"หัวเว่ย" เดินหน้า ธุรกิจพลังงานดิจิทัล หนุนไทยไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางทางดิจิทัลของอาเซียน สู่การเป็นผู้นำในด้าน "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" (Carbon Neutrality Leader) ด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน
จากดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกในปี 2564 (Global Climate Risk Index 2021) ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยอยู่อันดับ 9 จาก 170 ประเทศทั่วโลก นำมาซึ่งการเสนอแผนแม่บท เดินหน้าประเด็นด้านพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในสมัชชาสหประชาชาติ
สำหรับแผนแม่บท ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี พ.ศ. 2608-2613 ที่ประเทศไทยได้นำเสนอในสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly (UNGA)) นับเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการเสนอและประกาศแผนแม่บทความเป็นกลางทางคาร์บอนแห่งชาติอย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2573 และมุ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2608-2613 กล่าวคือ หลังจากปี พ.ศ. 2573 หน่วยการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะต้องลดลงร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ท้าทายและต้องแข่งกับเวลา
- “อุตสาหกรรมพลังงาน” ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด
หากมาดูภาคธุรกิจที่มีการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สูงสุด 3 อันดับแรกในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน (ร้อยละ 37), กลุ่มธุรกิจคมนาคมขนส่ง (ร้อยละ 29) และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป (ร้อยละ 28) ด้วยเหตุนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ด้วยการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจึงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประมาณการขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency (IEA)) มองว่าภายในปี 2593 การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดทั่วโลก จะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 โดยสัดส่วนของกลุ่มรถยนต์ จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้ากว่าร้อยละ 90 ด้วยเหตุนี้ พลังงานไฟฟ้าจะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักทั่วโลก
- พลังงานเทคโนโลยีดิจิทัล 4 รูปแบบ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “พลังงานเทคโนโลยีดิจิทัล” ได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นกำลังหลักในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผสานรวมเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์กำลังก้าวมาถึงจุดที่เติบโตอย่างเต็มที่ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และโซลูชัน ที่จะนำไปสู่การปฏิวัติระบบไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ใน 4 รูปแบบ ได้แก่
1. เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย และเพิ่มช่วยประสิทธิภาพ ที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (Levelized Cost of Electricity) อยู่ที่ 0.037 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง แผงโมดูลมีคุณสมบัติที่เหมาะกับการใช้งาน บำรุงรักษาได้เอง และง่ายต่อการติดตั้งบนหลังคาอาคารที่พักอาศัย
2. เทคโนโลยีเก็บพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (ESS) การผนวกแบตเตอรี่ลิเธียมกับเทคโนโลยีการควบคุมระบบดิจิทัลเข้าด้วยกัน ทำให้ระบบเก็บพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีคุณสมบัติและสมรรถนะที่ต่างกัน ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ช่วยแก้ปัญหาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่มีความไม่ต่อเนื่อง
3. เทคโนโลยีสถานีการสื่อสารและศูนย์รับส่งข้อมูลขนาดย่อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ICT ได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม และกลายเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าหลักรายใหม่ ร้อยละ 10 ของการใช้พลังงานจะมาจากกลุ่มเทคโนโลยี ICT ภายในปี 2583 จึงจำเป็นต้องมีศูนย์รับส่งข้อมูลที่รองรับสถานีฐานระบบ 5G และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นประหยัดและระบบชาร์จแบบเร็ว ในปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดและชาร์จเร็วเป็นที่นิยมและมียอดขายสูงเป็นอย่างมาก โดยรถยนต์ไฟฟ้า Wuling Mini EV จากประเทศจีน ราคาเพียง 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นรุ่นประหยัดที่มีการกระจายจุดชาร์จอย่างกว้างขวาง มีระยะการขับขี่ได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซไอเสียเป็นศูนย์ในทศวรรษหน้า
- "หัวเว่ย" หนุนไทย บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน
สำหรับ หัวเว่ย ประเทศไทย ซึ่งได้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจพลังงานดิจิทัลขึ้นในปีนี้ นับเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มุ่งมั่นในการช่วยสนับสนุนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางทางดิจิทัลของอาเซียนทั้งนี้ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการเป็นผู้นำในด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Leader) ด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน
ที่ผ่านมา ธุรกิจพลังงานดิจิทัลของหัวเว่ย เรียกได้ว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเติบโตและขึ้นเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มธุรกิจโซลูชันศูนย์ข้อมูลสำเร็จรูป (Prefabricated Modular Data Center), โซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะ (Smart PV) และ โซลูชันพลังงานในด้านการอำนวยความสะดวก (Site Power Facility)
ขณะเดียวกัน ธุรกิจ mPower หัวเว่ย นับเป็นบริษัทแรกในโลกที่สร้างเทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า X-in-1 ePowertrain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยทีมงานและพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ มีการส่งมอบหน่วยพลังงานประสิทธิภาพสูง (Modular Power units) มากกว่า 300 ล้านชุดทั่วโลก ทั้งนี้ หัวเว่ย คาดว่าการนำเทคโนโลยีระดับแนวหน้าและแนวปฏิบัติระดับโลกมาใช้ จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในอาเซียนต่อไป
“หัวเว่ย” เดินหน้า “พลังงานดิจิทัล” มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment