"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 สังคมไทยประสบกับความรุนแรงทางการเมืองอย่างต่อเนื่องมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 21 และอาจดำรงอยู่ไปจนถึงกลางศตวรรษที่ 21 ความรุนแรงทางการเมืองในสังคมไทยเป็นภาคแสดงของความขัดแย้งของกลุ่มที่ต้องการปกป้องโครงสร้างสังคมแบบรวมศูนย์อำนาจ และกลุ่มคนที่ประสงค์จะให้สังคมไทยมีโครงสร้างอำนาจแบบใหม่ที่ประชาชนและกลุ่มประชาสังคมมีส่วนร่วมในอำนาจของสังคมมากขึ้น
อันที่จริงความรุนแรงทางการเมืองช่วงปลายคริสต์ศตตวรรษที่ 20 เกิดขึ้นในหลายประเทศภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ความรุนแรงทางการเมืองได้พรากชีวิตและอนาคตของประชาชนจำนวนมาก ต่อมาในศตวรรษ 21 หลายประเทศความรุนแรงลดลง เพราะมีการสถาปนาระบอบการเมืองและโครงสร้างอำนาจใหม่ที่ผนึกรวมประชาชนหลากหลายกลุ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจในสัดส่วนที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย แต่บางประเทศความรุนแรงยังดำรงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มลดลงในระยะสั้น ๆ เพราะระบอบการเมืองและโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่ยังคงมีการกีดกันและปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มข้น
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ความรุนแรงทางการเมืองยังดำรงอย่างต่อเนื่องราวกับเป็นมหากาพย์ ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และสูญเสียอิสรภาพจากความขัดแย้งทางการเมือง ลักษณะของความขัดแย้งทางการเมืองในระยะนี้มิได้จำกัดขอบเขตอยู่ในแวดวงของกลุ่มชนชั้นนำ หรือระหว่างกลุ่มยุทธศาสตร์หลักทางการมืองดังในอดีตเท่านั้น หากแต่แพร่กระจายไปทั่วทุกระดับในสังคม
หากมองย้อนหลัง ความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่ทำให้เกิดการล้มตายของคู่ขัดแย้งมีหลายลักษณะด้วยกัน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศใหม่ ๆ ใน พ.ศ. 2476 ความขัดแย้งอย่างรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างคณะราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่ล้มล้างโครงสร้างอำนาจการเมืองเดิม และสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ขึ้นมาในประเทศไทย กับกลุ่มบวรเดช ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจการเมืองแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในครั้งนั้น แม้จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่จำกัดวงในกลุ่มชนชั้นนำของสังคม หลังจากนั้นความขัดแย้งภายในกลุ่มชนชั้นนำก็เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ระดับความรุนแรงของการต่อสู้ภายในกลุ่มกลับลดลง
ในช่วงระหว่างพ.ศ. 2501 ถึง 2525 ความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นสองรูปแบบ รูปแบบแรกเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำของสังคมซึ่งมีกองทัพและระบบราชการเป็นแกนหลัก กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และรูปแบบที่สองความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำบางกลุ่มกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)
ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำของสังคม กับ พคท. เป็นความขัดแย้งที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ เพราะชนชั้นนำต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิม ขณะที่ พคท.ต้องการสถาปนาโครงสร้างอำนาจแบบใหม่ขึ้นมา เป็นความขัดแย้งที่มีรากฐานความเชื่อทางอุดมการณ์การเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ชนชั้นนำมีรากฐานความเชื่อแบบอำนาจนิยมเชิงจารีต ส่วน พคท. มีความเชื่อแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เป็นการต่อสู้ที่มีความรุนแรงสูง สู้รบด้วยกองกำลังติดอาวุธซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานร่วมกว่ายี่สิบปี และเป็นการต่อสู้แบบสงครามตัวแทนที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งระดับโลกในกระแสของสงครามเย็น ชนชั้นนำไทยเป็นตัวแทนของฝ่ายทุนนิยมตะวันตกที่นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วน พคท. เป็นตัวแทนของฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่นำโดยประเทศสหภาพโซเวียตและจีน
ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์อำนาจนิยมจารีต กับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้ที่มีกองกำลังติดอาวุธกับกลุ่มที่ไร้อาวุธ เป็นความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และระยะเวลาการต่อสู้ดำรงอยู่ประมาณ 5 ปี จาก พ.ศ. 2514 ถึง 2519 ในการต่อสู้ปี 2516 กลุ่มตระกูลชนชั้นนำบางกลุ่มที่กุมอำนาจทางทหารและการเมืองประสบความเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ จนทำให้เครือข่ายอำนาจของกลุ่มนี้ล่มสลาย อย่างไรก็ตาม ในการต่อสู้ครั้งนั้นมีนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตหลายสิบคนจากอาวุธสังหารของกองทัพ
