Rechercher dans ce blog

Tuesday, December 21, 2021

คกก.ความปลอดภัยทางถนนฯ วุฒิสภา เตรียมผลักดัน 6 มาตรการเด่นสู่นโยบายแก้ปัญหาอุบัติเหตุในไทย - ผู้จัดการออนไลน์



คกก.บูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา หนุนกลไกขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบ ชี้ถอดบทเรียน 11 จว.ต้นแบบของสสส. สอจร. ภาคีเครือข่ายสำเร็จ เตรียมผลักดัน 6 มาตรการเด่นสู่นโยบายแก้ปัญหาอุบัติเหตุของประเทศไทย

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวในการเป็นประธานเปิดสัมมนา “วุฒิสภาค้นหาเรื่องเด่นเพื่อเป็นนโยบาย (Best Practice)” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภาว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ถือเป็นความสูญเสียและเป็นมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ของสังคมไทยคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปีและนำมาซึ่งความสูญเสียของครอบครัวเป็นภัยต่อความมั่นคงของสังคมและประเทศโดยอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรมดวงไม่ดี แต่เป็นเรื่องความประมาทและการมีวินัยจราจร ทั้งนี้หากเทียบกับบทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างดีโดยเฉพาะภาคประชาชน จึงควรนำความร่วมมือนี้มาใช้กับการป้องกันและลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนของประชาชนในประเทศไทยสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า 2 หมื่นรายบาดเจ็บกว่า 1 ล้านคนเกิดผู้พิการรายใหม่กว่า 10,000 คนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯวุฒิสภา มีมติผลักดันให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนเรื่องเด่นของพื้นที่ต้นแบบสู่การเกิดนโยบายผ่าน 4 กลไกดังนี้ 1.บรรจุเรื่องเด่นเพื่อเป็นนโยบายและวาระการประชุมของคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯเพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายและนำไปปฏิบัติใช้ 2.ยื่นกระทู้ถามต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้พิจารณาแนวทางผลักดันเป็นนโยบายของรัฐบาล 3.ทำหนังสือรวมเรื่องเด่นเพื่อเป็นนโยบายแจ้งไปยังศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเพื่อพิจารณาขยายผลให้เหมาะสมทันเทศกาลปีใหม่ 2565 และจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน และแจ้งกับคณะกรรมาธิการติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศวุฒิสภาให้ดำเนินงานสอดคล้องตามแผนปฏิรูปประเทศ 4.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนทุกจังหวัด

นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภาและประธานอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทาถนนวุฒิสภากล่าวว่า จากการถอดบทเรียน 11 จังหวัดต้นแบบการลดอุบัติเหตุทางถนนที่ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตบาดเจ็บและพิการจากอุบัติเหตุทางถนนโดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิคจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ทำให้เห็นถึงปัญหาและมาตรการเด่นที่นำมาเป็นนโยบายได้ 6 ประเด็น 1.สร้างวินัยความปลอดภัยทางถนนโดยโรงเรียนในจ.สิงห์บุรีและจ.สกลนคร 2.การสร้างวินัยความปลอดภัยทางถนนโดยมาตรการองค์กรนิคมอุตสาหกรรมจ.ลำพูนและนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้จ.ชลบุรี 3. พลังชุมชนท้องถิ่นเพื่อความปลอดภัยทางถนนจ.นครศรีธรรมราชและจ.ร้อยเอ็ด 4.การเสริมความปลอดภัยทางถนนด้วยการปรับวิศวกรรมและความร่วมมือกับพื้นที่จ.ราชบุรีและจ.สุราษฎร์ธานี 5.การเสริมความปลอดภัยให้รถสาธารณะและรถนักเรียนจ.พะเยาและจ.เชียงราย และ 6.การเสริมความปลอดภัยเร่งใส่หมวกนิรภัยด้วยกล้อง CCTV และ AI Software จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้มีการแถลงข้อมติร่วมจากเวทีสัมมนาพร้อมส่งมอบเรื่องเด่นที่จะพัฒนาเป็นนโยบายให้กับนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความร่วมมือการดำเนินการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในระดับจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับอำเภอ ตำบล เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและประธานอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนกล่าวว่าจากการสรุปการดำเนินงานทุกโครงการพิสูจน์แล้วว่าประสบผลสำเร็จทำได้จริงต่อเนื่อง และยั่งยืนโดยมีปัจจัยสำคัญของความสำเร็จที่เหมือนกันในทุกโครงการ คือผู้บริหารองค์กรเห็นชอบสนับสนุนการดำเนินงานมีแกนนำที่เรียกว่าเจ้าพนักงานความปลอดภัยทางถนนที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินงานด้วยศรัทธามุ่งมั่นต่อเนื่องจริงจังดำเนินการได้จนเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และยังสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆได้หากนำรูปแบบการดำเนินการตามโครงการที่นำเสนอทั้ง 6 ประเด็นนี้ขยายผลดำเนินการในทุกจังหวัดทั่วประเทศผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองท้องถิ่นตลอดจนมีกลไกการกำกับติดตามที่ใกล้ชิดจริงจังจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนได้ตามเป้าหมายคือจาก 27 ต่อแสนประชาชนในปี 2563 เป็น 12 ต่อแสนประชากรในปี 2570

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวชื่นชมและขอบคุณวุฒิสภาและคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯวุฒิสภาที่เล็งเห็นปัญหาและให้ความสำคัญกับงานความปลอดภัยทางถนน และขยายผลการทำงานผ่านการเสนอเป็นนโยบายในวุฒิสภาจนบรรลุเป้าหมายการสร้างความปลอดภัยในถนนในระดับพื้นที่และทำงานร่วมกับสสส. และสอจร. ในการพัฒนาต้นแบบกลไกการขับเคลื่อนงานของจังหวัดที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในระดับจังหวัด และระดับอำเภอเต็มพื้นที่ได้แก่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอมุ่งส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน (อปท.) เพื่อให้เจ้าของพื้นที่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา และดูแลความปลอดภัยของชุมชนด้วยตนเองมีเครือข่ายตำบลที่สามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับตำบลอื่นเกิดความพยายามในการตั้งเป้าหมายลดการตายในระดับตำบล ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายและจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด


Adblock test (Why?)


คกก.ความปลอดภัยทางถนนฯ วุฒิสภา เตรียมผลักดัน 6 มาตรการเด่นสู่นโยบายแก้ปัญหาอุบัติเหตุในไทย - ผู้จัดการออนไลน์
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...