ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ ทั้งทิศทางการปรับดอกเบี้ยของโลกที่เป็นขาขึ้น ท่ามกลางสงครามรัสเซียยูเครนที่ยังไม่มีจุดจบ ส่งผลกระทบไปสู่ราคาพลังงานโลก สู่เงินเฟ้อให้ปรับขึ้นก้าวกระโดด อีกทั้งยังเรายังอยู่ภายใต้การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมากกว่าคาด
เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยท้าทายอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจไทย และเป็น “โจทย์หิน”สำหรับผู้ดำเนินนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ต้อง “ชั่งน้ำหนัก”ให้รอบคอบ ในการประชุมกนง.รอบที่ 2ของปี 2565 ในวันที่ 30 มี.ค.นี้
“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย คาดการณ์ว่า การประชุมกนง.รอบนี้อาจไม่ได้ “เซอร์ไพรส์”ตลาด เพราะตลาดคาดการณ์ว่ากนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%
จากเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า อีกทั้งการระบาดของโอมิครอนก็ยังมีความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย รัสเซียยูเครนก็ยังเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนต่อตลาดโลก ดังนั้นน่าจะเห็นกนง.ยังคงดอกเบี้ยต่อไป
แต่ที่นักลงทุนและตลาดจับตาคือ การส่งสัญญาณของ กนง.รอบนี้ เกี่ยวกับเงินเฟ้อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย และดอกเบี้ยโลกเริ่มห่างขึ้นเรื่อยๆเหล่านี้กนง.จะมีท้าทีอย่างไร
ดังนั้นมองว่า วันนี้ กนง.กำลังเผชิญกับ “ทางแยก” ที่ท้าทาย ที่หากเลือกอีกทาง ก็ต้องปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ผ่านการคุมดอกเบี้ยต่ำต่อไปเพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าโตช้าสุดในอาเซียน
และเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา ฟื้นตัวไปสู่ระดับเดียวกันกับก่อนโควิด-19ได้เป็นประเทศรั้งท้าย ดังนั้นหากตัดสินใจ “คงดอกเบี้ย” ก็ต้องปิดตาอีกข้าง เพราะเงินคงทะลุกรอบ ที่ธปท.คาดการณ์ไว้มาก
อีกทางแยก คือการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ การคุมเงินเฟ้อ จะทำได้บางส่วนเท่านั้น ขณะที่ผลที่ได้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทย จากแรงกดดันด้านการบริโภคและการลงทุน
ดังนั้นเหล่านี้ถือเป็น “โจทย์หิน” สำหรับผู้ดำเนินนโยบายการเงิน ว่าจะเลือกทางไหน ระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ กับการดูแลด้านเสถียรภาพด้านราคา
อย่างไรก็ตาม มองว่าการดำเนินนโยบายการเงิน โดยการขึ้นดอกเบี้ย ลงดอกเบี้ย เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับการดูแลเศรษฐกิจและจัดการผลกระทบต่างๆ ดังนั้นอาจต้องมีเครื่องมืออื่นๆเข้ามาช่วยด้วย
สำหรับการปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ มองว่ากนง. น่าจะปรับจีดีพีอยู่ในกรอบ 3% ต้น ซึ่งเป็นระดับที่สามารถยืนได้ เพราะยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวครึ่งปีหลังที่จะกลับมาได้ รวมถึงส่งออกที่เติบโตได้ดี เหล่านี้เป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับเศรษฐกิจไทย
“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดการณ์ว่า กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย และให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอันดับแรก
เพราะในทางกลับกัน หากกนง.ขึ้นดอกเบี้ย ก็ยังไม่ชัดเจนว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เงินเฟ้อหยุดขึ้นได้หรือไม่ เพราะปัญหาเงินเฟ้อที่ขึ้นแรง มาจากเงินเฟ้อที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จากราคาสินค้า และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น
เหล่านี้ไม่ได้มาจากดีมานด์เพิ่มขึ้นร้อนแรง หรือการจ้างงานเติบโตดีเหมือนสหรัฐ แต่ปัญหามาจากซัพพลายไซด์ ดังนั้นยังมองไม่เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างไร
