Rechercher dans ce blog

Sunday, December 5, 2021

รู้จัก "คลินิกสุขภาพเพศ" ทางเลือกบริการทางการแพทย์ บนพื้นฐานความเท่าเทียม - ไทยรัฐ

  • เปิดความหมาย "LGBTQ" กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ 
  • รู้จัก "คลินิกสุขภาพเพศ" (Gender Health Clinic)
  • จากสถิติผู้เข้ารับบริการคลินิกสุขภาพเพศ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบมีผู้เข้ารับบริการจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าในอดีต อาจเคยมีคนมองว่าการเป็น "คนข้ามเพศ" หรือกลุ่มคนที่อยู่ใน "เพศทางเลือก" เป็นบุคคลที่มีความผิดปกติที่เกี่ยวกับทางจิตใจ และร้ายแรงขั้นถูกมองว่าเป็นโรคจิตวิกลจริต ซึ่งความคิดเหล่านี้ล้วนถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรม หรือบรรทัดฐานทางสังคม จนเกิดการเลือกปฏิบัติ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้เท่าที่ควร

ขณะที่ ทางการแพทย์ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นโรค หรือมีความผิดปกติทางจิตใจแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นส่วนผสมทั้งภายในและภายนอกที่หลากหลาย เช่น ฮอร์โมน สารเคมีในสมอง การเลี้ยงดู วัฒนธรรม และพื้นฐานทางสังคมที่หล่อหลอมตัวบุคคลจึงไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับการที่ องค์การอนามัยโลก มีมติยกเลิกให้ "การข้ามเพศ" (Transgenderism) เป็นอาการของความบกพร่องทางจิตอย่างเป็นทางการ เพื่อหวังลดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในสังคมโลก

ซึ่งในปัจจุบัน ทั่วโลกเริ่มเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งสังคมไทยเราเอง มีการพูดถึงคำว่า "LGBTQ" อยู่บ่อยครั้ง โดยเริ่มรับอิทธิพลทางความคิด และบรรทัดฐานทางสังคมแบบตะวันตกเข้ามา เราจึงสามารถพบเห็นกลุ่มคนที่เป็นเพศทางเลือกได้ทั่วไป โดยสังเกตได้จากสื่อต่างๆ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ หรือมีศัพท์ที่บัญญัติใช้เฉพาะกับสื่อบันเทิงที่เกี่ยวกับชายรักชาย หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อว่า "ซีรีส์วาย"

สำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ เป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยย่อมาจากดังนี้

L - Lesbian กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง

G - Gay กลุ่มผู้ชายรักผู้ชาย

B - Bisexual กลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

T - Transgender คือกลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย

Q - Queer คือ กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก


ขณะที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น จึงได้จัดตั้ง "คลินิกสุขภาพเพศ" (Gender Health Clinic) เพื่อให้บริการแก่บุคคลข้ามเพศ ผู้มีปัญหาทางเพศทุกรูปแบบ โดยได้มีการประสานการทำงานร่วมกันของทีมแพทย์สหสาขา และเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2561

รศ.นพ.ธีระ วัชรปรีชานนท์ หัวหน้าฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า ด้วยความเชี่ยวชาญและความสามารถจากทีมแพทย์หลากหลายสหสาขา ทั้งฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวช วิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนวกกับประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม และมีการยอมรับในเพศสภาพที่บุคคลนั้นพึงจะเป็นมากยิ่งขึ้น แต่การดูแลกลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังมีข้อจำกัด

ดังนั้นผู้ที่ต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนหรือข้ามเพศ จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตมาก ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องเพศ, ฮอร์โมนเพศ หรือการเปลี่ยนแปลงของวัยโดยเฉพาะในวัยเจริญพันธุ์ นับเป็นเรื่องพื้นฐานที่ประชาชนส่วนใหญ่ประสบมาโดยตลอด

ด้วยความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้จัดตั้งคลินิกเฉพาะทางเพื่อดูแลบุคคลข้ามเพศแบบครบวงจรขึ้น มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สหสาขาคอยให้คำปรึกษา ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ มีการพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาทางกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติของผู้เข้ารับบริการในช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา พบว่ามีผู้มารับบริการจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับการยอมรับให้เป็นคลินิกต้นแบบ ซึ่งสถาบันทางการแพทย์หลายแห่งได้ขอเข้าศึกษาดูงาน เพื่อนำไปประยุกต์ให้เป็นคลินิกสุขภาพเพศครบวงจร

อย่างไรก็ตาม การบริการของคลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ครอบคลุมทุกความต้องการที่หลากหลายของผู้เข้ารับบริการทุกเพศและทุกวัยอย่างแท้จริง นับตั้งแต่คลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ, คลินิกสุขภาพวัยรุ่น, คลินิกคนข้ามเพศ พร้อมกันนี้มีบริการตรวจประเมินโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้รับบริการที่ต้องการใช้ฮอร์โมนผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ผู้ที่มีปัญหาทางเพศหรือปัญหาสุขภาพจิตอีกด้วย

สุดท้ายนี้ การจัดตั้งคลินิกสุขภาพเพศ นับเป็นโอกาสทางสังคมแก่กลุ่มคนข้ามเพศและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เท่าเทียมและเหมาะสมเช่นเดียวกับประชาชนทุกคน.

Adblock test (Why?)


รู้จัก "คลินิกสุขภาพเพศ" ทางเลือกบริการทางการแพทย์ บนพื้นฐานความเท่าเทียม - ไทยรัฐ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...