“สุริยะ” ไฟเขียวดึงเงิน “กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” 2,500 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ SMEs รายละ 15 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ใช้ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมจับมือบีโอไอ สรรพากร ศุลากร ให้สิทธิประโยชน์ดันการใช้ในประเทศ ก่อนไทยขยับขึ้นแท่นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์อาเซียนภายในปี 2569
วันที่ 5 ตุลาคม 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวง พร้อมขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผ่าน 4 เครื่องมือสำคัญกับ 1 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.การให้บริการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ (IT) 2.การนำระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในพัฒนาระบบการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต 3.หุ่นยนต์ (Robot) ลดการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต และ 4.นวัตกรรม (Innovation) พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 1 กลยุทธ์ (Strategy) คือ มุ่งพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) ต่อยอด SMEs ไทยให้เข้มแข็ง ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทาง BCG Model โดยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเสียตลอดทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของภาคอุตสาหกรรม
จึงเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินสินเชื่อจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ จำนวน 2,500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปี เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติ (System Integrator : SI) และผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) คอยตรวจสอบวิเคราะห์กระบวนการผลิตและให้คำปรึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ของการลงทุน รวมทั้งจัดทำข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอด้านการเงินสำหรับ SMEs เพื่อใช้ในการขอสินเชื่อจากกองทุนและจากธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ เมื่อ SMEs ตัดสินใจลงทุนแล้ว ยังสามารถนำมูลค่าการลงทุนไปขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 3 ปี ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือนำเงินลงทุนในส่วนของเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 5 รอบบัญชี ตามมาตรการส่งเสริมของกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ (AMB) และผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติภายในประเทศ จะได้รับยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ สำหรับนำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามประกาศของกรมศุลกากร
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามหลักการให้กู้ของกองทุน ผู้ขอกู้จะต้องมีคุณสมบัติหลัก ๆ คือ ต้องเป็น SMEs ต้องผ่านการคัดกรองจากเครือข่ายอุตสาหกรรมจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้กู้รายเก่า/ใหม่ก็ได้ วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท/ราย ในกรณีที่หลักทรัพย์เพียงพอ
นอกจากนี้ยังมีกลไกจาก SME D Bank ที่สามารถเข้ามาช่วยพิจารณาวงเงินตามเงื่อนไขของธนาคารได้สูงสุดถึง 50 ล้านบาท/ราย
ส่วนกรณีของ SMEs รายเก่าที่เคยขอสินเชื่อจากกองทุน ไปแล้วเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนตามวัตถุประสงค์อื่น ๆ แต่ยังไม่ชำระเงินต้นคือ กระทรวงจะต้องหาคือกับทางแบงก์ชาติว่าจะขัดต่อการปล่อยสินเชื่อหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามก็ได้เปิดช่องไว้สำหรับกรณีดังกล่าวไว้บ้าง โดยอาจใช้แนวทางให้ บสย.เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ คาดจะมี SMEs ขอสินเชื่อกว่า 600 ราย
ทั้งนี้ ไทยยังมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียนภายในปี 2569 โดยปี 2564 นี้จะผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ SI ในประเทศจาก 200 รายเป็น 1,400 ราย ลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 30% และโรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 50%
ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในเป้าหมายระยะกลาง
โดยปี 2563 มีการลงทุนในระบบอัตโนมัติ ประมาณ 120,000 ล้านบาท มีระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 25% และใช้ระบบอัตโนมัติภายในประเทศ ประมาณ 12% อย่างไรก็ตามคาดว่าภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต จะเห็นการพัฒนาและปรับตัวด้วยการปรับเปลี่ยนภาคการผลิต มาใช้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น
เปิดทางรายเล็กกู้กองทุน SMEs วงเงิน 2,500 ล้าน ใช้หุ่นยนต์เพิ่มการผลิต - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment