Rechercher dans ce blog

Saturday, February 12, 2022

'คลำทางในโลกฆราวาส' ถอดรหัสปรากฏการณ์ 2 ทิดสึกใหม่หัวใจว้าวุ่น - มติชน

ต๊าชไม่แผ่วตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้วจนถึงวันนี้

สำหรับกรณี อดีต 2 พส. ผู้ก้าวออกจากโลกของบรรพชิตสู่จักรวาลแห่งความจริงที่เรียกว่า ‘โลกฆราวาส’

ถอดจีวร สบง สังฆาฏิ เปลี่ยนคำนำหน้าจาก ‘พระมหา’ สู่ ‘นาย’ เป็นประชาชนชายไทยโดยสมบูรณ์ พร้อมสรรพนาม ‘ทิด’ ที่เน้นย้ำเส้นทางชีวิตของการ ‘เคยบวชเรียน’

ไพรวัลย์ วรรณบุตร และ สมปอง นครไธสง ผลัดกันตกอยู่ในแสงสปอตไลต์ กลาย ‘สภาพพพพ’ จาก ‘ภิกษุเซเลบ’ สู่ ‘คนดัง’ ที่สังคมจับจ้องและพร้อมวิพากษ์ในอีกสถานะ

โดยเฉพาะประเด็นร้อน ‘แม่ปอง’ หรือ ‘ทิดสมปอง’ ที่เคยเปิดอกว่าปลื้มดาราสาว บุ๋ม ปนัดดา ตั้งแต่ยังอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ตามมาด้วยประเด็นอื่นๆ ที่บานปลายออกไปทุกขณะ นับแต่ ‘ติ๋ม ทีวีพูล’ ตั้งโต๊ะแถลงปมขัดแย้งพร้อมลูกชาย นำไปสู่การตรวจสอบยกใหญ่โดยภาครัฐในปมครองที่ดิน ส.ป.ก. นับร้อยไร่ในจังหวัดชัยภูมิว่าจริงเท็จประการใด

ยังไม่นับกรณีกลุ่มคนบันเทิงที่ผนึกนักร้องนาม ศรีสุวรรณ จรรยา ประกาศเดินหน้าร้องเรียนโดยอ้างว่าถูก ‘หักหลัง’ จากทิดสมปองด้วยการลบไลฟ์สดการจำหน่ายกล่องสุ่มเพื่อนำรายได้ถวายวัดประสิทธิเวช คลอง 15 ปทุมธานี

ย้อนไปก่อนหน้านี้ การตอบโต้ชาวเน็ตอย่างดุเดือด การเดินออกจากรายการนินทาประเทศไทย การดูเหมือน ‘ไม่ฟังใคร’ การขยันโพสต์ภาพร่วมเฟรม ‘มินยง’ หนุ่มเกาหลีหน้าใส ของ ทิดไพรวัลย์ นำมาซึ่งคำถามมากมายพร้อมด้วยวาทะยั่วล้อเทียบเคียงซีรีส์ที่ลงท้ายในท่วงทำนอง ‘หัวใจว้าวุ่น’ จากการปรับเปลี่ยนโลกใบใหม่กะทันหัน

นับเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่ถาโถมชวนให้หัวใจว้าวุ่นท่ามกลางกระแสสังคมที่ส่วนหนึ่งรับว่า ‘ผิดหวัง’ กับ 2 อดีต พส. สอดคล้องกับยอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียที่ลดฮวบอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.ประกีรติ สัตสุต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่ต้องถอดรหัสแบบละวางดราม่า เน้นสาระเชิงวิชาการแบบเนื้อๆ

ดร.ประกีรติ สัตสุต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความสนใจด้านศาสนาและพุทธเถรวาท อธิบายอย่างละเอียดลออ เจาะลึก ชี้ชวนให้ขบคิดถึงก้นบึ้งของปมร้อนที่อุบาสก อุบาสิกา และชาวโซเชียลกำลังจับตา

