Rechercher dans ce blog

Wednesday, December 22, 2021

โควิด : ผู้ป่วยชายไทยที่มีอาการซึมเศร้า-วิตกกังวล มีความเสี่ยงจะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศสูง - บีบีซีไทย

รูปผู้ชายกุมเป้า

ที่มาของภาพ, Getty Images

ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรคโควิด-19 กับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในคนไข้ชายไทย โดยพบว่าอาการผิดปกติดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องบางส่วนกับปัจจัยทางจิตเวช ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียดรุนแรงระหว่างการระบาดใหญ่ครั้งนี้

รายงานวิจัยข้างต้นตีพิมพ์ลงในวารสาร Translational Andrology and Urology (TAU) ฉบับเดือนธันวาคม 2021 โดยระบุว่าแม้ทั่วโลกจะมีรายงานเรื่องผู้ป่วยโควิดชายเสื่อมสมรรถภาพทางเพศทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เนื่องจากไวรัสโควิดเข้าทำลายเซลล์บุผนังหลอดเลือดและอวัยวะสืบพันธุ์ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางเพศและความสามารถในการเจริญพันธุ์ แต่ในกรณีของชายไทยซึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น ปัจจัยทางสุขภาพจิตก็อาจมีส่วนสำคัญในการทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวระหว่างที่ป่วยด้วยโรคโควิดได้เช่นกัน

มีการศึกษากลุ่มตัวอย่างชายไทยที่เข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล ระหว่างเดือนมิ.ย. - ก.ค.ของปีนี้ โดยคัดเลือกเอาผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยหนัก รวมทั้งไม่มีอาการทางจิตเวชในระดับรุนแรง และยังคงทำกิจกรรมทางเพศอยู่ในช่วงก่อนล้มป่วย ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ข้างต้น 153 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 654 ราย

กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับคัดเลือกจะต้องทำแบบทดสอบ IIEF-5 เพื่อตรวจวัดระดับความรุนแรงของอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่อาจเป็นอยู่ นอกจากนี้ยังต้องทำแบบทดสอบ PHQ-9 เพื่อประเมินว่ามีอาการของโรคซึมเศร้ามากน้อยเพียงใด รวมทั้งทำแบบทดสอบ GAD-7 เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรควิตกกังวลแบบทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) อีกด้วย

ผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศโดยทั่วไปที่ 64.7% โดยแบ่งเป็นอาการนกเขาไม่ขันในระดับเล็กน้อย 45.1% ระดับปานกลาง 15.7% และระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง 3.9%

ทีมผู้วิจัยบอกว่าตัวเลข 64.7% ของกลุ่มผู้ป่วยโควิดชายไทยที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้น ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่พบในกลุ่มประชากรต่างประเทศเป็นอย่างมาก จึงอาจพิจารณาได้ว่าอาการผิดปกติในกรณีนี้ เกิดขึ้นจากทั้งไวรัสก่อโรคและปัจจัยทางจิตวิทยาส่งผลร่วมกัน

รูปถุงผ้ามะเขือเผา

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผลการศึกษายังพบว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมของชาวเอเชียที่ส่งผลต่อการติดเชื้อโควิดได้ง่ายกว่า รวมทั้งการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อัลฟาในประเทศไทยระหว่างที่ทำการศึกษา อาจส่งผลให้สถิติการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยชายไทยสูงกว่าของต่างประเทศได้ แต่ปัจจัยเหล่านี้รวมทั้งอายุ ดัชนีมวลกาย และโรคประจำตัวที่มีอยู่ก่อนของผู้ป่วย กลับไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวของกลุ่มตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม น่าประหลาดใจว่าผลคะแนนจากแบบทดสอบโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล กลับแสดงความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องอย่างสูงกับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยโควิดชายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชายหนุ่มอายุน้อย ซึ่งจะพบอาการนกเขาไม่ขันได้สูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคอื่นที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน

ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปในรายงานว่า "ปัจจัยทางจิตวิทยา อันเนื่องมาจากการแบกภาระต่าง ๆ ในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 รวมทั้งการมีสถานภาพต่ำในทางสังคมและเศรษฐกิจ นำไปสู่การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยโควิดชายไทย ในอัตราที่สูงกว่าต่างประเทศอย่างมาก การศึกษานี้จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพจิต ในการวางแนวทางป้องกันและรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยโควิดชายไทยต่อไป"

Adblock test (Why?)


โควิด : ผู้ป่วยชายไทยที่มีอาการซึมเศร้า-วิตกกังวล มีความเสี่ยงจะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศสูง - บีบีซีไทย
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...