Rechercher dans ce blog

Monday, December 27, 2021

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก “การให้ของขวัญปีใหม่” - โพสต์ทูเดย์

นักเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomist) ที่มองว่า “การให้ของขวัญปีใหม่นั้นอาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล”

คอลัมน์ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; https://ift.tt/3HgniL7; piriya@nida.ac.th

เป็นประจำในทุกๆ ปีในช่วงเทศกาลส่งความสุขที่เราจะจัดหาของขวัญปีใหม่ให้สำหรับญาติสนิทมิตรสหายต่างๆ และผมเชื่อว่าในตอนนี้ หลายๆ ท่านคงกำลังปวดหัวอยู่ว่าจะซื้ออะไรเป็นของขวัญสำหรับเทศกาลปีใหม่ดีถึงจะเป็นที่ถูกใจแก่ผู้รับ

นักเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomist) มักพ้องต้องกันว่า การจับจ่ายใช้สอยในการหาซื้อของขวัญปีใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมผ่านการบริโภคของครัวเรือน (Household Consumption) และจะส่งผลทางบวกต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่นการจ้างงาน หรือ ตลาดหุ้น (แต่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว) ก็ตาม แต่ความคิดเห็นดังกล่าวกลับแตกต่างจากแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomist) ที่มองว่า “การให้ของขวัญปีใหม่นั้นอาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล”

ความคิดนี้เกิดจากสาเหตุที่การให้ของขวัญปีใหม่มักจะ “เป็นการตัดสินใจของผู้ให้” แต่เพียงอย่างเดียวโดย “อาจไม่คำนึงถึงความต้องการของผู้รับ” ซึ่งส่งผลทำให้ “มูลค่าที่ผู้รับได้รับ (Value) นั้นอาจจะต่ำกว่าราคาที่แท้จริง (Actual Price) ของของขวัญ” ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีใครคนหนึ่งให้ของขวัญแก่คุณที่มีราคา 500 บาท ในขณะที่คุณเห็นว่าของชิ้นนั้นควรจะมีมูลค่าแค่ไม่เกิน 300 บาท แสดงว่าการให้ของขวัญชิ้นนี้เป็นการให้ที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ (Inefficiency) และกลับก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Deadweight Loss) มากถึง 300 บาท

Waldfogel (1993) ได้ทำการประมาณการความสูญเสียดังกล่าวพบว่า การให้ของขวัญคริสต์มาส (Christmas Gift) สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่คนสหรัฐถึงประมาณ 4-13 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยยิ่งถ้าผู้ให้และผู้รับมีความแตกต่างทางสถานะทางสังคมมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียมากขึ้นเท่านั้น (เช่นของขวัญจากปู่ย่าให้แก่หลาน ซึ่งมีวัยต่างกันมาก จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ “มากกว่า” ของขวัญที่ได้รับจากเพื่อนสนิทที่อาจมีวัยใกล้เคียงกัน)

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคน (รวมถึงตัวผมเอง) ไม่เห็นด้วยกับการงานศึกษาชิ้นนี้เท่าไรนัก สาเหตุมาจากการเลือกของขวัญมักแสดงถึงความใส่ใจของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางสังคม (มากกว่าที่จะสนใจว่าผู้รับจะพอใจที่ได้รับหรือไม่) บทความชิ้นหนึ่งในวารสาร The Economist ที่มีชื่อว่า “Is Santa a Deadweight Loss: Are all those Charismas Gifts just Waste of Resource?” ระบุว่า การให้ของขวัญอาจไม่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจถ้า

1. ผู้รับของขวัญอาจไม่ทราบถึงความต้องการของตนที่แน่นอน การให้ของขวัญจึงเปรียบเสมือนกับความใส่ใจของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับ การให้ของขวัญจึงไม่ใช่เป็นแค่การเปรียบเทียบระหว่างราคากับราคา แต่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (ทางสังคม) ทางด้านความรักและความปรารถนาดีระหว่างกัน

2. ในบางกรณี ผู้ให้อาจมีช่องทางพิเศษในการหาของขวัญที่ได้ราคาถูกกว่าที่ผู้รับจะหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป หรือในบางกรณีที่ ผู้ให้อาจสามารถหาของขวัญที่ผู้รับไม่สามารถหาซื้อได้เลย การได้ของขวัญในลักษณะนี้จะสร้างความพึงพอใจแก่ผู้รับเป็นอย่างมาก