สึกพร้อม ‘ยอดไลค์’ สู่สมรภูมิ ‘ชิงกำไร’ จากทุนวัฒนธรรม

‘สึกผิดฤกษ์’ คือคำกล่าวทีเล่นทีจริงอิงฤกษ์ยามของผู้ติดตามความเป็นไปของอดีต 2 พส. ต่อท่าทีและพฤติกรรมนับแต่เป็นทิด ทว่า ในอีกข้อเท็จจริงคือทั้งคู่ต่างลาสิกขาพร้อม ‘ยอดไลค์’ อันนำมาซึ่งคำอธิบายน่าสนใจในสารพันวิวาทะ และหลากปัญหายุ่งเหยิงนี้

“ผมไม่ทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ควรต้องถูกมองว่าเป็นปัญหาของปัจเจกหรือปัญหาในภาพรวม เพราะกรณีของคุณไพรวัลย์ หรือคุณสมปองนั้นเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นพระที่สึกมาพร้อมชื่อเสียง ยอดไลค์ ยอดผู้ชม มีฐานแฟนคลับเป็นจำนวนมาก มีความน่าเชื่อถือ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ถ้าจะมองในบริบทของทฤษฎีสังคม ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือนับเป็นทุนรูปแบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าทุนเชิงสัญลักษณ์ (symbolic capital) ซึ่งเป็นคุณค่าทางสังคมที่มีผลต่อการรับรู้และความรู้สึกของสาธารณะต่อบุคคลดังกล่าว และเป็นความได้เปรียบที่สามารถถูกนำมาใช้ได้หลังการลาสิกขาของทั้งคุณไพรวัลย์และคุณสมปอง

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายมองเห็นว่าเป็นลักษณะพิเศษที่แยกทิดทั้งสองออกจากกลุ่มคนที่เคยบวชเรียนมาจะได้แก่ ความรู้ในคำสอนและการตีความคัมภีร์ รวมถึงทักษะการพูดในที่สาธารณะและเสน่ห์การชี้ชวนให้คนฟัง ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรม หรือสินทรัพย์ทางสังคมที่ไม่ได้ปรากฏมาในรูปของตัวเงิน ตัวอย่างเช่น การศึกษา รสนิยม มารยาท หรือประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้และได้มาจากการเป็นสมาชิกของชนชั้นทางสังคมชนชั้นหนึ่ง

ทั้งยังมีนัยต่อการเลื่อนขั้นทางสังคมด้วย โดยทุนทางวัฒนธรรมและทุนรูปแบบอื่นๆ สามารถถูกแปลงสภาพไปเป็นทุนเชิงสัญลักษณ์หรือความน่าเชื่อถือได้ แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งสองทิดแตกต่างไปจากกรณีอื่นจะเป็นความหวังที่มีต่อทุนทางวัฒนธรรมของพวกเขา ซึ่งในสายตาของคนจำนวนมาก เป็นคุณสมบัติที่มีคุณค่าเพราะสามารถนำไปแปรสภาพเป็นทุนทางเศรษฐกิจได้”

อดีตมหาไพรวัลย์ เป็น ‘นายไพรวัลย์’ ตามบัตรประชาชน ภาพถ่าย ณ ที่ว่าการอำเภอท่าใหม่ จันทบุรี (ภาพจากเพจไพรวัลย์ วรรณบุตร)

คำอธิบายขนาดยาวแบบจุใจในความเข้มข้นจาก ดร.ประกีรติ ฉายให้เห็นภาพรวมของจุดตั้งต้น ก่อนโฟกัสที่จุดเหมือนและต่างระหว่างพระสึกใหม่ทั่วไปกับ 2 ทิดที่มียอดผู้ติดตาม ‘หลักล้าน’ ตั้งแต่อยู่ในผ้าเหลือง

“กรณีของทั้งสองจะไม่เหมือนกรณีของพระเณรรูปอื่นที่ลาสิกขามา เนื่องด้วยพวกเขามาพร้อมกับการได้รับความยอมรับ เครือข่ายทางสังคมที่มีกับสื่อ ดารา กลุ่มธุรกิจ และผู้มีอำนาจในสังคม แต่ส่วนที่เหมือนกันจะได้แก่ความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานะและระเบียบของโลกฆราวาส ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเณรที่บวชเรียนหรืออยู่ในคณะสงฆ์มานานมากต้องเผชิญทุกคนเมื่อก้าวออกมาสู่พื้นที่ทางสังคมที่แตกต่างจากที่ตนคุ้นเคย”

เป็นความเห็นที่ต้อง ‘ขีดเส้นใต้’ ไว้ให้เด่นชัด เพราะนี่คือสิ่งที่จะนำไปสู่คำตอบในปมยุ่งเหยิงที่ดำเนินอยู่

“ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งในตอนนี้เป็นเรื่องความพยายามที่จะต่อสู้แย่งชิงการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทุนทางวัฒนธรรมและทุนเชิงสัญลักษณ์ของทั้งสองทิด เพื่อแปลงเป็นทุนทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นจากตัวทิดเองที่ต้องการผูกขาดทุนของตนเองไว้ หรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นที่ต้องการจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากทุนเหล่านี้ ถ้าทุนในมิติทางสังคมวัฒนธรรมถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นเม็ดเงินได้ ความเป็นที่รู้จัก การมีอยู่ของช่องทางในการสื่อสารกับสาธารณะที่มีผู้ติดตามอยู่เยอะมาก และลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง ต่างเป็นเงื่อนไขทางการตลาดที่สามารถนำไปสู่ผลกำไรจำนวนมากได้เช่นกัน

กรณีของคุณสมปองเป็นตัวอย่างที่ดี เราจะเห็นได้ว่ามีการเชื่อมโยงชื่อและภาพพระมหาสมปองเข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจก่อนหน้าที่จะลาสิกขาแล้ว โดยพระมหาสมปองได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องการทำธุรกิจ ต้องการหาเงิน และได้มีการตั้งโลโก้แม่ปองตอนยังบวชอยู่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้แล้วว่า ชื่อเสียงและคุณลักษณะพิเศษของตนเป็นพื้นฐานสำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง”

อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ รั้วธรรมศาสตร์ค่อยๆ ถอดรหัสทีละเปลาะ ก่อนเจาะกระบวนการเปลี่ยนทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นผลกำไรว่ามีตัวแปรหลายประการ เพราะคำถามเช่น ‘จะเปลี่ยนอย่างไร’ และ ‘ใครเป็นผู้เปลี่ยน’ ต่างขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมและกลุ่มผู้เข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับทิดทั้งสอง

“จะเห็นได้ว่าทั้งสองคนพยายามใช้วิธีการสะสมทุนแบบใหม่ หรือการใช้ยอดผู้ติดตามและยอดไลค์เป็นพื้นฐานสำหรับการทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเช่นการรีวิวสินค้า เป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่พวกเขาไม่ใช่ตัวละครหลักแต่เพียงหนึ่งเดียวในกระบวนการ ยังมีกลุ่มธุรกิจและกลุ่มคนรอบตัวมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งกรณีของคุณไพรวัลย์และคุณสมปอง ทั้งสองต่างมีการไปช่วยไลฟ์ขายของหรือโปรโมตสินค้า แล้วคิดค่าตอบแทนเป็นรายครั้งไป มีการเซ็นสัญญาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า

และแม้ในส่วนของคุณสมปองดูจะมีแนวทางที่อ้างอิงกับแวดวงบันเทิงมากกว่า เช่น มีการเซ็นสัญญากับบริษัทในแวดวงบันเทิงเพื่อให้มาช่วยดูแลงานด้านละครและรายการโทรทัศน์ แต่ทั้งสองคนมีผู้จัดการส่วนตัว มีทีมงานที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งคนที่เข้ามาสัมพันธ์กับทิดทั้งสองต่างมาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างและเงินเดือนสำหรับทีมงาน หรือส่วนแบ่งผลกำไรสำหรับผู้ให้ทุนหรือเจ้าของสัญญา