ดังนั้นมองว่ากนง.น่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าจะเห็นภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น หากเงินเฟ้อไม่ขึ้นปลายปีก็อาจเห็นกนง.กลับมาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งได้
แต่ปัจจัยท้าทายที่ต้อง “จับตา” คือส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ย ที่เริ่ม “ถ่าง”ขึ้น ระหว่างดอกเบี้ยไทย และดอกเบี้ยสหรัฐ ที่ตลาดคาดว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปสู่ 2.2% ในปลายปี ดังนั้นเหล่านี้ อาจทำให้ตลาดเงินผันผวน และมีเงินไหลออก เงินบาทอ่อนค่าได้
รวมถึง กนง.ยังต้องเผชิญกับปัจจัยจากราคาน้ำมัน ที่นำเข้ามามากและแพงขึ้น เหล่านี้อาจทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวขึ้นมาก
“เราเชื่อว่ากนง.ยังคงดอกเบี้ย เพราะอีกด้านผู้กู้ที่พึ่งได้รับการช่วยเหลือ พึ่งออกจากมาตรการ แต่หากขึ้นดอกเบี้ยอีก ผู้กู้ก็อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ ในมุมนโยบายการเงินมองว่า อาจทนได้หากเงินบาทอ่อนค่ากว่านี้ แต่ก็ต้องช่างน้ำหนักว่า ข้อเสียของการนำเข้าแพงขึ้น การขาดดุลที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนต่อเศรษฐกิจไทย”
สำหรับการปรับจีดีพีรอบนี้ มองว่ากนง.น่าจะปรับจีดีพีมาอยู่ที่ระดับ 2.8-3.2% เหตุหลักๆมาจากการบริโภคเอกชน ที่คาดปรับลดเหลือ 2.7% ปีนี้จากคาดที่ 4% ภายใต้หนี้ครัวเรือนสูง ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การบริโภคชะลอและฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ปรับตัวลดลง
เช่นเดียวกับเงินเฟ้อ ที่มีโอกาสเห็นเกินระดับ 5% ได้ในปีนี้ หากราคาน้ำมันทรงตัวระดับสูงเหนือ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อเนื่อง
“จีดีพีปี 2563 ติดลบ 6.1% ปีถัดมา โต1.6% หากปีนี้3% ก็ยังไม่กลับมาฟื้น เช่นเดียวกับการบริโภค ที่ปีก่อนโต 0.3% ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.7% ซึ่งเรียกว่าเป็นระดับที่แย่ ยังไม่ได้โตดี ปีก่อนโต 0.3%หากปีนี้การบริโภคโตแค่ 2.7% เรียกว่าแย่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย”
“เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า กนง.จะคงดอกเบี้ย เหมือนที่เคยส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ เพราะต้องการประคับประคองเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยท้าทายสุดในการดำเนินนโยบายการเงินรอบนี้มองว่า จากการที่ดอกเบี้ยไทยและสหรัฐเริ่มห่างกันมากขึ้น แต่หากเรื่องดอกเบี้ยไม่ได้มีผลกระทบมาก ยังไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและเงินบาท กนง.ก็อาจยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย
ทางกลับกัน หากเงินเฟ้อยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เหล่านี้อาจสร้างแรงกดดันทางอ้อมสู่การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าได้
“เรามองว่ากนง.ยังยืนดอกเบี้ย หากไม่มีประเด็นที่กระทบต่อเสถียรภาพ แต่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปสู่ 2-2.25% ตามคาดการณ์ตลาด ถือระดับที่สูง หากเทียบกับไทยตอนนี้ที่ 0.50% ดังนั้นมองว่ากนง.คงจับตาใกล้ชิดในทุกรอบการประชุม ในแง่ผลกระทบว่าเป็นอย่างไร หากกระทบไม่มากก็เชื่อว่า กนง.อาจยืนดอกเบี้ยต่ำไปให้นานที่สุด”
การปรับคาดการณ์จีดีพี มองว่ากนง.น่าจะปรับลงมาไม่ต่ำกว่า 3% สอดคล้องสภาพัฒน์ที่ยังสูงเกิน 3% ภายใต้การทบทวน และพิจารณาข้อมูลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตามเหตุการณ์ต่างๆ แล้วค่อยปรับภาพใหม่อีกครั้ง
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย น่าจะอยู่ภายใต้กรอบ 2.5-2.9% ภายใต้เบทเคส และสถานการณ์เศรษฐกิจหากดีกว่าที่คาดไว้ เช่น สงครามมีทางออกและข้อตกลงร่วมกัน นำไปสู่การยุติการใช้กองกำลังทหารเป็นต้น
Adblock test (Why?)
นักเศรษฐศาสตร์ ชี้กนง.เจอโจทย์หิน ชี้ทางดอกเบี้ย ทามกลางเงินเฟ้อพุ่ง - กรุงเทพธุรกิจ
Read More