3. ของขวัญบางอย่างเป็นสิ่งที่ “ประเมินค่าไม่ได้” เนื่องจากเป็น “คุณค่าทางจิตใจ” มากกว่ามูลค่าทางตลาด เช่น แหวนแต่งงานอาจมีคุณค่าแก่ผู้เป็นเจ้าสาวมากกว่าราคาที่ขายในร้านเพชร หรือรูปวาด/งานฝีมือที่ลูกๆ พยายามทำให้พ่อแม่ อาจจะมีเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ (สำหรับพ่อแม่)

ในส่วนตัว ผมคิดว่า เราสามารถช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการให้ของขวัญนี้ได้ในหลายกรณี (เริ่มจากที่ไม่เห็นด้วย ไปจนถึงเห็นด้วย) ดังนี้

1. การให้ของขวัญที่ตัวเองได้รับจากคนหนึ่ง (ที่ตัวเองไม่ต้องการ) ไปให้อีกคนหนึ่ง (Re-gift) ซึ่งผู้ให้จะไม่ต้องเสียต้นทุนใดๆ ในการหาของขวัญ (โดยส่วนตัว ถึงแม้ว่าการ re-gift จะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจก็ตาม แต่ตัวผมเองไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะเป็นการแสดงถึงความมักง่ายของผู้ให้)

2. การให้ของขวัญที่เป็น “เช็คของขวัญ” หรือ “เงินสด” ที่ผู้รับจะสามารถนำไปแลกซื้อสินค้าที่แต่ละคนต้องการ (โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้เช่นเดียวกัน เพราะแสดงถึงความละเอียดอ่อนของผู้ให้)

3. การให้ของขวัญที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี เพื่อเป็นการสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้รับและจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของของขวัญชิ้นนั้นๆ ได้อีกทางหนึ่ง (ผมสังเกตเห็นหลายคนชอบให้ของขวัญซ้ำๆ กันทุกปี) (โดยส่วนตัว ผมคิดว่า การให้ของขวัญซ้ำๆ กันทุกปีอาจเป็นผลดีต่อผู้รับก็ได้ถ้าของขวัญชิ้นนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้รับ ในขณะที่ผู้ให้อาจมีช่องทางในการหาของขวัญชิ้นนั้นได้ในราคาถูก เช่น ตัวผมเองจะมีญาติที่เป็นหมอฟันที่มักจะให้แปรงสีฟันเป็นของขวัญปีใหม่ทุกๆ ปี ซึ่งเป็นของขวัญถูกใจครอบครัวของเราเป็นอย่างมาก)

4. การเลือกของขวัญที่ราคาไม่แพงนัก (เช่นการให้การ์ด ของขวัญที่ทำเอง หรือคำอวยพรแต่แสดงถึงความปรารถนาดีของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับ) แทนที่ของขวัญที่มีราคาแพง ซึ่งจะช่วยทำให้ความแตกต่างของราคาและมูลค่าระหว่างผู้รับและผู้ให้ (และความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการให้) ลดลง (ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้)

อย่างไรก็ดี การให้ของขวัญที่ “สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด” จริงๆ แล้วก็คือ “การให้ของขวัญแก่ตัวเอง” เพราะเป็นการให้ที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างราคาของผู้ให้และมูลค่าของผู้รับ (เพราะผู้ให้และผู้รับคือคนคนเดียวกัน) ดังนั้น ในเทศกาลปีใหม่นี้ นอกจากจะให้ของขวัญคนอื่นแล้ว “ท่านให้ของขวัญแก่ตัวเองหรือยังครับ” เพื่อเป็นการขอบคุณตัวเองที่ขยันและตั้งใจทำงาน (เรียน) อย่างหนักมาตลอดทั้งปี สวัสดีปีใหม่ครับ

ที่มา: Waldfogel, Joel (1993) “The Deadweight Loss of Christmas”, American Economic Review, 83(5): 1328-1336

Adblock test (Why?)


ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก “การให้ของขวัญปีใหม่” - โพสต์ทูเดย์
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...