ความสัมพันธ์เช่นนี้แตกต่างจากตอนที่ทั้งสองยังเป็นพระ เพราะผู้คนที่เข้ามาหายังพอมีความศรัทธาต่อสถานะความเป็นนักบวช แต่สถานการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ โดยแต่ละฝ่ายก็ต้องการที่จะเข้ามาต่อสู้แย่งชิงโอกาสในการเข้าถึงทุนทางวัฒนธรรมและทุนเชิงสัญลักษณ์ของทิด

ปัญหาคือการตัดสินว่าตกลงแล้วใครจะเป็นผู้สามารถใช้ประโยชน์ทุนเหล่านี้และผลประโยชน์จะถูกจัดสรรอย่างไร เพราะถ้าให้ทิดทำเองทุกอย่างทั้งหมด คงจะไม่สามารถทำมาหากินด้วยตนเองได้ทั้งหมด แต่ถ้าจะให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกไปที่มือของผู้กุมสัญญา ทิดเองคงไม่ยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะในช่วงที่ตนเองยังมีความนิยมอยู่อย่างมากเช่นช่วงนี้”

โลกฆราวาส โลกของพระ ระบบคุณค่าที่แตกต่าง

เมื่อให้ช่วยถอดบทเรียนปัญหาความขัดแย้งที่ทั้งสองทิดกำลังเผชิญอยู่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพระเณรที่กำลังจะลาสิกขา ดร.ประกีรติบอกว่า หนึ่งในนั้นคงเป็นเรื่องท่าทีและความคาดหวังต่อโลกฆราวาสหลังการลาสิกขา เพราะโลกฆราวาสตั้งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางสังคมที่แตกต่างจากโลกของพระ แม้จะมีบางลักษณะที่เหมือนกัน แต่ระบบคุณค่าและระเบียบไม่เหมือนกัน ในขณะที่การจัดองค์กรทางสังคมของคณะสงฆ์ไทยจะมีโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเป็นลำดับขั้นตามกฎหมายคณะสงฆ์ที่ให้อำนาจเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ส่วนกลางในฐานะตัวแทนของรัฐในการกำกับดูแลพระเณร แต่ระบบอุปถัมภ์ยังเป็นรูปแบบความสัมพันธ์สำคัญในคณะสงฆ์ เพราะพระผู้ใหญ่และผู้น้อยต่างยังต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในหลายเรื่อง ซึ่งโลกฆราวาสจะเน้นความเป็นปัจเจกกว่า ทิดจะไม่ได้มีบารมีหรือสถานะเหมือนตอนที่เป็นพระ ต้องยอมรับว่าข้อได้เปรียบตรงนี้จะหายไป
“แม้จะมีชื่อเสียงและการยอมรับมาก่อน แต่การออกมาสู่โลกฆราวาสคงได้ชี้ให้พวกเค้าเห็นแล้วว่าโลกภายนอกนั้นคนไม่ได้ปฏิบัติกับเราเหมือนตอนที่เป็นพระ คนไม่ได้ศรัทธาเราแบบเดิมแล้ว สิ่งที่ต้องสังเกตต่อก็คือ แม้ความสนใจของสาธารณะต่อเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่าคนยังคงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา พระสงฆ์ และคำสอนของศาสนาอยู่ แต่การต่อสู้เพื่อเข้าไปทำการควบคุมโอกาสในการสร้างเม็ดเงินมีผลต่อการบั่นทอนศรัทธาในภาพกว้าง รวมถึงภาพลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรมของทิดอย่างแน่นอน”

จากจุดพีค สู่ขาลง (?) ของ ‘(อดีต) เนื้อนาบุญ’

แนะ ‘ให้เวลาเป็นเครื่องตัดสิน’

ท่ามกลางกระแสข่าวและพลังคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ที่แตกต่างหลากหลาย ไหนจะการ ‘แฉ’ แบบรายวัน รายชั่วโมง ภาคเช้า-บ่าย ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อความนิยมของทั้ง 2 ทิด อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ดร.ประกีรติแนะว่า สำหรับผู้สังเกตการณ์ภายนอก ควรต้องมองให้เห็นมิติของการต่อสู้แย่งชิงในปรากฏการณ์นี้ด้วย เพราะข้อกล่าวหาโจมตีทิดทั้งสองเป็นการนำเสนอโดยคู่ค้าของทิด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องอย่างชัดเจน จึงไม่ควรที่จะเร่งตัดสิน ส่วนพฤติกรรมของบุคคลในข่าว เวลาจะเป็นสิ่งที่ตัดสินเขาเองว่า เขาเป็นอย่างที่เราเคยคาดหวังเค้าไว้หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วเขาแตกต่างไปจากที่เราคิด

อาจารย์ธรรมศาสตร์วิเคราะห์ต่อไปว่า หลังจากลาสิกขา ก้าวสู่โลกปุถุชนอันเปรียบเหมือนสนามแห่งใหม่ แม้จะเข้าสู่ความเป็นฆราวาสพร้อมกับทุนทางวัฒนธรรม เครือข่ายทางสังคม และทุนทางเศรษฐกิจที่ได้สะสมมาเมื่อครั้งยังเป็นพระ แต่สนามทางสังคมแห่งใหม่นี้มีระเบียบภายในที่ไม่อนุญาตให้สามารถนำทุนทางวัฒนธรรมจากเมื่อตอนเป็นพระมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นแต่ก่อน ดังนั้น จึงต้องปรับตัวและหันมาทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ของโลกฆราวาส เพื่อสร้างทุนทางวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของฆราวาส

“ถึงแม้ตอนนี้คุณไพรวัลย์จะมีสถานะใหม่และเข้ามาสู่พื้นที่ทางสังคมใหม่ แต่ผู้คนยังคงติดอยู่กับสถานะแบบเดิมในฐานะพระสงฆ์ ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นคือความไม่ลงรอยระหว่างภาพจำและสถานะปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะเป็นสภาะการรับรู้ที่ไม่ลงรอยกัน (cognitive dissonance) ความไม่สอดคล้องระหว่างพฤติกรรมและความคาดหวังของคนจำนวนมากที่ยังยึดติดอยู่กับสถานะความเป็นนักบวชทำให้คนเริ่มหาคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจช่องว่างระหว่างความไม่ลงรอยในการรับรู้ เช่น คุณไพรวัลย์เสแสร้งทำสำรวมตอนเป็นพระ หรือคุณไพรวัลย์กำลังหลงคำชื่นชมเยินยอของกลุ่มแฟนคลับ เป็นต้น ซึ่งคำอธิบายเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องดูต่อไป

แต่สิ่งที่แน่นอนคือ ความคาดหวังของสาธารณะมีผลในการบั่นทอนทุนทางวัฒนธรรมที่ผ่านมา ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงทุนทางสังคม หรือเครือข่ายทางสังคม และทุนทางเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่เปลี่ยนสถานะทางสังคม โดยการปรับตัวให้เข้ากับสนามทางสังคมใหม่จะเป็นสิ่งกำหนดการอยู่รอดในฐานะบุคคลที่มีอิทธิพลต่อสาธารณะ เพราะบารมีที่ได้มาจากสถานะและทักษะทางสังคมวัฒนธรรมในฐานะพระรุ่นใหม่ มีความคิดก้าวหน้า กล้าวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคม มีความรู้ทั้งทางโลกและธรรม เป็นสิ่งที่จะถูกกลืนหายไปจากการเปลี่ยนสถานะ” ดร.ประกีรติไขปม