ผลพวงจากชัยชนะ ทำให้ ศนท. กลายเป็นกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองที่มีพลังกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคมไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ดำรงอยู่เพียงประมาณสามปีเท่านั้น ต่อมาใน พ.ศ. 2519 ศนท. ก็ถูกกวาดล้างและทำลายด้วยกองกำลังตำรวจติดอาวุธและมวลชนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีต มีนักศึกษาหลายคนถูกสังหารอย่างทารุณ และผู้นำ ศนท.ถูกจับกุมสูญเสียเสรีภาพ ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมทวงอำนาจคืนอย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่รอยร้าวและบาดแผลของสังคมถูกจารึกลงในแผ่นดินที่ยากลบเลือน และหลายสิบปีต่อมาได้กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งของความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษ 2560
เมื่อปราบปรามนักศึกษาและประชาชนสำเร็จ กลุ่มชนชั้นนำก็หันมาขัดแย้งและช่วงชิงอำนาจกันเอง ในปี 2524 ทหารกลุ่มยังเติร์กก็ได้ก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลจารีตนิยม แต่กระทำไม่สำเร็จ และกลายเป็นกบฏ แต่ไม่มีการต่อสู้ที่รุนแรงแต่อย่างใด ต่อมาในปี 2529 ทหารกลุ่มนี้ก็ได้ก่อการรัฐประหารอีกครั้ง แต่ล้มเหลวเช่นเคย
ในปี 2535 ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้ง เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจนิยมทหารที่นำโดย จปร. รุ่น 5 กับกลุ่มภาคประชาสังคมที่นำโดยสมาพันธ์ประชาธิไตย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิไตย (ครป.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และมีพันธมิตรจำนวนมาก ทั้งองค์กรสื่อมวลชน สหภาพแรงงาน องค์กรภาคประชาชนอื่น ๆและพรรคการเมืองด้วย ความขัดแย้งครั้งนั้นกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นนำได้สังหารประชาชนหลายสิบคน แต่ก็จบลงด้วยชัยชนะของภาคประชาสังคม และทำให้พื้นที่ทางอุดมการณ์ของเสรีนิยมประชาธิปไตยขยายตัว มีการวิพากษ์ระบบรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น และมีการเสนอแนวคิดการกระจายอำนาจ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมสู่สังคมอย่างกว้างขวาง ความขัดแย้งรอบนี้ดูเหมือนจะจบลงด้วยการถดถอยของอุดมการณ์อำนาจนิยมทหาร และชัยชนะของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ความหวังของการสร้างการเมืองแห่งสันติภาพ เสรีภาพและการมีส่วนร่วมได้ปรากฏขึ้น แต่โลกแห่งความเป็นจริงทางการเมืองมิได้เป็นไปดังที่ผู้คนคาดหวัง
ความรุนแรงทางการเมืองรอบใหม่เริ่มปรากฏตัวขึ้นมาอีกครั้งหลังเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และดำรงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ลักษณะความรุนแรงทางการเมืองในรอบสองทศวรรษนี้มีหลายรูปลักษณ์ อย่างแรก เป็นความรุนแรงที่ชนชั้นนำทางอำนาจที่นำโดยกลุ่มทุนอำนาจนิยมอุปถัมภ์ใหม่สังหารผู้คนในนามนโยบายปราบยาเสพติด ทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วมสามพันคน อย่างที่สองเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มกองกำลังมุสลิมติดอาวุธ อย่างที่สาม เป็นความรุนแรงระหว่างกลุ่มทุนอำนาจนิยมอุปถัมภ์ใหม่กับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมประท้วง และอย่างที่สี่ระหว่างกลุ่มอำนาจนิยมจารีตกับกลุ่มนักศึกษาประชาชน
ความขัดแย้งในสองลักษณะหลังนั้นค่อนข้างมีความซับซ้อนและมีพลวัตสูง แต่แก่นของความขัดแย้งมีรากฐานจากยึดถืออุดมการณ์ที่แตกต่าง เป็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์อำนาจนิยมสองประเภทคือ ทุนอำนาจนิยมอุปถัมภ์ใหม่และอำนาจนิยมจารีต กับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิไตย ความขัดแย้งที่มีรากฐานจากความแตกต่างระหว่างความคิดและความเชื่อทั้งสาม นำไปสู่การเกิดขึ้นของความรุนแรงหลายครั้งในช่วงยี่สิบปีนี้ มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน และเป็นความขัดแย้งที่แผ่ขยายไปทั่วทั้งสังคม และลงลึกไปสู่ระดับครอบครอบครัว เป็นความขัดแย้งที่ผสมผสานระหว่างความแตกต่างทางชนชั้นและความแตกต่างของช่วงวัย เป็นความขัดแย้งระหว่างการโหยหาและรื้อฟื้นอดีตอันรุ่งโรจน์ กับการมุ่งสร้างสังคมใหม่ในอนาคต
ความขัดแย้งนี้ได้ผนึกเอาประชาชนส่วนมากเข้าไปสู่วังวนของการต่อสู้ ซึ่งแสดงออกมาทั้งในรัฐสภา สื่อสังคมออนไลน์ ท้องถนน ห้องประชุมสัมมนา สภากาแฟในชุมชน และครอบครัว แต่ระดับความรุนแรงแตกต่างกัน การต่อสู้ในท้องถนนมีความรุนแรงมากที่สุด มีประชาชนบาดเจ็บ ล้มตาย และสูญเสียเสรีภาพจำนสนมาก รองลงมาเป็นสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสาดกันด้วยถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง การประนาม และการฟ้องร้อง ความขัดแย้งรอบนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคมร้าวฉานอย่างรุนแรง
ในกลางพุทธศตวรรษที่ 2560 ความขัดแย้งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เพราะชนชั้นนำอำนาจนิยมทั้งแบบทุนอำนาจนิยมอุปถัมภ์ใหม่และแบบจารีตนิยมมีเป้าหมายปกป้องโครงสร้างอำนาจแบบเดิมด้วยการควบคุมกติกาการเมือง การครอบงำความเชื่อ การใช้กฎหมายที่เข้มข้น และการปราบปรามผู้คิดต่าง ขณะที่กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยก็พยายามต่อสู้ในทุกรูปแบบเพื่อสร้างเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจด้วยการชุมนุมประท้วง และการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มชนชั้นนำในทุกมิติ กล่าวได้ว่า ความรุนแรงทางการเมืองไทยเป็นมหากาพย์ที่ยังไม่อาจหยั่งรู้จึงตอนจบได้โดยง่าย
มหากาพย์ความรุนแรงทางเมืองไทย - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment