Rechercher dans ce blog

Tuesday, November 2, 2021

"ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง" ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคู่รักอย่างไร - บีบีซีไทย

  • เธีย เดอ กัลเลียร์
  • บีบีซี ทรี

คนนั่งดูมือถือ

ที่มาของภาพ, Getty Images

องค์กรการกุศลด้านสุขภาพจิตแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรระบุว่า ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline personality disorder—BPD) อาจจะทำให้ความสัมพันธ์กับคนรักตึงเครียดและยุ่งยากได้ บีบีซี ทรี พูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ว่า BPD ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของพวกเขาอย่างไร

"ตอนที่ฉันได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น BPD ฉันคิดว่า คงจะไม่มีความสัมพันธ์ที่ดี"

นั่นคือความรู้สึกของ เม วัย 21 ปี ตอนที่เธอรู้ตัวว่ามีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับคนจำนวนมากในโซเชียลมีเดียที่รู้ตัวว่ามีอาการนี้

คลิปวิดีโอทางติ๊กต็อก (TikTok) คลิปหนึ่ง เขียนข้อความแทบจะเหมือนกันนี้ คนจำนวนมากเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์โดยติดแฮชแท็ก #bpdisorders บางครั้งก็เล่นมุกขำขัน และเล่าเรื่องราวซ้ำ ๆ เกี่ยวกับการผิดหวังในความรักและความสัมพันธ์ที่ไม่ดี

BPD กำลังกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในโซเชียลมีเดีย ดร.เลียนา โรมายูก จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้บรรยายที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) คิดว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนรุ่นใหม่มีวิธีที่หลากหลายในการรู้จักอาการนี้มากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ

"มีคนรุ่นใหม่ 2-3 คน ที่ทำงานกับฉัน ถามฉันว่าเขาจะเป็น BPD ไหม ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความตระหนักรู้เพิ่มขึ้น" ดร. โรมายูกกล่าว

"มีความเชื่อแย่ ๆ ว่า คนที่เป็น BPD เป็นคนอารมณ์แปรปรวน"

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอารมณ์และอาจส่งผลกระทบการจัดการอารมณ์ของคนและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ คาดว่ามีคนราว 1 ใน 100 คน เป็น BPD

หลายคนที่เป็น BPD เคยมีความบอบช้ำทางจิตใจและการไม่ได้รับการเอาใจใส่ในช่วงวัยเด็ก ซึ่งอาจทำให้ความสัมพันธ์ยุ่งยากเมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ ดร. โรมายูกชี้ว่า "ความบอบช้ำทางจิตใจ" ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่น่ากลัวหรือรุนแรงเสมอไป การที่พ่อแม่แยกทางกัน การมีระยะห่างทางความรู้สึก หรือการสูญเสียพ่อหรือแม่ไปตั้งแต่อายุยังน้อย อาจจะส่งผลกระทบได้

ผู้หญิงนั่งเท้าคางเหม่อ

ที่มาของภาพ, Getty Images

การถูกวินิจฉัยว่าเป็น BPD อาจจะมาพร้อมกับ "ตราบาป" ดร. โรมายูกอธิบายว่า "ฝ่ายหัวเก่ามีความเชื่อที่น่ากลัวหลายอย่างว่า BPD รักษาไม่หาย หรือคนที่เป็นจะอารมณ์แปรปรวน โชคดีที่คนที่ฉันทำงานด้วยนี้ไม่มีใครเชื่อแบบนั้น"

ดร. โรมายูกบอกว่าในวงการผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าที่จริงแล้ว BPD เป็นความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ หรือเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากความบอบช้ำทางจิตใจในอดีต

หมกมุ่นในความสัมพันธ์

เม เริ่มศึกษาเกี่ยวกับ BPD เพราะเธอสังเกตเห็นว่าตัวเองกำลังรู้สึก "หมกมุ่น" และกังวลในความสัมพันธ์

"ฉันสังเกตว่าอาการของฉันแปลกและผิดปกติกว่ามากตอนที่ฉันมีความสัมพันธ์" เธอกล่าว โดยเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น BPD เมื่อเดือน มี.ค. 2021

"ฉันรู้สึกหมกมุ่นค่อนข้างเร็ว ฉันจะต้องการโทรหาหรือส่งข้อความหาตลอดเวลา และฉันจะแยกตัวจากเพื่อน ๆ ทิ้งงานอดิเรกและทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับคน ๆ นั้น"

เรื่องที่ดูไม่เป็นเรื่องสำหรับคนที่ไม่เป็น BPD อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเขา

"มีอยู่ครั้งหนึ่ง ฉันอยู่ที่อะพาร์ตเมนต์ของเพื่อนตอนที่ได้รับข้อความจากแฟน และข้อความทำให้ฉันกลัวมาก ฉันก็เลยเก็บของแล้วก็บอกว่า 'ฉันต้องไปแล้วนะ' แล้วก็รีบไปอะพาร์ตเมนต์ของแฟนที่อยู่ที่ห่างไป 15 นาที"

ผู้ชายนั่งซบแขนปลายเตียง

ที่มาของภาพ, Getty Images

"ฉันกำลังมีอาการโรคแพนิกอย่างเต็มขั้น มันกลายเป็นว่า เขาสบายดี ฉันก็เลยกลับไปหาเพื่อน มันคงทำให้เพื่อนรู้สึกประหลาดใจ แต่ฉันไม่สามารถที่จะนั่งคุยต่อไปได้ เพราะอาการวิตกกังวลคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ"

