ในตอนที่หนึ่งของบทความซีรี่ส์ “Web3 กับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม” ผมได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า Web3 มีอะไรมากกว่าแค่เรื่องพฤติกรรมการเก็งกำไรในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่
ผมยังได้เสนอแนวทางในการเข้าใจถึงศักยภาพของมันจาก 3 มิติด้วยกัน ได้แก่ Ecosystem Consumption, Power & Ideology, และ Collective Decisioning บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงมิติที่สอง “Power & Ideology” ที่มีความสำคัญไม่แพ้โอกาสทางเศรษฐกิจผ่าน 2 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นแรก คือโอกาสในการหลุดพ้นจากโครงสร้างอำนาจเก่า ไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน (สถาบันการเงิน-ผู้ฝาก/ผู้ขอสินเชื่อ) การเมือง (ภาครัฐ-ประชาชน) โซเชียลมีเดีย (แพลตฟอร์ม-ผู้ใช้) หรือในตลาดแรงงาน (ลูกจ้าง-นายจ้าง)
ระบบทุนนิยมที่บิดเบี้ยวในหลายสังคมก่อให้เกิดการกระจุกตัวของผลประโยชน์ในกลุ่มมนุษย์เศรษฐกิจผู้ที่ผลิตภาพอาจไม่เท่ากับผลประโยชน์ที่เขาได้รับ แต่กลับได้รับมาเนื่องด้วยสถานะที่ได้เปรียบ ภายใต้ระบบที่ไม่เปิดและไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดพอ
ด้วยโครงสร้างที่เปิดเผยและรวดเร็ว Web3 พยายามจะเสนออีกหนึ่งทางเลือกในการถ่ายโอนคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ถ้าคุณผลิตได้ 100 แล้วมีผู้เห็นคุณค่าในฝีมือคุณ คุณก็ควรจะได้รับ 100 ไม่ใช่ได้รับเศษเงิน หรือรับเพียง 80 เนื่องจากต้องแบ่งบางส่วนไปให้กับผู้เล่นที่อยู่ได้ด้วยอำนาจตลาดหรือหากินกับความไร้ประสิทธิภาพของกลไกตลาด
รูปแบบการคืนอำนาจที่จะเกิดขึ้นเร็วที่สุดคือการคืนอำนาจให้กับ “นักครีเอท” เช่น นักดนตรี จิตกร หรือ นักออกแบบ ผู้เป็นต้นตอของคุณค่าในสินค้ารอบ ๆ ตัวเรา แต่กลับมักไม่ได้รับผลประโยชน์เท่ากับผลิตภาพของเขา
Web3 เสนอช่องทางที่จะทำให้นักครีเอทเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนจากการที่พวกเขาทำตัวเป็นนวัตกรคนแรก ไม่เพียงแค่การขายครั้งแรกเท่านั้น พวกเขายังมีทางเลือกที่จะได้รับค่าตอบแทนไปตลอดกาล ตราบใดที่ผลงานของเขายังมีคุณค่าในตลาดรอง
แต่ด้วยความเร็วและภาวะไร้องค์กรกำกับดูแลของ Web3 ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาทุกรูปแบบที่ตำราเศรษฐศาสตร์สาธารณะเคยพูดถึงไว้ เช่น ความล้มเหลวของตลาดและพฤติกรรมที่นำไปสู่ผลกระทบทางนอก
ในระบบนิเวศขนาดใหญ่อย่าง Ethereum และ Solana มีการระดมทุนเล็กใหญ่รายชั่วโมง บางโครงการมีแผนการและทีมงานดีเลิศ แต่ส่วนมากจะเป็นการหลอกลวงหลายรูปแบบ ตั้งแต่การต้มตุ๋นแบบไฟแรงที่เผาเม่าในเสี้ยววินาที แบบไฟอ่อน ๆ ที่ค่อย ๆ เคี่ยวเม่าจนเปื่อยในระดับอาทิตย์ แบบไฟมายาหุ่นยนต์ที่ใช้บอทหลอก exchange ให้แบนผู้ที่ทำดีแล้วเยินยอโจร รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่น่าให้อภัยอย่างการเหยียดชาติพันธุ์
Tradeoff นี้นำเราไปสู่ประเด็นที่สองว่าบทบาทและอำนาจขององค์กรกำกับดูแลควรจะอยู่ที่ใด ผมอยากให้มอง Web3 เป็นห้องทดลองเพื่อ “test drive” แนวทางใหม่ในการกำกับดูแลระบบตลาดที่ต้องการลดทอนอำนาจของรัฐและองค์กรกำกับดูแล
ความต้องการลดทอนอำนาจนี้มีสองสาเหตุ หนึ่ง คืออุดมการณ์ความคิดของผู้ถูกเอาเปรียบและผู้ถูกปิดกั้นในสังคมโลกจริง สอง คือการตระหนักถึงความเป็นไปไม่ได้ที่ระบบกระจายศูนย์จะถูกกำกับได้อย่างมีสมดุลดีเยี่ยมจากส่วนกลาง
ระบบตลาดที่ดีต้องมีการแทรกแซงอย่างถูกที่ถูกเวลา แม้แต่ผู้บุกเบิก Web3 ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านการถูกควบคุมก็จะเพรียกหาการแทรกแซงโดยมือที่สามเพื่อบรรเทาหลายปัญหาดังกล่าว แต่สำคัญคือเราต้องไม่สับสนว่าพวกเขาต้องการ “การกำกับดูแล” หรือ “องค์กรกำกับดูแล”
ระหว่างรอการตกผลึกขององค์กรกำกับดูแลบนโลกจริง Web3 กำลังพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้เองผ่าน 4 ช่องทาง
หนึ่ง คือ อาศัยความเปิดของระบบเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น จากระดับประเทศเป็นระดับโลก จากระดับวันเป็นระดับชั่วโมง เช่น การแข่งขันระหว่างตัวกลางแบบ market place ที่จะต้องค้นหาวิธีคัดเลือกโครงการที่จะลิสต์และต่อกรกับกองทัพบอท โจร และสินค้าขยะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคจนไปสู่ mass adoption
สอง คือ การ privatize หน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบไปยังกลุ่มโปรแกรมเมอร์ แฮกเกอร์หมวกขาวที่เปิดเผยการทำงานของตนอย่างหมดเปลือกกว่าบริษัท audit ใด ๆ ในโลกจริง
สาม คือ การสร้างโครงสร้างอำนาจ “ภาครัฐ” ขึ้นมาใหม่เองในแต่ละ DAO เพื่อร่างกฎหมายและมาตรการเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมที่ดีต่อระบบ และลงโทษพฤติกรรมที่แย่ต่อระบบ เช่น การออกแบบโทเคนอมิกส์เพื่อลดแรงจูงใจในการโกง หรือ การเก็บภาษีแบบ “paperhand bitch tax” เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแห่กันตัดราคาขาย
ช่องทางสุดท้าย คือ การสร้างบรรทัดฐานสังคมชุดใหม่เพื่อผลักดันพฤติกรรมที่ดีต่อส่วนรวมโดยไม่ต้องใช้ไม้เรียวทางการเงิน เช่น สร้าง code of conduct ในแต่ละ DAO เพื่อทำการ “ขู่” ก่อนจะไปถึงการลงโทษ หรือ สร้างเคอเรนซี่ทางสังคมอย่าง “glory” เยินยอการกระทำที่ดีต่อสังคมอย่างที่เราเห็นในสังคมมนุษย์จากอดีตกาล
ไม่มีใครทราบว่า Web3 จะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาอำนาจเก่า ๆ ด้วยอุดมการณ์และวิธีใหม่ ๆ ได้หรือไม่ แต่อย่างที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ เราไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างได้ หากเรายังทำสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อยู่เรื่อยไป
ในตอนถัดไป เราจะวิเคราะห์อีกหนึ่งมิติสำคัญของโลก Web3 นั่นก็คือ Collective Decisioning ระเบียบใหม่ของการตัดสินใจร่วมกันในระดับชมรม ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งระดับประเทศ.
คอลัมน์คิดอนาคต
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation
Web3 กับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม (ตอน 2) | ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment