู่ โดยจะจัดให้รถแท็กซี่สาธารณะอยู่ในอันดับแรก รองลงมาคือ รถประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรถแท็กซี่ส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งจากการเปิดรับฟังความเห็นก่อนหน้านี้พบว่ามีเจ้าของแอปพลิเคชัน 6 บริษัทที่แสดงความสนใจ
    ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. ให้ข้อมูลว่าตามขั้นตอน เจ้าของแอปพลิเคชันต้องยื่นเรื่องขออนุญาตไปยัง ขบ. โดยต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนด คือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย, มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท, มีสถานที่ประกอบการในไทย, มีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของ ขบ. จากนั้น ขบ.จะใช้เวลาในการพิจารณาแอปพลิเคชันหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 1 เดือน
    สำหรับอัตราค่าโดยสารแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามประเภทของรถ คือ 1.รถยนต์รับจ้างขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กม.แรก 40-45 บาท ระยะทางเกินกว่า 2 กม.ขึ้นไป กม.ละ 6-10 บาท 2.รถยนต์รับจ้างขนาดกลาง ระยะทาง 2 กม.แรก 45-50 บาท ระยะทางเกินกว่า 2 กม.ขึ้นไป กม.ละ 7-12 บาท และ 3.รถยนต์รับจ้างขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กม.แรก 100-150 บาท ระยะทางเกินกว่า 2 กม.ขึ้นไป กม.ละ 12-16 บาท
    จากข้อมูลพบว่าผู้ให้บริการแอปพลิเคชันในไทยในปัจจุบัน เช่น บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Grab) ทุนจดทะเบียน 2,879 ล้านบาท, บริษัท เพอร์พิล เวนเจอร์ จำกัด (Robinhood) ทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด (Food Panda) ทุนจดทะเบียน 204 ล้านบาท, บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด (Gojek) ทุนจดทะเบียน 104 ล้านบาท และบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท เป็นต้น
    จะเห็นได้ว่าเมื่อการให้บริการถูกกฎหมาย สิ่งที่ตามมาแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับหลายฝ่าย ทั้งตัวผู้โดยสารเองที่เคยประสบปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ได้มีทางเลือกใช้บริการผ่านแอปที่ระบุเวลาแน่นอน มีความโปร่งใสแสดงราคาให้รู้ก่อนเดินทาง และยังสามารถเลือกวิธีการชำระเงินได้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะด้วยเงินสดหรือตัดบัญชีผ่านแอปพลิเคชันได้เลย ที่สำคัญคือมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพราะมีระบบติดตามการเดินทางแบบเรียลไทม์ มีฐานข้อมูลของคนขับที่สามารถตรวจสอบได้หากมีเหตุฉุกเฉิน และมีระบบร้องเรียนหรือระบบให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี.

กัลยา ยืนยง

Adblock test (Why?)


"แท็กซี่เสรี”ทางเลือกใช้บริการ - ไทยโพสต์
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...