สถานะเปลี่ยน คนคาดหวังไม่เปลี่ยน

ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้าง กลายเป็น ‘ข้อจำกัด’

ปิดท้ายด้วยประเด็นความคาดหวังของสังคมที่มีต่ออดีตพระทั้ง 2 รูป ซึ่งกล่าวกันว่ากลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของดราม่าและวิวาทะต่างๆ แทบไม่เว้นแต่ละวัน

ดร.ประกีรติอธิบายโดยยกตัวอย่างกรณีทิดไพรวัลย์ว่า ภาพลักษณ์ในตอนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานการรับรู้ว่าพระมหาไพรวัลย์เป็นพระที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นหนึ่งในชนชั้นนำรุ่นใหม่ของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างทุนทางสังคมและนำไปสู่ทุนทางเศรษฐกิจ แต่บรรยากาศทางสังคมก็เป็นตัวแปรสำคัญด้วยเช่นกัน คนในสังคมตอนนั้นอยากเห็นพระสงฆ์ที่ออกมาสอนธรรมะและพูดประเด็นทางสังคมได้ เพราะคนจำนวนมากรู้สึกว่าคณะสงฆ์เป็นตัวแทนของฝ่ายอำนาจ จึงอยากเห็นพระเณรที่กล้าแสดงออกและพูดถึงปัญหาตามทรรศนะของตนจริงๆ ซึ่งการบรรจบกันของกระแสสังคมและคุณลักษณะเฉพาะเป็นสิ่งที่ทำให้พระมหาไพรวัลย์ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงขึ้นมา

“อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ความเป็นพระมหาไพรวัลย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาก็เป็นข้อจำกัดของคุณไพรวัลย์เองเมื่อหลังสึก เพราะการสึกคือการเปลี่ยนสถานะเป็นฆราวาส เราต้องยอมรับว่าในสังคมไทยสถานะทางสังคมของพระสงฆ์นั้นเป็นสถานะพิเศษซึ่งมองว่าไม่เท่ากับฆราวาสแน่นอน

เมื่อเปลี่ยนสถานะ แต่คนไม่ได้เปลี่ยนความคาดหวัง ผู้คนจึงยังยึดติดอยู่ว่า คุณไพรวัลย์น่าจะปฏิบัติตัวตามกรอบที่เคยทำมา การเป็นพระมาก่อนน่าจะช่วยให้คุณไพรวัลย์นำประสบการณ์ ความรู้ แนวทางการประพฤติตนในตอนเป็นพระมาใช้ตอนนี้ด้วย ซึ่งมันไม่เหมือนกัน เพราะตอนนี้ประเด็นการนำเสนอของคุณไพรวัลย์เป็นไปในทิศทางการนำเสนอตัวตนในฐานะฆราวาส ความเป็นปัจเจกบุคคลของเขาเอง ซึ่งเป็นแนวทางการแสดงออกที่แตกต่างไปจากกรอบพฤติกรรมของพระสงฆ์” ดร.ประกีรติอธิบายก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า

“คุณไพรวัลย์กำลังคลำทางในโลกฆราวาสอยู่ ซึ่งเป็นโลกที่เขายังไม่มีความรู้และความเข้าใจเหมือนโลกใบเก่าที่เขาคุ้นเคย เราจึงควรให้โอกาสเขาในการเรียนรู้โลกใบใหม่ ในขณะเดียวกัน คุณไพรวัลย์เองก็ต้องเรียนรู้คำวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน เพราะคนที่รักจะวิจารณ์ต่างเป็นผู้ติดตามคุณไพรวัลย์”

นี่คือปรากฏการณ์ที่ยังไม่มีตอนจบ อีกทั้งยังยิ่งสลับซับซ้อน กลายเป็นกรณีศึกษาของวงการสงฆ์และสังคมไทยในวันนี้

Adblock test (Why?)


'คลำทางในโลกฆราวาส' ถอดรหัสปรากฏการณ์ 2 ทิดสึกใหม่หัวใจว้าวุ่น - มติชน
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...