ความกลัวการถูกทอดทิ้งเป็นอีกปัญหาหนึ่ง "ในช่วงสองสามสัปดาห์สุดท้ายของความสัมพันธ์ครั้งล่าสุดของฉัน ฉันบอกเขาไป 2-3 ครั้งว่าจะเลิกกับเขา แล้วก็รู้สึกเจ็บแค้นมาก" เมกล่าว

"สุดท้ายเมื่อเขาเลิกกับเขา ฉันก็เจ็บมาก โทรหาเขา ร้องห่มร้องไห้ อ้อนวอนขอให้เขากลับมาอยู่ด้วยกัน ความสัมพันธ์นั้นจบลงจากการที่ฉันเป็น BPD โดยตรง"

นับตั้งแต่เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น BPD เมเริ่มเข้ารับการรักษาที่เรียกว่า พฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี (dialectical behaviour therapy--DBT) ซึ่งเป็นการบำบัดด้วยการพูดคุยรูปแบบหนึ่งสำหรับคนที่เผชิญปัญหาในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง นอกจากนี้เธอก็ได้เริ่มรับยาต้านอาการซึมเศร้าด้วย

"ฉันรู้สึกบวกขึ้นเยอะ" เธอกล่าว "ตอนที่ได้รับการวินิจฉัยตอนแรก ฉันรู้สึกเหมือนกับได้รับโทษประหารชีวิต ฉันจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิต แต่ DBT กำลังทำให้ฉันเห็นทางออก"

ข้อสำคัญที่ต้องจำไว้คือ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น BPD จะต้องมีพฤติกรรมในแบบเดียวกันนี้

อาการ BPD หรือ พฤติกรรมรุนแรง

คนรักของคนที่เป็น BPD บางครั้งอาจรู้สึกว่า ความสัมพันธ์เป็นเรื่องยาก แต่ก็มีคนที่มีอาการ BPD จำนวนมากที่มีความสัมพันธ์ที่ดี เอลเลนบอกว่า เธอเผชิญปัญหานี้

เอลเลน วัย 32 ปี เดตกับชายหนุ่มที่มีอาการ BPD เมื่อปีที่แล้ว "ฉันไม่รู้ว่าเรื่องราวมันจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม ถ้าเขาไม่เป็น BPD" เธอกล่าว "ฉันไม่ถือสาพฤติกรรมรุนแรงของเขาหลายอย่าง เพราะฉันคิดว่าอาจจะเป็นเพราะอาการนั้น"

เธอเล่าว่า เขาทำให้เธอ "รู้สึกผิด" เมื่อปล่อยเขาไว้เพียงลำพัง จนถึงจุดที่เธอเริ่มกลับบ้านเร็วหลังจากเลิกงาน "ถ้าเรามีความเห็นไม่ตรงกัน เขาจะเงียบใส่ฉัน" เธอเล่าต่อ "ฉันอดทนต่อเรื่องนี้ เพราะคิดว่ามันเป็นเพราะ BPD เขาเริ่มหายไปทุก ๆ 3 วัน เขาจะออกไปตอนกลางดึกแล้วพอกลับมา ก็บอกฉันว่าฉันเป็นที่รักของเขา"

เธอกล่าวว่า พฤติกรรมบางอย่างของเขามีความรุนแรง

ดร. โรมายูกกล่าวว่า "ผู้ที่เป็น BPD ยังคงมีความเป็นตัวเองอยู่ แต่มันอาจจะจูงใจให้คุณตอบสนองออกไปในแบบนั้น แต่ฉันคิดว่า คุณก็ยังต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่คุณทำในระดับหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง หลายครั้งที่พฤติกรรมไม่ได้แปรปรวน แต่บางครั้งก็อาจจะแปรปรวน"

แม้ว่า พฤติกรรมเหล่านี้มักจะมาจากความกลัวการทอดทิ้ง "จากสิ่งที่คนที่เป็น BPD บอกกับฉัน มีแนวโน้มว่าเขาจะชิงบอกเลิกก่อนที่จะเป็นฝ่ายถูกทิ้ง" ดร. โรมายูกกล่าว "คุณอาจสร้างเหตุผลเพื่อจบความสัมพันธ์ หรือสร้างการทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่า คู่ของคุณอยู่กับคุณจริง ๆ นี่เป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก ไม่ใช่การจัดการความสัมพันธ์ คุณกำลังคิดถึงการเอาตัวรอดซึ่งมันย่อมดีกว่าที่จะปกป้องตัวเอง และคิดถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด"

เธอสนับสนุน "การสนทนาอย่างตรงไปตรงมา" ระหว่างคนรัก ถ้าฝ่ายหนึ่งมีอาการ BPD แต่สำหรับคนที่ไม่มีอาการก็ควรจะ "ใส่ใจกับสวัสดิภาพของตัวเอง เช่นกัน"

เธอยังได้ย้ำว่า คนที่มีอาการ BPD แต่ละคนแตกต่างกัน "คนที่เป็น BPD ที่ฉันรู้จักบางคนน่ารักมาก ร่าเริงแจ่มใสและเป็นคนน่าสนใจ"

Adblock test (Why?)


"ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง" ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคู่รักอย่างไร - บีบีซีไทย
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...